xs
xsm
sm
md
lg

"อนุศักดิ์" ป้องที่มา ส.ว. ไม่ไช่เพื่อสืบทอดอำนาจ แต่เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ-ป้องกันคอร์รัปชันให้ปชช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุศักดิ์" ป้องที่มา ส.ว. ไม่ไช่เพื่อสืบทอดอำนาจ แต่เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ-ป้องกันคอร์รัปชันให้ปชช. เตือนคนรุ่นใหม่อย่าใช้เสรีภาพเกินขอบเขต อย่าทำลายระบบอาวุโสที่อบอุ่น “ถวิล “ยันไม่รับทั้ง 6 ร่าง ชี้ ส.ส.ร.ไร้ประโยชน์ ขัดเจตนารมณ์รธน. ปชช.ไม่ได้รำคาญใจ ควรแก้นิสัยคนใช้ รธน.มากกว่า

วันนี้ (24 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ถึงญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายส.ส.รัฐบาล กับส.ส.ฝ่ายค้านจำนวน 6 ญัตติในวันนี้ ยังคงมีบรรยากาศเคร่งเครียด โดยฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็ยังพยายามอภิปรายสนับสนุนและโน้มน้าวให้ฝ่ายส.ว.เห็นตามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ท่าทีของฝ่ายส.ว.ที่ผ่านการอภิปรายของสมาชิกก็ยังคงไม่เห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดิม

อาทิ นายอนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว. อภิรายว่าการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้บรรยากาศอาจทำให้ดูเหมือนมีหลายขั้ว แต่เป็นความงดงามบนความแตกต่าง ประเทศไทยผ่านการหมุนเวียนของกลุ่มที่มีอำนาจแต่ละขั้ว และการหมุนเวียนนี้ก็อยู่ภายใต้คำว่าแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แม้ไม่แน่ใจว่าประชาชนกลุ่มใด ของผู้แทนกลุ่มใด แต่เราก็มีประชาชนเป็นเป้าหมายเหมือนกัน ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชน ใครบอกว่าไม่ยึดโยง ก็จะบอกว่าไม่ยึดโยงกับคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ยึดโยงกับปวงชน ส.ว. ทำหน้าที่ติดตามเสนอแนะการปฏิรูปประเทศ เพราะกลไกบ้านเมืองบกพร่อง กฎหมายซ้ำซ้อน แต่คนกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจก็ถูกอีกกลุ่มหนึ่งวิจารณ์เสมอ และคนอีกกลุ่มก็จะรวยขึ้นผิดหูผิดตา อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ ทำให้ประเทศชาติมีความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสความเสมอภาคในสังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงสมดุลของภาครัฐ

ดังนั้นหน้าที่ของวุฒิสภาในการดำเนินการจึงเป็นการติดตามยุทธศาสตร์ชาติละแผนปฏิรูปประเทศ 12 ด้านซึ่งเป็นปัญหาของประชาชนทั้งนั้น และปัญหาบางอย่างแก้ด้วยการเมืองไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาในเชิงระบบ ควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ชุดนี้ อีก 3 ปีกว่า ส.ว. ชุดนี้ก็จะหมดวาระและ ก็จะมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเองของคนที่สมัครและตัวแทนองค์กร ดังนั้นจึงอย่าเข้าใจผิดว่า ส.ว. ชุดนี้เป็นการไปสืบทอดอำนาจให้ใคร แต่มาแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่ถ้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก้เท่าไรก็ไม่จบ เพราะยังมีปัญหาการคุกคามจากสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อีกทั้ง ส.ส. ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ ดังนั้นจึงเรียกว่า ส.ว. แก้ปัญหาเชิงระบบโดยยึดโยงกับประชาชน การยกเลิกอำนาจของ ส.ว. เท่ากับเป็นการไประงับการแก้ไขปัญหาของประชาชน

