ทันทีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเสนอการแบนพาราควอต ด้วยการรับลูกจากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทบทวนมติโดยเร็วที่สุด หลังอ้างว่าไม่พบสารเคมีดังกล่าวตกค้างในสินค้าภายในประเทศ และเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อการยกเลือกพร้อมลงรายเซ็นต์ด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา
ได้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับทางการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย โต้โผเรื่องนี้ ที่มีจุดยืนยกเลิก สารพิษมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจนสามารถเผลักดันเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ทันทีที่เรื่องแดง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. เกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร โพสต์เฟสบุ๊ค ส่วนตัวว่า “คุณไม่หยุด ฉันก็ไม่หยุด !!! ตราบใดที่ยังเห็นผู้บริโภคมีอันตรายอยู่ เราก็ไม่หยุด จะเอาสารพิษอันตรายกลับมาเพื่ออะไรคะ” พร้อมแนบลิงก์เพลง “ยุบเถอะ เลิกเถอะ” ซึ่งเป็นมิวสิค วีดีโอต้านสารพิษของ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงชื่อดัง
ตามมาด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงจุดยืนปกป้องสุขภาพชาวไทยเพราะเป็นบ่อเกิดของโรคอันตราย อาทิ มะเร็ง พาร์กินสัน ฯลฯ พร้อมรณรงค์ขัดขวางกระทรวงเกษตรฯ ที่จะปลุกผีสารพิษดังกล่าว ผ่านคณะกรรมการวัตถุอันตราย อย่างถึงที่สุด
สอดรับจุดยืนเดิมของกระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ปี 2560 สมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 2 คณะ ทั้งด้านสาธารณสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ นักวิชาการด้านสุขภาพ
แม้แต่สภาผู้แทนราษฎร ที่นายเฉลิมชัย และ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบกับรายงานของ กรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่มีข้อเสนอให้แบน 3 สารพิษ ไม่นับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและประชาสังคมเป็นจำนวนมากที่ร่วมเคลื่อนไหวผลักดันการแบนสารพิษร้ายแรงดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น
นอกจากจุดยืนเรื่องสุขภาพของประชาชน ที่นายเฉลิมชัย จะต้องตอบคำถาม เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจผ่านทุนสารเคมีข้ามชาติเป็นความจริงใช่หรือไม่ และ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่จะต้องทำความจริงให้กระจ่างไม่แพ้กัน คือบทบาทในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเรื่องนี้เป็นเช่นใดกันแน่ ???
โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาตั้งคำถามท้าชน นายเฉลิมชัย ที่ตัดสินใจเลือกข้างบริษัทสารเคมีและจะเดินหน้าทบทวนการยกเลิกพาราควอต ต่อคณะกรรมการการวัตถุอันตรายว่า
"อยากให้รัฐมนตรีเกษตรฯ คิดทบทวนให้ดีที่ออกมาหนุนการยกเลิกการแบนสารพิษ เพราะที่ผ่านมา นโยบายพรรคประชาธิปัตย์และกระทรวงพาณิชย์ที่พรรคดูแลอยู่ก็เน้นนโยบายเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหาเสียง ทีมเศรษฐกิจของพรรคชูนโยบายแบนสามสารพิษ พวกเรายังอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์มีที่เหยียบที่ยืนในสังคมไทย มิใช่ผิดคำพูดตลอดกาล" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
ทั้งนี้เมื่อพลิกข้อมูลช่วงหาเสียงต้นปี 2562 แม้ประเด็นนี้ไม่ใช่นโยบายหลัก ของพรรค แต่ก็อยู่ในรายละเอียดในนโยบายย่อย ที่สื่อมวลชนหลายแขนงได้บันทึกไว้ คือ “การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมรถไฟ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
แต่ที่ชัดเจนก็คือเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2562 โดย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ตั้งโต๊ะแถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายและยืนยันตั้งแต่ต้นว่าเห็นด้วยในการยกเลิกสารเคมี 3 สาร ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เห็นด้วย ตอนนี้พรรคไปไกลกว่าการยกเลิกแล้ว เพราะเรามีการผลักดันให้ทำเกษตรอินทรีย์ และใช้สารออร์แกนิคทดแทนสารเคมีดังกล่าว
“ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนและเห็นด้วยที่ให้มีการยกเลิกสารพิษทั้ง 3 ตัว แต่ก็ขอโทษที่ออกมาชี้แจงช้าไป เพราะเราคิดว่าการกระทำสำคัญกว่าการพูด และคิดว่าจะพูดเมื่อผลสำเร็จแล้ว เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่นายเฉลิมชัยเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงคะแนนอย่างเปิดเผย ดังนั้นจะรอดูว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะยอม เพราะเวลานี้กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์เห็นตรงกันให้เปิดเผยมติ” นายปริญญ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปิดท้าย
กลับมาถึงวันนี้ นายเฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคปชป. ยังจำจุดยืนดังกล่าวได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ “ดีแต่พูด ไร้จุดยืน” ดังที่ชาวบ้านจำฝังใจ นี่ยังไม่นับจุดยืนทางการเมืองที่นับวันจะร่อยหรอลงไปทุกที