“ปิยบุตร” อ้างคำพูด “อานนท์” ที่ดูเหมือนขู่ ถ้าคนรุ่นใหม่ “แตกหัก” อันตราย! “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ชี้ สถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญ “แก้วสรร” สอน “มุ้งมิ้ง” ชุดใหญ่ ถ้าอยากถกเรื่องเจ้า ควรใช้เวทีวิชาการ พร้อมขึ้นเวทีกับ “บูด”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์คำพูดของ นายอานนท์ นำภา ระบุว่า
“ผมคิดว่า ชนชั้นนำไทยต้องยอมรับความจริงนี้ ถ้าไม่ยอมรับ และคนรุ่นใหม่พร้อมจะแตกหัก หรือยอมสูญเสีย มันอันตราย
ผมคิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีทางแพ้ และคนรุ่นเก่ากำลังทยอยตายไปเรื่อยๆ ส่วนคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าแทบจะเป็นเอกฉันท์ที่พวกเขาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย”
นอกจากนี้ ยังแชร์ THE101.WORLD สัมภาษณ์อานนท์ นำภา หัวข้อ Exclusive อานนท์ นำภา – ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิต ความคิดในการออกมาเคลื่อนไหวเรื่อง “ปฏิรูปสถาบัน”
ขณะเดียวกัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ “ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์”
โดยระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งคู่แผ่นดินไทย หากนับย้อนไปแค่กรุงสุโขทัย ได้ร่วม 700 ปี เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก
ในรัชสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงมีระฆังไว้หน้าพระราชวังให้ประชาชนได้ร้องทุกข์ และทรงตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นยุคสมัยของการสร้างประเทศ แผ่อาณาเขต รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงศรีฯ ตลอดจนการรบปกป้องแผ่นดินจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู พระมหากษัตริย์ จึงต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทรงเป็นนักรบและนำการรบด้วยพระองค์เอง คราใดที่มีพระมหากษัตริย์อ่อนแอ กรุงศรีฯก็จะเสียกรุง
หากประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง ไม่มีสายพระเนตรที่ยาวไกล ป่านนี้ไทยอาจต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศ นักล่าอาณานิคมไปแล้ว
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ระหว่างทำสงครามกู้ชาติไม่มีเงินที่จะเลี้ยงดูทหาร และไม่มีเงินมากพอที่จะสร้างชาติ จนต้องหยิบยืมกู้เงินจากจีน สมเด็จพระนั่งเกล้าทรงเก็บเงินที่ได้จากการค้าขายไว้ในถุงแดง และทรงตรัสเงินถุงแดงเหล่านี้ไว้ใช้ในอนาคต
ในรัชสมัยพระปิยมหาราช สยามถูกฝรั่งเศส ชาตินักล่าอาณานิคมที่คุณปิยบุตรชื่นชอบและยกย่อง รังแกพยายามเอาสยามเป็นเมืองขึ้น หาเรื่องบีบคั้นสยามมาโดยตลอด รุกรานด้วยกองเรือรบมาจอดเทียบหน้าพระบรมมหาราชวัง ด้วยเงินถุงแดงที่ในหลวง ร.3 สะสม นี้แหละ ที่ใช้ไถ่ถอนประเทศ และพระองค์ต้องยอมตัดใจเสียดินแดนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตลอดจนดินแดนบางส่วนของเขมร เสียมราช พระตะบอง และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อรักษาจันทบุรีและตราดไว้ให้คงอยู่กับสยาม