“อย่าแก้ไขปัญหาโดยการสร้างปัญหาหรือกล่าวหาคนอื่นว่าไม่ได้เห็นด้วยกับตนนั้นเป็นศัตรูทั้งหมด ในขณะที่จะมาขอคะแนนเสียง อย่าปลูกฝังความคิดเกลียดชังทำลายล้างระบบอาวุโส ซึ่งเป็นระบบที่มีความอบอุ่นของประเทศไทย ความหลากหลายทางสังคมยุคใหม่ที่ไม่สร้างสรรค์อย่านำเอามาใช้ สิทธิเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตที่เกินเหตุและขาดหลักเหตุผล การใช้สื่อยุคใหม่เพื่อทำลายล้างสร้างข่าวเท็จข่าวลือ ปลุกปั่นอารมณ์และเพิ่มความร้าวฉานให้กับประชาชนคนไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ลดทอนศักยภาพของประเทศเราโดยตรงเหมือนไก่ที่จิกกันเองแล้วทำให้ทุกคนแพ้หมดทั้งสิ้น สมาชิกรัฐสภาบางส่วนอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขบางมาตรา อยากเลือก ส.ว. ด้วยตนเองแต่เสียดายงบประมาณ ผมเองที่ไม่อยากให้พรรคการเมืองครอบงำ ผมจะโหวตให้แก้ไขได้ทุกๆ หลักการ แต่ต้องผ่านการรณรงค์สร้างความรู้ให้ประชาชนก่อน แต่วันนี้ผมยังไม่รับทั้งหมด”
นายถวิล เปลี่ยนสี ส.ว.ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่าจากที่ตนได้พิจารณาเรื่องนี้โดยเคร่งครัดตามม.114 ของรธน.60 ว่าจะพิจารณาด้วยเหตุผล ยึดประโยชน์ชาติเป็นหลักไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้องไม่อยู่ใต้อานัติ และไม่หวั่นไหวทั้งเสียงเชียร์และเสียงแช่ง แต่จะพิจารณาตามเหตุผลที่ควรจะเป็น แต่เมื่อพิจารณาแล้วจึงไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างทั้ง6 ฉบับ โดยเฉพาะแก้ม.246 ให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนร่างที่แก้ไขเป็นรายมาตราหลักการพอรับได้ แต่รายละเอียดที่แจ้งมาก็ยังทำใจให้รับไม่ได้

นายถวิลกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ตาม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ ไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะปัญหาความอดยากหิวโหย ปัญหาด้อยการศึกษา ปัญหาความเจ็บป่วย ยับยั้งโควิตก็ไม่ได้ เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนไม่ได้ จึงอย่าไปคาดหวังมากนักว่าจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เราเคยมีรธน.ที่ได้รับการยกยกว่าดีที่สุดมาแล้วในปี40 ที่สร้างขึ้นโดยสสร.เช่นกัน แต่ที่สุดก็ไปไม่ได้ ถูกย้ำยี อะไรไม่ห้ามในรธน.คนใช้ก็บิดเบือนทั้งหมดจนไปไม่เป็นมาแล้ว ตนคิดว่าหากมีรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีคนใช้ที่ดีด้วย ถ้ารัฐธรรมนูญดีแต่คนใช้ไม่มีจิตสำนึก ไม่ละอายเกรงกลัวบาปให้ดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ต้องเปลี่ยนจากแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นแก้นิสัยคนใช้รัฐธรรมนูญจะเหมาะกว่า

นายถวิล ยืนยันว่า แม้หลายฝ่ายจะยืนยันว่าแก้รัฐธรรมนูญนั้นยากเย็น แต่ตนว่าสามารถแก้ได้และง่าย อยู่ที่ประเด็นที่จะแก้ไขมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเพียงพอแก้ยากแค่ไหนก็แก้ได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลต่อให้แก้ง่ายแค่ไหนก็แก้ไม่ได้ การกำหนดให้ใช้เสียงสว .1ใน3 หรือ 84 เสียง อย่าว่าแต่84 เสียงเลย จะเอาทั้ง250 เสียงย่อมเป็นไปได้ถ้าประเด็นมีเหตุผล มีประโยชน์ต่อประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ประเด้นที่เราถูกกล่าวหาว่าเป็นผลประโยชน์ หรือข้อได้เปรียบของส.ว. ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ หรือภาษาวัยรุ่นว่าได้ทั้งหมดถ้าสดชื่น

นายถวิล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้แก้ไขได้เฉพาะแก้ไขเพิ่มเติม ในหมวด15 มาตรา 255 ,256 ไม่มีคำว่ารื้อ หรือร่างใหม่ การแก้ไขโดยตั้งสสร. ตนเกรงจะไม่สอดคล้องในเจตนารมในหมวดนี้ และยังอาจจะขัดแนววินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 55ที่ชี้ว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนไม่ใช่ของ 750 คนในนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการทำประชามติ16.8 ล้านคนแล้ว การจะรื้อให้มีสสร.เพื่อร่างขึ้นมาใหม่ต้องกลับไปถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โดยต้องทำประชามติถึง3 ครั้งด้วยกัน ใช้เงินสูงถึง1.6 หมื่นล้านบาท จึงไม่ควรเสียเวลาในช่วงที่มีประเทศมีปัญหามากมายมาเพื่อใช้เงินไปในการแก้รัฐธรรมนูญ และยังไม่สอดคล้องสถานการณ์ขณะนี้ที่มีความแตกแยกกันค่อนข้างมาก ตนจึงเห้นว่าการจะมีสสร.ขึ้นมาไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนจะเกิดประโยชน์กับใครบ้างตนไม่ทราบ และประชาชนไม่ได้ไม่เดือดร้อนรำคาญใจอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนใครเดือดร้อนทนไม่ได้ก็รองไปคิดเอาเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น