xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” กระทุ้ง “ปิยบุตร” อย่าริคิดแบบคอมมิวนิสต์ แก้ ม.112 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยบัญญัติไว้ชัดเจน อย่าทำตัว แบบพวก “ปลูกบัวในที่แห้ง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (17 ก.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า ตนได้รับข้อมูลจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนกรณี นายปิยบุตรแสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เรียกร้องรัฐบาลขอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ โดย นายปิยบุตร ได้กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ถ้าการเมืองดีเราจะคุยกับสถาบันมหากษัตริย์ได้อย่างไร” ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง นายปิยบุตร พูดว่า พระราชดำรัสของในหลวง ร.9 และพระราชดำริของในหลวง ร.10 ที่มีต่อการใช้กฎหมายอาญา ม.112 ที่ปรากฏในสาธารณะเป็นที่ประจักษ์แน่ชัด ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่พึงประสงค์ใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ให้ยกเลิกไปเลย

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ตนรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องที่ นายปิยบุตร พูดเป็นอย่างมากและคงปล่อยนิ่งดูดายไม่ได้ เพราะ นายปิยบุตร ใช้จิตวิทยาการเมืองทำลายสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทย อีกทั้ง นายปิยบุตร ยังกล่าวว่าฐานความผิดหมิ่นประมาทไม่ควรรับโทษทางอาญา สังคมอารยะปัจจุบันในเสรีภาพการพูดจาว่ากล่าวกันไม่ควรจับไปเข้าคุก แต่หากถูกละเมิดก็ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน โดยความคิดของนายปิยบุตรเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ทราบว่าเคยหารือกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช บ้างหรือไม่ เพราะอดีตเคยมีข่าวว่า นายธนาธร และ น.ส.พรรณิการ์ ก็เคยฟ้องคนอื่นในฐานหมิ่นประมาทเพื่อจับคนพูดเข้าคุกเช่นกัน

นายสามารถ กล่าวต่อว่า นายปิยบุตร เป็นคนเอาแต่ได้และคิดล้มล้างสถาบันหรือไม่ ถึงพูดเรื่องสถาบัน ซึ่งทุกคนมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต้องไม่ละเมิดผู้อื่น รู้จักหน้าที่ของตนเอง โดยข้อกฎหมาย ม.112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี” และถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 16 ล้านคน ดังนั้น ขอให้นายปิยบุตรเคารพเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย เลิกให้ข้อมูลเท็จและสร้างความแตกแยกของสังคม ถ้าไม่อยากอยู่ประเทศไทยก็ไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้อง

ผมขอย้อนประวัติศาตร์กฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอยู่คู่สังคมไทยมานานแล้ว ขอยกประวัติศาสตร์สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กฎหมายตราสามดวง ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากการชำระกฎหมายต่างๆ ในสมัยอยุธยา กฎหมายตราสามดวงกำหนดความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะในพระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 7 ได้บัญญัติความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวและประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลโองการ เอาไว้ ความว่า

“ผู้ใดทะนงองอาจ์บ่ยำบ่กลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ แลพระบันทูลพระโองการ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาญาพระเจ้าอยู่หัว ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน ๆ หนึ่งคือให้ฟันฅอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25 ที 50 ที ให้จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่ ให้ไหมทวีคูน ให้ไหมลาหนึ่ง ให้ภาคทัณท์ไว้”

มาตรา 72 ความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “ถ้าผู้ใดติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัวต่างต่าง พิจารณาเปนสัจ ให้ลงโทษ 3 สถานๆ หนึ่งคือ ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ริบเอาสิ่งสีนแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ทวนด้วยลวดหนังโดยสกัน 50 ที มิสกัน 25 ที”

และต่อมาเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 การสื่อสารในรูปแบบเขียนและการพิมพ์เริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชน มีการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการบ้านเมืองหรือความประพฤติของข้าราชการ จึงมีการปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่ให้เป็นระบบและมีอารยะมากขึ้น นำไปสู่การประกาศใช้ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 ในสมัยรัชกาลที่ 5