และด้วยเงินพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์นี้ ที่ทรงนำมาพัฒนาประเทศ ทั้งสร้างทางรถไฟ ถนนหนทาง การโทรเลขและส่งบรรดาพระราชโอรสและคนไทยไปเรียนวิชาการสมัยใหม่ในยุโรป ตลอดจนตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก เพื่อเตรียมคนเข้าทำงานในระบบราชการสมัยใหม่ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนแผนที่ทหาร ปรับปรุงระบบราชการใหม่หมด
ด้วยพระเมตตาของล้นเกล้าในหลวง ร.7 เมื่อถูกคณะราษฎรยึดอำนาจ พระองค์ไม่ประสงค์ที่จะต่อสู้ แม้ฝ่ายคณะราษฎรจะมีกำลังเพียงหยิบมือเดียว กำลังทหารฝ่ายจงรักภักดีจะมีอยู่มากมาย แต่ไม่ทรงประสงค์ที่จะเห็นคนไทยต้องเสียเลือดเนื้อ เพราะพระองค์มีพระประสงค์ที่จะให้สยามพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย และมีรัฐสภาเช่นยุโรปอยู่แล้ว แต่สุดท้าย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระทัยสละราชย์ เนื่องจากไม่ทรงเห็นด้วยกับการกระทำของคณะราษฎร และไม่ประสงค์เป็นหุ่นให้คณะราษฎร และทรงบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ไว้ว่า
เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ พระมหากษัตริย์ต้องมีอำนาจส่วนหนึ่ง แต่คณะราษฎรต้องการให้กษัตริย์ (เป็นตรายาง) เป็นพิธีการ ทรงบันทึกไว้ว่า “เต็มใจสละอำนาจของข้าพเจ้า แต่เดิมให้ประชาชน แต่ไม่ยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
เมื่อคนไทยเกิดมา ลืมตาดูโลก เราก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระเมตตา ดูแลทุกข์สุขของประชาชน พระมหากษัตริย์ไม่เคยทำอะไรให้คนไทยเดือดร้อน มีแต่คอยช่วยเหลือ ทรงทำในสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้ หรือไม่เคยทำ
ความทุกข์ยาก และปัญหาของคนไทยทุกวันนี้ มาจากนักการเมืองที่โกงกิน คอร์รัปชัน ไม่ใช่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน
ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ ก็ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “แด่...ม็อบมุ้งมิ้ง” ผ่าน www.thaipost.net โดยมีเนื้อหาดังนี้
ถาม เห็นการชุมนุม 19 กันยา ยุติลงโดยสงบอย่างนี้แล้ว คิดอย่างไรที่อาจารย์ไปคัดค้านเขา
ตอบ ดีใจครับ..ทั้งในฐานะประชาชนที่ไม่เกิดจลาจลวุ่นวาย และในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่ง ก็พอใจที่เห็นธรรมศาสตร์ไม่ถูกใช้ในงานนี้ งานนี้มีข้อสรุปหลายอย่างที่นักศึกษาควรจะได้เรียนรู้
ถาม มีอะไรบ้าง
ตอบ การชุมนุมในสังคมประชาธิปไตยจะต้องโปร่งใส นักศึกษาต้องรวมตัวจริงๆ ไม่ใช่มีแค่ไม่กี่คนอย่างนี้ จัดในนามองค์การนักศึกษาได้ยิ่งดี ทางความคิดต้องคิดจริงๆ ว่าเป้าหมายและเหตุผลคืออะไร จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือจะแก้รัฐธรรมนูญล้มระบอบประยุทธ์ก็บอกมา พร้อมเหตุผลและทฤษฎีที่อธิบายได้เป็นเรื่องเป็นราว คนเขาจะได้คิดแย้งคิดคล้อยได้ ข้อสุดท้ายคือความโปร่งใส ข้อนี้สำคัญที่สุด
ถาม เขาไม่โปร่งใสอย่างไร
ตอบ ข้อแรก ต่อไปถ้าอยากใช้สนามหลวง ก็ต้องไปขอเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน ไม่ใช่มาเลี่ยงกฎหมายอ้างว่า ชุมนุมในธรรมศาสตร์ แล้วคนล้นออกสนามหลวงไปเองอย่างนี้ เห็นชัดเลยว่าพังประตูเอาหางแหย่เข้าไปในธรรมศาสตร์ ไม่กี่นาทีและไม่กี่คน แล้วก็รีบมายึดสนามหลวง ประกาศเป็นสนามราษฎร์ แล้วฝังหมุดในวันรุ่งขึ้นเลย
