“สมคิด” แจงยุบเต็นท์ยุติสังเกตการณ์ม็อบหลังภารกิจสำเร็จก่อนแล้ว ไม่พบคุกคาม ปชช. “ชลน่าน” แจงวิป 3 ฝ่ายนัดถก 22 ก.ย.วางกรอบแก้ รธน. เชื่อพลังมวลชนกดดัน ส.ว.แก้กติกาได้สำเร็จ
วันนี้ (20 ก.ย.) นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการยุบเต็นท์คณะทำงาน ไม่ไปร่วมสังเกตการณ์การเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาในวันที่ 20 ก.ย.ว่า เนื่องจากภารกิจของคณะทำงานเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่ได้รวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว ทั้งกรณีการคุกคามประชาชนที่พบว่าไม่มีการคุกคามประชาชนในการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. รวมถึงข้อเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและการยุบสภาในการชุมนุมก็ได้รวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว จึงเห็นว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนของกลุ่มนักศึกษาในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย. ให้เป็นเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการเอง จึงไม่มี ส.ส.เพื่อไทยไปร่วมสังเกตการณ์วันดังกล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงรูปแบบการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย.เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ญัตติว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติอย่างไรในการกำหนดวิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งในวันที่ 22 ก.ย.จะมีการหารือวิปสามฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. กำหนดรูปแบบการพิจารณาอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นจะเสนอให้พิจารณาอภิปรายแสดงความเห็นรวมกันได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติจะให้แยกพิจารณาลงมติเป็นรายมาตรา โดยในวันที่ 23 ก.ย.จะให้อภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่ออภิปรายครบแล้วก็ให้ลงมติจะรับหลักการวาระแรก หรือไม่ก็ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล จะให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนตอบในครั้งเดียวเลยว่าจะรับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องขานชื่อลงมติ 2 ครั้ง เพราะการขานชื่อรายคนแต่ละครั้ง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เพราะมีสมาชิกรัฐสภาถึง 750 คน ส่วนการพิจารณาวันที่ 24 ก.ย.จะพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราที่เหลืออีก 4 ญัตติ รูปแบบเหมือนกับการอภิปรายวันที่ 23 ก.ย.
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนกรณีเสียง ส.ว.ที่ยังไม่ชัดเจนจะช่วยลงมติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เราคงไม่สามารถบังคับให้ ส.ว.84 เสียง มาร่วมลงมติได้ แต่เชื่อว่าจำนวนมวลชนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.จะเป็นตัวกดดันให้ ส.ว.ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน ดูแล้วน่าจะได้เสียง ส.ว.พอ 84 เสียง ในการลงมติรับหลักการวาระแรกได้ เพราะถือว่าเป็นการปลดทุกข์ช่วย ส.ว. เพราะ ส.ว.เองก็คงไม่สบายใจในอำนาจมาตรา 272 ที่ต้องลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการยกภูเขาออกจากอก ส.ว.