อดีตเพื่อน “ทอน” ลากไส้ “ปวิน” หมดพุง ฉลาดปั้นวาทกรรม-โง่มากโลกเป็นจริง เพ้อฝัน “ปฏิวัติ” แต่ใช้คนอื่นทำแทน (ตายแทน) “อดีตบิ๊ก ศรภ.” ยก 3 ข้อชำแหละ “ม็อบ19 กันยา” เตือน “ลอบบึ้ม” ที่ชุมนุม “ใบเสร็จ” คุกคาม?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก Pichit Chaimongkol ของ นายพิชิต ไชยมงคล อดีตโฆษกกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตเพื่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ด้วยกัน โพสต์ข้อความระบุว่า
“นั่งดูสัมภาษณ์ อ.ปวิน (ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้ต้องหา ม.112 ลี้ภัยในญี่ปุ่น) ในรายการเก่าๆ สมัยให้สัมภาษณ์ สรยุทธ (สุทัศนะจินดา) ผมคิดไม่ถึงจริงๆ ที่เขากล้ายืนยันว่า การเลือกตั้งไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง
ผมว่า เขาฉลาดในเชิงสร้างวาทกรรม แต่เขาโง่มากในโลกที่เป็นจริง ปวิน ไม่ได้เข้าใจสังคมไทยอะไรเลย แต่เขาเข้าใจหนังสือ ตำราที่เขาอ่าน แล้วเขาพยายามอธิบายว่า สังคมไทย ต้องเป็นไปตามตำรานี้
เอาแค่เขาการันตีว่า การเลือกตั้งในยุคใหม่ไม่มีการซื้อเสียงยิ่งแล้ว ย่อมบ่งบอกถึงความไร้เดียงสา การเมืองไทย
มิน่าเขาจึงเพ้อฝันการปฏิวัติ
มิน่าเขาจึงเป็นอีแอบปฏิวัติ ผู้ที่ใช้คนอื่นปฏิวัติแทนตนเอง ในขณะที่ตนเองไม่ทำอะไรเลย
เมื่อคุณชักธงปฏิวัติ คุณต้องกล้าพอนำมวลชนด้วยตัวคุณเอง
การชี้นำแบบการไร้ความรับผิดชอบ มันเหมือนชักนำ การปฏิวัติแบบให้คนอื่นตายแทนในความเชื่อของตัวเอง หมายถึง คุณกล้าพูดไม่กล้าทำไม่กล้ารับผิดชอบ
#เมื่อวานยึดอำนาจรัฐ
#ปฏิวัติแบบทำแทน
#ไม่ใช่แฟนแต่ฝากปฏิวัติได้จริงเหรอ”
ขณะเดียวกัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อ “ม็อบวันที่ 19 กับรัฐบาล” โดยระบุว่า
“ม็อบวันท่ี 19 เดือนนี้ท่ี่ มธ.นั้น
เมื่อดูจากเหตุการณ์ท่ีผ่านมา พอสรุปได้ว่า การชุมนุมครั้งนี้ น่าจะเป็นแค่ลิเกโรงใหญ่ ถ้าไม่มีการเกณฑ์คนมาร่วม
แต่ถ้ามีการเกณฑ์คนมา ก็คงได้ในระดับเท่าวันชุมนุมที่อนุสาวรีย์แค่นั้น
อย่าไปหวังว่าจะมีคนมาร่วมมากขนาดการชุมนุมของกลุ่มแดง หรือเสื้อเหลืองเลยครับ แม้จะมีประเทศมหาอำนาจลงทุนสนับสนุนให้จัดชุมนุมขึ้นทั่วเอเชีย เพราะ
1. ม็อบจะใช้เด็กๆ นำหน้า มาติดคุกแทน
เมื่อดูจากสภาพเด็ก ไม่น่าจะสามารถดึงผู้คนมาเข้าร่วมชุมนุม
ด้วยเหตุด้วยผลต่างๆ แล้ว เช่น การเชิญผู้นำท่ีไม่น่าจะเชิญ ขึ้นมาพูดให้เด็กฟัง
อย่างเช่น คุณโบว์ แล้วยังมีเด็กเพนกวิน ประกาศว่าจะออกมาพูดเรื่องสถาบันเป็นหลัก และถ้าคนเยอะจะยึดสนามหลวง ฯลฯ แล้วประชาชนธรรมดาคนไหน จะมาฟัง
2. ความพยายามไม่ประกันตัวของแกนนำม็อบ 2 คน
เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรวมคนขึ้นมาในวันที่ 19 โดยหารู้ไม่ว่า ทั้ง 2 คนที่ถูกจับ ดีใจจะตายไปแล้ว ท่ีไม่ต้องขึ้นมาพูดในวันนั้น
3. ถ้าจะให้คนเยอะขาใหญ่ต้องออกหน้า ส.ส.ต้องออกมาด้วยแบบท่ี่อนุสาวรีย์
แต่ถ้าพวกนี้ออกมาเอง เพนกวินก็ต้องย้ายไปตั้งเวทีเองท่ี่ท้องสนามหลวง เพราะ ส.ส.เค้าไม่เสี่ยงด้วย
- สิ่งท่ีรัฐบาลควรระวัง คือ การลอบก่อความไม่สงบในที่ชุมนุม เช่น วางระเบิด ซึ่งน่าจะเป็นระเบิดจากภาคใต้ด้วย เพราะอะไรลองทบทวนดูเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อ 2-3 วันนี้ ก็จะรู้ โดยมีพวกขี้ทูตต่างชาติเข้ามาเป็นพยาน เพื่อจะได้ตีข่าวให้เป็นข่าวระดับโลก
- พวกคนท่ีไม่เห็นด้วยกับเด็ก หรือ ชักหมั่นไส้เด็ก
ซึ่งนับวันจะมีมากมายในสังคมนั้น ขอให้ใจเย็นๆ
หลายคนบ่นว่า รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ซึ่งผมก็เห็นด้วย
ก็แค่ทำตามกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ต้องทำตามกฎหมายจริงๆ นะครับ
ก่อนท่ีจะมีผู้ (ไม่) หวังดี มาช่วยจัดการแทน เรื่องจะยุ่งมากขึ้นครับ
- กฎหมาย ถ้าไม่มีการบังคับใช้ ก็จะเป็นแค่เศษกระดาษ ไม่มีคนเคารพ ไม่ว่าเรื่องกระทิงแดง เรื่องเด็ก เรื่องบ่อนการพนัน การสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ อย่าให้เหมือนสมัยก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เจ้าหน้าท่ีตำรวจต้องออกมาประท้วงพังบ้านนายกฯ คึกฤทธิ์
เมื่อรัฐบาลสั่งให้ปล่อยผู้ต้องหา ตามการกดดันของนักศึกษา
ดังนั้น ถ้าใช้กฎหมายเท่าเทียมกันหมด ก็จะไม่มีใครว่าได้ ให้ดูการใช้กฎหมายของสหรัฐฯ/ฝรั่งเศส เป็นต้นแบบซิครับ
- พวกน้องๆ เป็นคนรุ่นใหม่ แต่กลับถูกคนรุ่นเก่า หลอกใช้มาตลอดเลย
หวังว่าคงทบทวนได้นะครับ”
แน่นอน, สิ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก ก็คือ กระแสข่าวเรื่องความพยายามที่จะทำให้เหตุการณ์การชุมนุมของม็อบนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “สุกงอม” ซึ่งมีทั้งกระแสที่วิเคราะห์ขาดว่าเป็นไปไม่ได้ และกระแสที่เห็นว่า ก็ไม่แน่เหมือนกัน หากมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เรื่องเหล่านี้ใช่ว่าจะไม่มีคนคิดที่จะทำ เพียงแต่จังหวะโอกาสยังมาไม่ถึงเท่านั้นเอง
ดังนั้น ม็อบนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถูกจับตามอง 3 เรื่องเป็นสำคัญ คือ 1. จำนวนคนที่เข้าร่วม มากมายมหาศาล อย่างที่คาดหวังหรือไม่ นักการเมืองระดมคนเข้าร่วมหรือไม่ 2. บรรยากาศการชุมนุม และการปราศรัย มีหัวข้อที่สุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เช่น ประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” เป็นต้น และ 3. การสร้างสถานการณ์ ที่ต้องระวัง ทั้งจากคนที่อยู่เบื้องหลังม็อบ และมือที่สาม
และที่ต้องไม่ลืมก็คือ ความเชื่อที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลำพังในรัฐสภา ไม่มีวันสำเร็จหรือเป็นไปได้ ก็แค่ทำตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งจะไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของ “ม็อบเยาวชนปลดแอก” ดังนั้น จึงต้องสร้างพลังกดดันนอกสภา ก็คือ การชุมนุมของ ม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งทำอยู่นั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ “อดีตเพื่อนทอน” และ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ โพสต์ จึงมีเหตุผล และน่ารับฟังทีเดียว อย่างน้อยก็ “รู้เขารู้เรา” เอาไว้ก่อน เกิดอะไรขึ้นจะได้แก้ไขทันการณ์ หรือไม่จริง?