xs
xsm
sm
md
lg

เปิดที่มา พปชร.-ภท.-รปช.-ส.ว.พร้อมใจโหวตตั้ง กมธ.แก้ รธน. ปชป.ไม่หนุนแต่ส่งคนร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประชุมรัฐสภา (แฟ้มภาพ)
ตรวจสอบรายชื่อที่มาคะแนนโหวตญัตติตั้งกมธ.ยื้อเวลาร่าง รธน. พปชร.-ภท.-รปช.-ส.ว. กลมเกลียวโหวตหนุน ส่วน ปชป.ไม่เอาด้วยแต่ส่งคนร่วมสังฆกรรม “บิ๊กเเดง” นำทีมส.ว.เหล่าทัพไม่ได้ลงมติ

วันนี้ (25 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ถึงภาพรวมการลงคะเเนนโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 6 ญัตติ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในญัตติขอให้ตั้งคณะกมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 121 วรรค 3 โดยจากการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกที่ลงคะแนน พบว่า มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 717 คน แบ่งเป็นมีผู้เห็นด้วย 432 เสียง ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยเสียงเห็นชอบส่วนใหญ่คือ พรรคพลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กที่สมาชิกบางส่วนลงมติเห็นด้วย

ในส่วนของ ส.ส.ฝ่ายค้านมีที่น่าสนใจ อาทิ พรรคเพื่อไทย ลงมติไม่เห็นด้วยให้ตั้งกมธ.ทั้งหมด ยกเว้น นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี ด้านพรรคเสรีรวมไทย ลงมติไม่เห็นด้วยทั้งหมด พรรคประชาชาติ ลงมติไม่เห็นด้วย 5 คน ส่วนอีก 2 คน คือนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส และนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี ไม่ลงมติ/ลาประชุม/ขาดประชุม ขณะที่พรรคก้าวไกล ลงคะเเนนไม่เห็นด้วยทั้งหมดยกเว้น นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ งดออกเสียง และนายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ ไม่ลงมติ/ลาประชุม/ขาดประชุม ส่วนเพื่อชาติ 5 คน ไม่เห็นด้วย และพรรคพลังปวงชนไทย 1 คน ไม่เห็นด้วย

ขณะที่ในส่วน ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ทุกคนลงมติเห็นด้วยให้ตั้งกมธ.ยกเว้น นายมิ่งขวัญ เเสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ลงมติไม่เห็นด้วย แต่เป็นที่สังเกตวว่า พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีการประกาศกลางสภาว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรม แต่มีการลงมติเห็นด้วยและส่งส.ส.เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกมธ.ด้วย

ส่วนพรรคขนาดเล็กที่น่าสนใจ อาทิ พลังท้องถิ่นไทย 5 คน งดออกเสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 คน เห็นด้วย ชาติพัฒนา 4 คน งดออกเสียง ขณะที่ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่ลงคะเเนนเสียง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการลงมติ ส.ส.รัฐบาล มีที่น่าสนใจ อาทิ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลงมติเห็นด้วยทั้งพรรค ยกเว้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ไม่ลงมติ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ลงมติเห็นด้วยทั้งหมด ยกเว้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กับนายสวาป เผ่าประทาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ลงมติ ส่วน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติไม่เห็นด้วยเกือบทั้งหมด ยกเว้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ งดออกเสียง ส่วนนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร กับนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ที่ลงมติเห็นด้วย และพรรคยังส่งชื่อคนไปร่วมนั่งเป็นกมธ.ในชุดนี้ด้วย

สำหรับการลงคะเเนนของ ส.ว.250 คน ลงคะเเนนเห็นด้วยเกือบทั้งหมด ยกเว้น ส.ว.โดยตำแหน่งตามสัดส่วน ผบ.เหล่าทัพ 6 คนที่ไม่ได้ลงมติ นำโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ., พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา, พล.อ.อ.มานัด วงษ์วาทย์, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ, พล.อ.อ.มนัส รูปขจร, พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์, นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี, ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ส่วนส.ว.ที่ลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน คือ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายพลเดช ปิ่นประทีป และนายพิศาล มาณวพัฒน์ ส่วน ส.ว.ที่งดออกเสียง มี 6 คน อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายวันชัย สอนศิริ และนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น