xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับแก้ รธน.นานแน่ ย้อนยุบสภาใช้กติกาอะไรเลือกตั้ง เพราะอาจไร้ ส.ส.-ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ชำแหละไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ ย้ำยาวนานแน่ ถามคนชงยุบสภาจะใช้กติกาอะไรเลือกตั้งใหม่ เพราะอาจไม่มี ส.ส.-ส.ว.ทำหน้าที่

วันนี้ (10 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล ที่มีผู้ร่วมลงชื่อขอถอนชื่อว่า ร่างของพรรคก้าวไกลจะมีหรือไม่ ตนไม่ทราบ อยู่ที่ว่าเขายื่นหรือยัง ถ้ายื่นประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะบรรจุสู่วาระพร้อมกันในวันที่ 23-24 กันยายน ทั้งนี้ ข้อบังคับได้กำหนดให้ประธานสภาฯ ต้องบรรจุในระเบียบวาระภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลก็รับทราบดี เวลาพูดถึงรัฐบาลก็หมายถึงพรรคร่วมนั่นแหละ พรรคร่วมรัฐบาลไปคุยกันเองในระดับพรรคการเมือง แต่เขาก็เห็นไม่ตรงกันหมดซึ่งจะออกมาในทางประนีประนอม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่ได้นำมาพิจารณา

เมื่อถามถึง การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ นายวิษณุกล่าวว่า จริงๆ ก็ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะถ้าใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยก็จะมี ส.ส.ร.ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน ถ้าใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็มี ส.ส.ร. แต่จะทำให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ทั้งนี้ เราต้องดูถึงทัศนะของแต่ละฝ่ายที่แสดงอกอกมาในร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีทัศนะอย่างไรเรารู้จากร่างที่เขายื่น พรรคร่วมรัฐบาลมีทัศนะอย่างไร เราก็รู้จักในร่างของเขา ฉะนั้น คนนั้นพูดคนนี้พูด ตนก็ไม่รู้ว่าจะฟังใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาร่างนานใช่หรือไม่ โดยเฉพาะหากตั้ง ส.ส.ร.มาร่าง นายวิษณุกล่าวว่า ยาวนานแน่นอน เรารู้อยู่แล้ว ถ้าใช้ร่างของพรรคเพื่อไทย เฉพาะร่าง ส.ส.ร.ก็ใช้เวลา 4 เดือน แต่ถ้าใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็ใช้เวลา 240 วัน ตรงนี้คือระยะเวลาในการร่าง แต่ข้อเท็จจริงจะต้องมีเวลาก่อนหน้านั้น กับระยะเวลาหลัง เช่น ไปเกี่ยวพันกับการทำประชามติซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญ คือ อันดับแรกจะต้องมีการดำเนินการคู่กันไป คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่จะเข้าสู่สภาวันที่ 23-24 กันยายนนี้ ถือเป็นเส้นทางที่ 1 ที่ต้องทำไป ขณะเดียวกัน สมมติว่าเสร็จในวาระที่ 1 วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งก็คงไม่นาน เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ไปว่ากันอีก แต่มีอีกเส้นทางหนึ่งที่ต้องทำคู่ขนาน คือ การจัดทำกฎหมายประชามติ ซึ่งต่อให้พิจารณารัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 เสร็จก็ต้องทิ้งไว้เฉยๆ เพื่อรอกฎหมายประชามติ ฉะนั้น จึงยังนับหนึ่งไม่ได้ เป็นระยะเวลาที่เกิดขึ้นและยาว

นายวิษณุกล่าวต่อว่า สำหรับร่างประชามติ ครม.รับหลักการแล้วเมื่อวันอังคาร (8 กันยายน) ที่ผ่านมา และได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ตนได้ถามเลขาธิการกฤษฎีกาได้รับคำตอบว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน พอดีกับที่ปิดสมัยประชุมสภา ฉะนั้น เมื่อเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน ร่างกฎหมายประชามติก็จะเข้าสู่สภาได้ สภาก็จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับร่างประชามติ และเป็นการพิจารณาร่วม เพราะร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายปฏิรูปจึงต้องเสนอต่อที่ประชุมสองสภา แต่ร่างรัฐธรรนูญจะเสร็จก่อน และเมื่อเสร็จแล้วก็ต้องทิ้งรอไว้ก่อน ซึ่งปกติเมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะนำไปทำประชามติเลย แต่ครั้งนี้จะไปทำประชามติเลยไม่ได้เพราะกฎหมายประชามติยังไม่เสร็จ ตนไม่ทราบว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ จะช้าหรือเร็ว แต่ความจริงมันก็ควรจะเร็ว ตนคิดว่าประมาณ 2 เดือน จากนั้นรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายลงพระปรมาภิไธย เมื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ก็จะมีผลทันที จากนั้นก็นำเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 มาสู่กระบวนการทำประชามติ

