xs
xsm
sm
md
lg

พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นร่าง รธน.4 ฉบับ ปิดช่องนายกฯ คนนอกใช้ รธน.40 เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



6 หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน พร้อมใจตบเท้ายื่นร่าง รธน.4 ฉบับ ประธานสภาฯ ร่วมลงชื่อ 170 ส.ส. คาดพิจารณา 23-24 ก.ย. มุ่งปิดโอกาสนายกฯ คนนอก ย้อนใช้ รธน.40 เลือกตั้ง

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่รัฐสภา หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 6 พรรค นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประกอบด้วย 1. การแก้ไขมาตรา 272 และ 159 ว่าด้วยการให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี 2. มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 3. มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 4. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.

โดยนายชวนกล่าวว่า เมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้วจะมีการตรวจสอบความถูกต้องว่ามี ส.ส.เข้าชื่อครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะสามารถบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ภายใน 15 วัน ซึ่งสามารถทันกับการประชุมรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย.

ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มี ส.ส.ร่วมลงชื่อประมาณ 170 คน ในส่วนของการแก้ไขกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้จะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ในสภาเสนอชื่อ ส.ส.ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามให้สภาเลือกเป็นนายกฯ ต่อไป เท่ากับเป็นการปิดโอกาสนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับในส่วนระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือก ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะใช้รูปแบบเขตเดียว เบอร์เดียว อีกทั้งการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะใช้ระบบการกัน 5 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้นั้นจะต้องมีจำนวนคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด คิดว่าการมีระบบการกัน 5 เปอร์เซ็นต์เอาไว้นั้นจะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหญ่ หรือทำลายพรรคการเมืองเล็ก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะอาจมีการอภิปราย และแก้ไขในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา










กำลังโหลดความคิดเห็น