ถาม เขาเลี่ยงกฎหมายอย่างไร
ตอบ ในกฎหมายชุมนุมสาธารณะ เขายกเว้นไว้ว่า ไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมในสถาบันการศึกษา เมื่อพวกเขาไม่ต้องการชุมนุมโดยโปร่งใสตามที่กฎหมายนั้นได้กำหนดไว้ เขาไม่ต้องการเปิดตัวผู้รับผิดชอบทั้งหมด ช่วงเวลาและแผนการเคลื่อนไหว วัตถุประสงค์และกิจกรรมที่จะทำ ไม่ต้องการวางแผนรักษาความปลอดภัยร่วมกับตำรวจ เขาก็เลี่ยงมาใช้ธรรมศาสตร์
กฎเกณฑ์ตามกฎหมายทั้งหมดนี้ ถ้าเขายอมทำตาม ขออนุญาตให้ชัดเจนโปร่งใส สังคมก็ไม่แตกตื่นวุ่นวาย พวกแดงรุนแรงก็ไม่ต้องมาร่วมแล้วผิดหวังว่าทำไมมุ้งมิ้งอย่างนี้วะ คนที่เห็นด้วยเขาก็มาร่วมฟังร่วมแสดงออกด้วย จบลงด้วยดี ด้วยการยื่นข้อเสนอต่อผู้เกี่ยวข้อง สงบทั้งบ้านเมืองและการชุมนุม
ถาม กฎหมายชุมนุมสาธารณะต้องการเห็นอย่างนี้ตอบ ถูกต้องครับ ต้องการการชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นที่แท้จริง สงบ และโปร่งใส ไม่มีใครต้องแตกตื่น จัดอภิปรายใหญ่คนมาเป็นสามหมื่นจบอภิปรายแล้วก็เลิก สภาก็รับกระแสจากที่ชุมนุมไปเข้าระบบ ไม่ต้องมาคุยว่าเบิ้มๆ หรือมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ หรือเผด็จการจะได้แผลลึก อย่างในครั้งนี้ ทำได้อย่างนี้ความสับสนก็ไม่เกิด ทั้งในสังคมและในการชุมนุมเองก็ตาม ตำรวจทหารก็ไม่ต้องเหนื่อย ธรรมศาสตร์หรือทำเนียบก็ไม่ต้องปิด Human Right ก็ไม่ต้องโผล่มาเสือก
ถาม ในที่ชุมนุมเอง สับสนอย่างไร
ตอบ งานนี้ผู้จัดชุมนุมต้องการแสดงทางสัญลักษณ์ยกนิ้วให้สถาบันกษัตริย์ แต่คนที่เห็นด้วยหรือมาร่วมชุมนุมกลับต้องการขับไล่รัฐบาล ต่างกันอย่างนี้ก็ยุ่งแล้วครับ เห็นชัดว่า ในที่ชุมนุม 19 กันยานั้น มวลชน กับเวที มีช่องว่างมากมายไม่สนใจกันเลย ไม่มีการสื่อสารทางความคิดสมกับเป็นการชุมนุมเลย เป็นแค่ให้เสื้อแดงไปดูอีเวนท์นักศึกษาเท่านั้น
ถาม นักศึกษาควรปรับตัวอย่างไร
ตอบ ควรจัดอภิปรายในมหาวิทยาลัย ให้เป็นเรื่องเป็นราวในทางวิชาการว่า สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย มีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างไร อะไรคือจุดอ่อนจุดแข็ง มันมีทฤษฎีในโลกวิชาการให้คิดอ่านได้เพียงพอทีเดียว
ถาม ตัวอาจารย์ขึ้นเวทีนี้ได้ไหม
ตอบ ผมเห็นด้วยกับคำอธิบายของ Walter Bagehot นักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรืองนามยุคคลาสสิกของอังกฤษ ที่ยืนยันถึงคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยไว้อย่างชัดเจน จากประสบการณ์จริงของสังคมของเขา เป็นวิธีคิดวิธีมองที่เอามาอธิบายในบริบทของไทยได้ ถ้าเขาจัดเป็นอภิปรายทางวิชาการจริงๆ ไม่โห่มีฮาไม่มีจัดตั้ง เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางความคิดได้จริงๆ ผมยินดีร่วมด้วย คุณปิยบุตรร่วมด้วยยิ่งดี
ถาม เด็กพวกนี้จะจัดได้หรือครับ เวทีทางปัญญาแบบนี้ นี่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้นะครับ
