วันนี้ (15 ก.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า พ่อแม่พี่น้องประชาชนเป็นห่วงการกระทำของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” แกนนำคณะก้าวหน้า ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องท้องสนามหลวงนั้น เพราะได้ใช้จิตวิทยาการเมืองปลุกระดมมวลชนให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชน ตนไม่เข้าใจว่า น.ส.พรรณิการ์ เคยศึกษาประวัติศาสตร์ท้องสนามหลวงหรือไม่ เคยยืนตรงเคารพเพลงชาติไทยหรือไม่ เพราะรู้สึกว่าเป็นคนนิยมแก่ตัวเอง หรือเรียกว่า “คนเห็นแก่ตัว”
นายสามารถ กล่าวอีกว่า การที่คนเราไม่รู้จักรากเหง้าประวัติศาสตร์แล้วมาปลุกระดมมวลชน รวมทั้งยังไม่เคารพคำพิพากษาของศาลนั้น เป็นคนไม่น่าเอาแบบอย่างหรือเป็นผู้นำได้ แล้วยิ่งพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้กับประชาชนสับสน เพื่อมุ่งหวังจิตวิทยาการเมือง ตนจึงต้องขอหยิบยกประวัติศาสตร์มาเตือนสติ น.ส.พรรณิการ์ อีกครั้ง โดยสนามหลวงนั้น แต่เดิมเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้น หาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”
นายสามารถ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร.1 เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศ ว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ๆ พระบรมมหาราชวัง และคนไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย
“ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ โดยข้างในได้สร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธีและอื่นเพื่อไว้ใช้สำหรับการพิธีสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้ว นอกจากนั้น ยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว”
นายสามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่างๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อนๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 โดยปัจจุบันได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในประเทศ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ , สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธ.ค. 2530, พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
“ทั้งยังได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงก่อสร้างงานพระเมรุมาศกลางเมืองมาแล้ว 6 ครั้ง ดังนี้ พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ร.8, พ.ศ. 2499 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พ.ศ. 2528 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, พ.ศ. 2539 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พ.ศ. 2555 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
นายสามารถ กล่าวอีกว่า น.ส.พรรณิการ์ ต้องการที่จะพยายามทำลายระบบสถาบัน ทำลายความเป็นโบราณสถาน ทำลายจิตวิญญาณของคนที่รักสถาบันใช่หรือไม่ พยายามที่จะเชื่อมโยงไปยังการเมืองใน ยุค 14 ต.ค. 2516 หรือ 6 ต.ค. 2519 เพื่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ ดังนั้น น.ส.พรรณิการ์ ต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชน อย่าหลอกชาวบ้าน อย่าใช้จิตวิทยาการเมือง ทั้งนี้ ขอเตือนสติ น.ส.พรรณิการ์ ว่า ประวัติศาสตร์สนามหลวงมีความเป็นมาควบคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสมบัติของชาติและประชาชนทั่วประเทศ ขอให้สำนึกคุณงามความดีของบูรพกษัตริย์ในอดีตและสำนึกบุญคุณชาติบ้านเมืองมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวด้วย