xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบฯ ปฏิรูปประเทศ 13 ด้านฉบับปรับปรุง ก่อนสภาพัฒน์ฟังความเห็น เจ้าภาพจ่อใช้เงินแต่ละด้าน สูงสุดกิจกรรมละ 1 พันล้าน ในระยะ 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแผนใช้งบประมาณปฏิรูปประเทศ 13 ด้านฉบับปรับปรุง ก่อนสภาพัฒน์เปิดเวทีฟังความคิดเห็นสัปดาห์นี้ เผยหน่วยงานเจ้าภาพ เร่งระยะ 2 ปี 2564-65 พบงานบริหารราชการแผ่นดิน อัด 100 ล้านใน 2 ปี หวังขจัดทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กระบวนการยุติธรรมจัด 1 พันล้านให้สภาทนายความจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ด้านสำนักงานศาลยุติธรรมจ่อใช้ 352 ล้าน ปฏิรูประบบปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ ด้านเศรษฐกิจชงหักงบอุดหนุนภาคเกษตร 10% ของ 3 กระทรวงใหญ่ สร้างเกษตรมูลค่าสูงให้เกษตรไทย อัด 100 ล้าน 3 ปีปฏิรูปภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ผัน 500 ล้านสร้างมูลค่าที่ดินรัฐให้ประชาชน ส่วนงานปฏิรูปป้องปราบทุจริต จ่อใช้เงินที่ยึดจากทุกคดี ต้านภัยทุจริตทั้งระบบ

วันนี้ (1 ก.ย.) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 2-3 กันยายน 2563 เวลา 08.30-15.30 น. สภาพัฒน์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อาคารอิมแพค ฟอรัม ชั้น 1-2 จังหวัดนนทบุรี โดยได้เปิดเว็บไซต์ให้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ

โดยในวันที่ 2 กันยายน จะมีการรับฟังความคิดเห็น 7 ด้านแรก (1) การเมือง (2) กฎหมาย (3) เศรษฐกิจ (4) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) สาธารณสุข (6) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (7) วัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขณะที่วันที่ 3 กันยายน จะรับฟังความเห็น 6 ด้าน คือ (1) การบริหารราชการแผ่นดิน (2) กระบวนการยุติธรรม (3) สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (4) สังคม (5) พลังงาน และ (6) การศึกษา

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุง 13 แผนการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ สภาพัฒน์ได้เผยแพร่ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง 13 คณะกรรมการชุดใหม่ไปเมื่อต้นเดือน ส.ค. โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น

ด้านการเมือง (ฉบับปรับปรุง เดือนสิงหาคม 2563) กำหนดกิจกรรมปฏิรูป โดยยังไม่มีการระบุงบประมาณ ได้แก่

1. กิจกรรมการส่งเสริมความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้สื่อออนไลน์ร่วมสมัย มีสถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการในปี 2565 กิจกรรมที่ 2. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ เช่น การผลักดันร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในกรับวนการนโยบายสาธาาณะ พ.ศ. ... คาดว่าจะดำเนินการในปี 2565

3. กิจกรรมสร้างความสามัคดีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ โดยชูเรื่อง “การนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำผิดจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง” ความขัดแย้งทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ และงบประมาณ คาดว่าจะดำเนินการในปี 2565 เช่นกัน 4. กิจกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความโปร่งใสของนักการเมืองท้องถิ่น เน้นพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นต้น

5. กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาการเมือง ที่สำนักงาน กกต.จะเป็นเจ้าภาพ ที่จะดำเนินในปี 2565 เช่น การผลักดันให้พรรคการเมือง “จัดการเลือกตั้งขั้นต้น” ในแต่ละเขตเลือกตั้งเพื่อคัดเลือกผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรคในแต่ละเขตอย่างแท้จริง

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2561-2565) (ฉบับปรับปรุง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563) กำหนดกิจกรรมปฏิรูป 5 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมพลิกโฉมการบริหารงานและการบริหารภาครัฐเพื่อเป็นแพลตฟอร์มของทุกภาคส่วนสำหรับแก้ไขปัญหาและเยียวยาประเทศภายหลังโควิด-19 โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับสภาพัฒน์, ก.พ.ร., ก.พ., สำนักงบประมาณ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกรมบัญชีกลาง โดยกิจกรรมนี้ยังไม่มีกำหนดงบประมาณดำเนินการ ระหว่างปี 2564-2570 โดยมีการต่อยอดและขยายผล

2. กิจกรรมการสร้างความยืดหยุ่น คล่องตัว และทันการเปลี่ยนแปลง ในระบบการบริหารราชการ กำหนดให้ ก.พ.ร. ร่วมกับ ก.พ.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการใช้งบกว่า 2 ล้านบาท จากงบประมาณประจำระหว่างปี 2564-2565 กิจกรรมที่ 3. เปิดระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในภาครัฐเพื่ความยืดหยุ่น คล่องตัวและเชื่อมโยงกัน มีหน่วยงานอย่าง “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรกลางบริหารงานบุคคลต่างๆ” มาทำงานร่วมกับ ก.พ.ร. สำนักงบฯ และกรมบัญชีกลาง ใช้งบประมาณประจำ 20 ล้านบาท ระหว่างปี 2564-2565

4. กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารราชการเชิงพื้นที่โดยประชาชนเพื่อประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ก.พ.ร. สำนักงบฯ ก.พ. และกรมบัญชีกลาง ใช้งบประจำ 7 ล้านบาท ดำเนินารระหว่าง 2564-2565 กิจกรรมที่ 5.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีความรวดเร็วคุ้มค่า ปราศการการทุจริต มีกรมบัญชีกลาง และ สตง.เป็นเจ้าภาพ ทำงานใน 2 ปี ใช้งบมากกว่า 100 ล้านบาท

ส่วนอีก 11 ด้าน ที่น่าสนใจ และมีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว เช่น กิจกรรมที่ 2 ด้านกระบวนการยุติธรรม (พ.ศ. 2561-2565) (ฉบับปรับปรุง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563) กิจกรรมการรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเขตพื้นที่การสอบสวน พัฒนาระบบการสอบสวนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ ใน 2 ปี ใช้งบประมาณ 63 ล้านบาท

ยังมีกิจกรรมที่ 3 ในการจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีตำแหน่ง ใช้งประมาณกว่า 1,070 ล้านบาทของกระทรวงยุติธรรม รายการเงินอุดหนุนสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมย์ ดำเนินการโดยระยะ 2 ปี มีสภาทนายความ เป็นเจ้าภาพ กิจกรรมที่ 4 ปฏิรูประบบการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ ใช้งบกว่า 352 ล้านบาท มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเจ้าภาพดำเนินการในระย 2 ปี

ด้านเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2564-2565 มีกิจกรรมที่กำหนดงบประมาณแล้ว เช่น การสร้างเกษตรมูลค่าสูง (High Value Added) ให้กับเกษตรไทย 149 ไร่ แนวทางหนึ่งที่สำคัญและเร่งด่วนในการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ทางการเกษตร คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ขิง ถั่ว พริกไทย กล้วย ฯลฯ โดยใช้งบประมาณ ร้อยละ 10 ของงบประมาณที่รัฐใช้ในการอุดหนุนภาคการเกษตร ของเจ้าภาพจากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการใน 2 ปี

ด้านสาธารณสุขที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมที่ 1 การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อความมั่นคงแห่งชาติด้านสุขภาพ มีกรมควบคุมโรค และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพ ดำเนินการใน 3 ปี ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565

ด้านสังคม ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) เจ้าภาพดำเนินการ 2 ปี วงเงินงบประมาณแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 500 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินใช้บริหารงานในเบื้องแรก และเงินหมุนเวียนที่ได้จากกองทุนต่างๆ และกิจการอันเนื่องมาจากการจัดการที่ดินที่รัฐจัดให้ประชาชน

ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 “ประชาราษฎร์รวมใจต้านภัยทุจริต” สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) (องค์กรมหาชน) จะเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการ ในปี 2564 จะใช้งบประมาณ 85 ล้านบาท (สนับสนุนการดำเนินการระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยจังหวัดละ 1 ล้านบาท และกิจกรรมส่วนกลาง 3 ล้านบาท และสนับสนุนหรือร่วมสมทบกิจกรรมเฉพาะที่เกี่ยวข้องข้องกับองค์การหรือสาธารณกุศลและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีบทบาทต้านการทุจริตคอร์รัปชัน อาทิ มูลนิธิต้านการทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ 5 ล้านบาท)

ในปี 2565 งบประมาณ 202.5 ล้านบาท (สนับสนุนจากระดับจังหวัดและตำบล เครือข่ายจังหวัดละ 2.5 ล้านบาท และกิจกรรมส่วนกลางระดับประเทศ 5 ล้านบาท และสนับสนุนหรือร่วมสมทบกิจกรรมเฉพาะที่เกี่ยวข้องขององค์การหรือสาธารณกุศล และเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ 5 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีบประมาณในการติดตามและประเมินผลการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 2.5 ล้านบาท กิจกรรมนี้จะได้เงินจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช., งบบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างน้อยร้อยละ 50, ภาษีสรรพสามิต และ/หรือ การสนับสนุนของสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงเงินที่ยึดมาจากคดีทุจริต เป็นต้น

กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 “กระบวนการยุติธรรม มุ่งผลสัมฤทธิ์” มีสำนักงาน ป.ป.ช./ป.ป.ท. ดำเนินการใน 2 ปี ใชงบประมาณ จำนวน 500 ล้านบาท จากงบประมาณแผนบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 “ราชการไทยโปร่งใส ไร้ผลประโยชน์” ก.พ. สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ป.ป.ช.จะร่วมดำเนินการใน 2 ปี ใช้งบปี 2564 จำนวน 200 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 200 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 400 ล้านบาท จากงบประมาณแผนงานบูรณาการทุจริตและประพฤติมิชอบ และงบประมาณปกติของหน่วย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น