แกนนำ ปชป. ระบุเสียงส่วนใหญ่หนุนแก้ รธน.หลังพบข้อบกพร่องมากมาย ปล่อยไว้จะทำลายประเทศให้เสียหาย ชี้สมควรทุ่มงบเพื่อ กม.สูงสุดของบ้านเมือง ส่วน ส.ส.ร.น่าจะเป็นสายกลางสุดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
วันนี้ (23 ก.ย.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงจุดยืนในการสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ ว่า เท่าที่นั่งฟังการอภิปรายของสมาชิกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พอจับประเด็นได้ 2-3 ประเด็น คือ มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขมากน้อยเพียงใด ควรใช้วิธีการอย่างไร โดยมีการตั้งโจทย์เพิ่มในลักษณะตั้ง ส.ส.ร. และเรื่องงบประมาณที่หลายคนกังวลว่าต้องใช้ในการจัดทำประชามติจำนวนถึงหมื่นๆล้านบาท
นายบัญญัติ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมีมานานแล้ว ตั้งแต่มีรัฐบาลนี้ และยังกำหนดเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ว่า ต้องมีการวางหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ และหลังจากมีการตั้ง กมธ.ศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการการแก้ไข รธน.ก็ชัดเจนมากขึ้น และจากการสำรวจความเห็นก็ได้คำตอบหลายสำนัก ล้วนเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องแก้ไข แต่ที่ชัดเจนมากสุด ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาฯได้รายงานผลการศึกษาในสภา คือ อนุ กมธ.ประชาสัมพันธ์รับฟังความเห็นของประชาชน ที่ได้รับฟังความเห็นมาหลายกลุ่มที่ควรรับฟัง พบว่า ทุกกลุ่มต่างเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เกือบจะทุกหมวดด้วยซ้ำ ยกเว้นหมวด 1-2 จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าหากแก้ไขรายมาตราคงไม่สามารถทำได้เพราะมีมากมาย จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องมี ส.ส.ร.ขึ้นมา และมีโอกาสที่จะดึงผู้คนหลากหลายสาขามาร่วมด้วย
ส่วนสมาชิกหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การตั้ง ส.ส.ร.จะไม่ขัด รธน. หรือเรียกว่าลูกพิฆาตแม่ หรืออย่างไร ซึ่งหลายคนที่อยู่วงการนี้มาพอสมควรจะรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 39 ก็มีการตั้ง ส.ส.ร. และเพิ่มหมวดใหม่ขึ้นก็ทำได้ ไม่เห็นมีการโต้แย้ง จนเป็นที่มาของ รธน.ปี 40 ที่ได้รับความชื่นชมมากว่าเป็นประชาธิปไตยมากสุดของไทย
นายบัญญัติ กล่าวว่า ส่วนเรื่องงบประมาณในการใช้ทำประชามติ หลายคนว่าต้องทำ 2-3 ครั้ง หากฟังผิวเผินอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ตนคิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น และยอมรับงบประมาณในยามนี้ควรมีไว้แก้ปัญหาประเทศ แต่ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หากจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากพอสมควรในกาลนี้ก็ควรจะทำอย่างยิ่ง
“ผมมั่นใจว่า ใครก็ตามที่มีจิตใจเปิดกว้างทางการเมืองพอสมควร และสนใจติดตามมาตลอด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องต่างๆ น่าสนใจอย่างยิ่ง หลายข้อในรัฐธรรมนูญปี 60 มีข้อบกพร่อง เมื่อบังคับใช้แล้วเราจะปล่อยให้ข้อบกพร่องเหล่านี้ไป หรือที่สำคัญไปก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เราไม่ควรเพิกเฉย การแก้รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.น่าจะเป็นสายกลางที่หลายฝ่ายน่าจะยอมรับกันได้ หลายบทหลายมาตราที่เรียกร้องก็ใช้เวที ส.ส.ร.รับไปดำเนินการต่อ สมาชิกรัฐสภาเองก็มีเวลาตั้งหลักพอสมควรเพื่อให้ร่างออกมาอย่างมีเหตุมีผล ที่สำคัญ เมื่อสามารถดึงหลายฝ่ายมามีส่วนร่วมแล้ว ปัญหาความปรองดองที่แม้จะแก้ได้ไม่ง่ายดายนัก แต่อย่างน้อยก็นำไปสู่การลดความขัดแย้งที่มีให้น้อยลงมาก และเรายังได้รัฐธรรมนูญที่มีหลักมีเกณฑ์ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราปรารถนาร่วมกัน จึงหวังว่าจะได้รับการสนุนดียิ่งจากสมาชิกโดยทั่วกัน” นายบัญญัติ กล่าว