พระราชกำหนดนี้ได้ ระบุความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในมาตรา 4 ความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑลฤาสมเด็จพระอรรคมเหษีฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี…โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเป็นที่ แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ …ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า 1500 บาท ฤาทั้งจำคุกแลปรับด้วย…”

จนต่อมาด้วยกระแสรัฐสมัยใหม่จากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการปฏิรูปกฎหมายและศาลนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งมีการเพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้สูงขึ้นด้วย กฎหมายนี้ กำหนดความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูลไว้ในส่วนที่ 1 มาตรา 98 ความว่า

“ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่า ห้าพันบาท อีกโสดหนึ่ง”

และมาตรา 100 ความว่า “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดความผิดจากการทำให้เกิดการดูหมิ่นและขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ในหมวด 2 ว่าด้วยความผิดฐานกบฎภายในพระราชอาณาจักรมาตรา 104 ไว้ด้วย ความว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง”

ซึ่งต่อมาในพ.ศ. 2470 ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมใน (1) เป็นให้การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวางกว่ากฎหมายฉบับก่อนๆ และมีการเพิ่มคำว่าแสดงความอาฆาตมาดร้ายเข้ามาเป็นครั้งแรกด้วย

ขณะเดียวกันในภาวะสังคมที่เทคโนโลยีและสื่อสิ่งพิมพ์ที่แพร่หลายต่อสาธารณะมากขึ้น สื่อจึงกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงการอธิบายความเป็นชาติ แบบใหม่ที่ชาติเป็นของราษฎรโดยกษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองประเทศตกเป็นเป้าหมายในการแสดงความคิดเห็นโดยตรง ซึ่งมีการต่อสู้กลับโดยใช้ข้อหาหมิ่นฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการออกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 มาตรา 5 กำหนดให้บทประพันธ์ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะยุยงให้กระทำความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและราชอาณาจักรเป็นบทประพันธ์ประเภท “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ซึ่งเป็นความผิดกำหนดโทษกรณี “…เมื่อได้พิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม…ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”

ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ยังได้บัญญัติให้“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้"

ซึ่งถ้าย้อนอดีตจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมานั้นเป็นแนวคิดของวิธีคอมิวนิสต์หาใช่แนวคิดแบบประชาธิปไตยไม่ เพราะตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญก็ตกลงกันแต่ต้นแล้วว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้นขอเตือนนายปิยบุตร หัดสำนึกในสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าทุกๆพระองค์ที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาแผ่นดินไทยมาจนถึงทุกวันนี้ การที่นายปิยบุตรเรียกร้องให้มีการแก้ให้มีการหมิ่นประมาทได้นั้น แต่พวกพ้องตัวเองพอโดนหมิ่นประมาทกับไม่ยินยอม ไปใช้สิทธิฟ้องคนอื่น แถมยังจะดึงสถาบันลงมาด้วยนั้นเปรียบคำโบราณว่า "ปลูกบัวในที่แห้ง" หรือ คำว่า "ฝนตกนานบนนาเกลือ" เป็นการกระทำที่เปรียบเปรยเรียกพวกคนเนรคุณ เห็นแก่ตัว เพราะว่า ปลูกบัวในที่แห้งย่อมไม่มีวันขึ้น ฝนตกนานบนนาเกลือก็เอามาดื่มกินไม่ได้

ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่านานวันทำไมคนจึงเดินตามนายปิยบุตรน้อยลง และใครที่ยังเดินตามอยู่หรือกำลังคิดจะเดินตามก็ควรทบทวนให้ได้ดี เพราะคนประเภทนี้พุทธสุภาษิตบอกไว้ว่า “แม้จะยกแผ่นดินทั้งหมดให้แก่คนอกตัญญูก็จะให้เขายินดีพอใจไม่ได้” ดังนั้น สุดท้ายพวกท่านอาจจะถูกหลอกได้ ผมจึงขอเตือนให้นายปิยบุตรเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหันมาทำเพื่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของคนไทยจะดีกว่าหรือไม่ก็ย้ายไปสอนหนังสือที่ฝรั่งเศสจะดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น