ตอบ ผมยังมีความหวังว่า พวกเขาอาจจะได้คิดรู้จักและตระหนักถึงเสรีภาพทางความคิดขึ้นมาได้ว่า เสรีภาพนี้ต่างจากเสรีภาพที่จะพูดอะไรก็ได้อย่างไร ถ้าคิดได้เขาก็จะเปลี่ยนไปได้ ถ้าคิดได้แค่จัดอีเวนท์ ตอกหมุดและถวายฎีกาท้าทายใครต่อใครเขา ก็อย่าขอโผล่มาให้รำคาญเมืองอีกเลย อาจารย์ที่ปรึกษาก็ช่วยชี้แนะด้วย อย่าให้เด็กเอาชื่อไปใช้เฉยๆ เลยนะครับ มันน่าจะน่าอดสูมากทีเดียว
แน่นอน, หลายคนที่ติดตาม และเกาะติดการชุมนุมของ นักศึกษา ประชาชน ในนาม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” นำโดย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอย่างใกล้ชิด ก็คงได้เห็นแล้วว่า ม็อบครั้งนี้เป็นอย่างไร
ความจริง สิ่งที่ อ.แก้วสรร วิพากษ์วิจารณ์ ก็นับว่า มีเหตุมีผลทีเดียว
เพียงแต่ สิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการแสดงออก น่าจะมีการวางแผนในเชิง “ยุทธศาสตร์” จากผู้อยู่เบื้องหลังมาแล้ว ที่ต้องการให้พลังบริสุทธิ์ อย่าง กลุ่มนักศึกษา เป็นผู้ท้าทาย อำนาจรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย อำนาจเบื้องสูง ตั้งแต่รัฐบาลขึ้นไป ในทำนอง “อารยะขัดยืน” อะไรประมาณนั้น
ยุทธศาสตร์ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่า การชุมนุมครั้งนี้ ต้องการแสดงออกให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมาก เห็นด้วยกับพวกเขา “เรื่องปฏิรูปสถาบัน” เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการนำไปขยายผลในการต่อสู้เรื่องนี้อย่างแน่นอน
แม้ว่า จะมีการแฉข้อมูลออกมาว่า แท้จริงแล้ว “ม็อบ 19 กันยาฯ” ฐานมวลชนส่วนใหญ่ก็คือ คนเสื้อแดง และผู้ที่ต้องการขับไล่รัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจการบริหารประเทศ ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่กลุ่มแกนนำ ที่เป็นผู้กุมยุทธศาสตร์และทิศทางการต่อสู้กลับกลายเป็นคนละเรื่อง อย่างที่ อ.แก้วสรร ชี้ให้เห็น ว่า “มวลชน” กับ เวทีปราศรัย มีช่องว่างอย่างมาก ขาดการสื่อสาร และเข้าใจตรงกัน
รวมทั้ง การปักหมุด “คณะราษฎร 2563” และ การ “ถวายฎีกา” ก็เป็นการสนองข้อเรียกร้อง และจุดยืนของแกนนำเพียงไม่กี่คนเช่นกัน
สรุปแล้ว หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การชุมนุมของม็อบธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมทั้งกลุ่มพันธมิตร ต้องการเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง หรือแค่ใช้เรื่องนี้เป็น “เป้าหลอก” ส่วน “เป้าจริง” คือ การปฏิรูปสถาบันฯ ตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม
อย่าลืม สิ่งที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร พูดมาตลอด ก็คือ ไม่เชื่อว่า รัฐสภา จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พวกเขาต้องการได้ (เพราะต้องการแก้ให้ครอบคลุม 10 ข้อเรียกร้องหรือไม่) และหวังว่า การชุมนุมกดดันนอกสภา จะสร้างปรากฏการณ์ขึ้นได้ นั่นคือ พลังกดดันขั้นสูงสุด จนรัฐสภายอมตาม และนี่เองที่น่ากลัว
เพราะต้องไม่ลืมเช่นกัน ว่า การต่อสู้ ไม่ได้มีเพียงฝ่ายเดียว และไม่ยอมให้ถูกมัดมือชกอย่างง่ายดาย สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ คนไทย ประเทศไทยกำลังเดินไปสู่จุดไหน แทบไม่ต้องสงสัยอีกแล้ว