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติจะต้องมีการทำภายใน 90-120 วัน เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่า หากทำก่อน 90 วันจะทำไม่ทัน เนื่องจากต้องมีขั้นตอนการพิมพ์และนำไปแจกจ่าย ฉะนั้น เวลาคิดจะต้องคิดเรื่องการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ คือ สายที่ 1 กับการพิจารณากฎหมายประชามติ เป็นสายที่ 2 ซึ่งก็ต้องบวกไว้ 3-4 เดือน เมื่อลงประชามติแล้วอาจจะต้องบวกอีก 1 เดือน เอาไว้รับรองการประกาศผล การคัดค้าน รอขึ้นศาล เมื่อผ่านทุกอย่างแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

นายวิษณุกล่าวว่า แต่ทั้งนี้ในขั้นตอนมีการระบุไว้ว่า ถ้ามีคนร้องก็จะต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน ซึ่งเขาบังคับไม่ให้ศาลช้ากว่า 1 เดือน เมื่อบวกกับอีก 1 เดือนนี้เสร็จก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งการทูลเกล้าฯ ถวายอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน ก็ต้องบวกเข้าไปด้วยทั้งหมด เมื่อลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ประกาศใช้ได้ จึงจะเริ่มการตั้ง ส.ส.ร.จาก 200 คน โดยตามร่างกำหนดว่าจะตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 60 วัน ตามร่างของพรรคเพื่อไทย ต้องหา ส.ส.ร.เลือกตั้ง 200 คน แต่ถ้าเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ก็หา ส.ส.ร.เลือกตั้งเพียง 150 คน ส่วนอีก 50 คนก็อาจจะกำหนดมาจากนู่นนี่นั่นจนครบ 200 คน และพอได้ ส.ส.ร.มา ส.ส.ร.จึงจะเริ่มไปร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าตามร่างของพรรคเพื่อไทยก็ต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่ของพรรคร่วมรัฐบาล 8 เดือน ทั้งนี้ก็สามารถประนีประนอมตกลงกันได้ พบกันครึ่งทางได้ แล้วแต่จะว่ากัน รวมเวลาทั้งหมดก็เป็นปี

ส่วนจะนำไปสู่การทำประชามติอีกหนหนึ่งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะในร่างของพรรคเพื่อไทย ต้องไปทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลให้นำเข้ามาสภา ถ้าสภาลงมติเห็นชอบเกินครึ่งก็ข้ามการทำประชามติไปเลย แต่หากไม่ถึงครึ่งซึ่งตามหลักจะต้องตกไป แต่ไม่ตกเพราะเขากำหนดให้เอาไปทำประชามติ ใน 60 วัน ซึ่งจะต้องบวกไปอีก 60 วัน แต่ส่วนตัวคิดว่าไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะสภาน่าจะเห็นชอบได้ เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องไปเจอศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน ทั้งร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 90 วัน ฉะนั้นถือว่าได้รัฐธรรมนูญใหม่ ส.ส.ร.ก็จะสลายตัว หลังจากนี้จะทำอย่างไรก็ทำกัน

“แต่ผมเป็นห่วงอยู่นิดเดียวที่มีเสียงพูดออกมาว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้วยุบสภา ยุบแล้วเป็นอย่างไร ยุบแล้วเลือกตั้งใหม่ใช่หรือไม่ ก็ต้องถามว่าแล้วใครทำกฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญที่คุณร่างออกมาใหม่ ถ้าเหมือนของเก่าเปี๊ยบ คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำกฎหมายลูก แต่คำถามคือคุณไปร่างใหม่หาอะไร คุณร่างใหม่ก็เพราะคุณต้องการจะเปลี่ยนวิธีเลือกตั้งใหม่ บัตรใบเดียว บัตรสองใบ วุฒิสภา คุณต้องการจะเลิก แล้วถ้าแก้ไม่สำเร็จ คุณก็ต้องมีวุฒิสมาชิกแบบเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดก็ต้องทำกฎหมายลูกให้หมดอย่างน้อย 3-4 ฉบับ คือ 1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อย่างน้อย 3 ฉบับ อาจจะมีมากกว่านี้แต่ตนไม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าเขาจะร่างออกมาอย่างไร ตรงนี้ต้องใช้เวลาสภา ฉะนั้น ถ้าจะยุบอย่างที่เรียกร้องกันว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ใหม่แล้วก็ได้ แต่ถ้ายุบแล้วก็ต้องไปเลือก แล้วจะเลือกตามกติกาอะไร เพราะมันไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เผลอๆ ตอนนั้นวุฒิสมาชิกก็อาจจะไม่มีด้วย ซึ่งวิธีแก้มันมี แต่ต้องไปคิดให้รอบคอบทั้งหมด ต้องให้ ส.ส.ร.200 คนคิด เรื่องนี้ไม่ได้คิดว่ายุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องคิดเอาไว้ล่วงหน้า มันไม่ยุ่งหรอก เพียงแต่อาจจะยาวนาน” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำอย่างไรให้แก้ไขยากขึ้นเพื่อไม่ให้มาแก้ไขกันอีก โดยจะสามารถอุดช่องโหว่งตรงไหนได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ คนคิดออกเขามีเยอะ


กำลังโหลดความคิดเห็น