เรียกร้องเครือข่ายทั่วโลก แบนสารเคมีอันตราย“พาราควอต”อีกครั้ง รัฐไม่ยอมยกเลิก ด้านนักวิชาชี้ชัดผลงานวิจัย อันตราย สารพิษกระทบหนัก ถ่ายทอดจาก สัตว์-พืช สู่คนเข้าสู่กระแสเลือด
ทั่วประเทศหนุนแบนสารพิษ 3 ชนิด
เป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ออกมาเรียกร้องให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เดินหน้าเลิกใช้พาราควอตและสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการเคลื่อนขบวนประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นแถลงการณ์ขอให้มีทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้สารอันตรายดังกล่าว จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกมารับข้อเสนอ และแจ้งว่าจะใช้กรอบพิจารณาใหม่อีกครั้งเพราะก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นอีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนการแบนสารพิษอันตรายทั้ง 3 ชนิด ได้กล่าวว่า รู้สึกสะท้อนใจที่เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเลือกข้างบริษัทสารเคมีและจะเดินหน้าทบทวนการยกเลิกพาราควอต ของคณะกรรมการการวัตถุอันตราย
“อยากให้รัฐมนตรีเกษตร คิดทบทวนให้ดีที่ออกมาหนุนการยกเลิกการแบนสารพิษ เพราะที่ผ่านมา นโยบายพรรคประชาธิปัตย์และกระทรวงพาณิชย์ที่พรรคดูแลอยู่ก็เน้นนโยบายเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหาเสียงทีมเศรษฐกิจของพรรคชูนโยบายแบนสามสารพิษ พวกเรายังอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์มีที่เหยียบที่ยืนในสังคมไทย มิใช่ผิดคำพูดตลอดกาล”
ทั้งนี้ในวงการวิชาการแบนสารเคมี ยังได้มีการพูดถึงข้อมูล การตกค้างของสารเคมีอย่างพาราควอตใน กบในหนองน้ำ ปูนา หอบกาบน้ำจืด และปลากะมัง ที่ได้รับการยืนยันโดยข้อมูล ของผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชี้ว่าสารพาราควอตซึ่งเป็นสารฆ่าหญ้ามีการตรวจพบในกบ ปู หอย แม้ว่าจะเป็นสารที่เน้นใช้กำจัดวัชพืช แต่ก็มีการสะสมไปที่ตัวสัตว์ ข้อมูลในจังหวัดน่านพบว่าในตัวอย่างปูนามีการปนเปื้อนพาราควอต 24- 56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6- 1,233.8 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1-12.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5-7.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
ขณะที่ตัวเลข MRL (Maximum Residue Limit) จากมาตรฐานที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดไว้ว่าต้องมีการปนเปื้อนในสัตว์ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น
เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจน และชี้ชัดถึงพิษของสารเคมีที่หลายคนออกมาเรียกร้องให้แบนสารเคมีอันตรายเหล่านี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง ผศ.ดร.นพดล กิตนะ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความควบคืบหน้างานวิจัย และความอันตรายถึงผลกระทบที่ได้รับจากสารเคมีอันตราย
“โดยหลักแล้ว ในงานวิจัยของผม พูดถึงสารจำกัดวัชพืช3 ตัว คือไกลโฟเซต อาตราซีนแล้วก็พาราควอต ทั้ง3 ตัว พอใช้เยอะก็มีโอกาสตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ว่าตัวที่ถูกหยิบหยกมาเป็นประเด็นค่อนข้างเยอะคือตัวพาราควอต ด้วยความที่เขาตกค้าง การสลายตัวมันใช้เวลานานกว่าตัวอื่น จริงๆ แล้วในเชิงพาราควอต สิ่งที่เรายกเลิกวันนี้ กว่าที่เราจะสลายไปครึ่งหนึ่งมันก็ใช้เวลา อย่างในดินก็เกือบสิบๆ ปี ซึ่งยิ่งเริ่มได้เร็ว ก็จะยิ่งดี
สิ่งที่กำลังจะทำต่อ ในสัตว์กลุ่มเดิม พวก กบ ปู แต่ว่าจะติดตามว่า ถ้าเราตั้งต้นหลังจากปีนี้ที่เขาลดการใช้ หรือจะไม่ใช้กันแล้ว เราจะยังพบการปนเปื้อนอยู่ไหม แล้วมันจะใช้เวลานานแค่ไหนที่มันจะหายไป ก็เป็นโจทย์ที่คิดว่าจะทำต่อ”
สารเคมีดังกล่าวเป็นสารปนเปื้อนในดินที่มีการสลายตัวช้ามาก มีค่าครึ่งชีวิตมากกว่า 10 ปี หมายความว่าต้องใช้เวลากว่า 10 ปี สารเคมีที่อยู่ในดินจึงจะลดไปครึ่งหนึ่ง ยิ่งหากในอดีตมีการใช้สารเคมีต่อเนื่อง ก็จะกินเวลาการย่อยสลายนาน
“ในแวดวงวิชาการเกษตร มีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็นการบูรณาการในการกำจัดศัตรูพืช หรือวัชพืช อย่างเช่นว่า มันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสารเคมีตัวเดียว มันต้องขึ้นอยู่กับวิธีการ แค่การวางแปลงไม่ถูก การปลูกพืชไม่ถูกก็มีผลแล้ว ฉะนั้นในบางครั้งที่มันไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะต้องใช้สารบ้างเหมือนกัน อย่างสารจากสะเดา สารจากพืชมันก็คือสารเหมือนกัน มันก็คือการใช้สารได้เหมือนกัน
การใช้สารถ้าใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช้มากเกินไป ไม่ใช้ต่อเนื่อง มีโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองได้ ก็ถือว่าเป็นการทำงานที่ยอมรับได้
โดยหลักแล้วการใช้สารเคมีทางการเกษตรไม่ใช่เป็นสิ่งที่แปลกอะไร เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วโลก ผลกระทบของมันจริงๆ ทุกครั้งๆ ที่จะเอาสารออกมา เขาก็จะบอกเหมือนกันว่า สารตัวนี้มีผลกระทบอะไร เราควรจะมีข้อระมัดระวังอะไร เพียงแต่ว่าเวลาเรามองอาจจะมองสารเดี่ยวๆ นึกถึงเวลาที่ทำงานจริงๆ ปลูกพืชจริงๆ มันจะมีการใช่สารหลายตัว บางครั้งมันก็เกิดผลที่ ผลรวมกัน แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาที่เราไม่คาดคิดค่อนข้างเยอะ”
เสี่ยงสารพิษ สัตว์-พืช ถ่ายทอดเข้าสู่คน
“มีผลกระทบหมดแน่ๆ แม้กระทั่งสารสกัดจากธรรมชาติคือสารหลายตัวที่เป็นสารเคมีทางการเกษตรก็ได้มาจากธรรมชาติ จริงๆ ของธรรมชาติก็มีผลกระทบด้วยเหมือนกันเพียงแต่ว่า ประเด็นสำคัญคือเรื่องของการที่ใช้ยังไงให้จำกัดการใช้ หรือว่าใช้ยังไงที่มันจะได้มีช่วงระยะเวลาที่มันจะได้พักบ้าง ให้ธรรมชาติได้มีโอกาสที่จะฟื้นฟูบ้าง”
นักวิชาการย้ำถึงผลกระทบผลกระทบจากสารเคมีอันตราย ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตกค้างในสัตว์รวมไปถึงพืชผักและผลไม้ต่างๆ ปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำพิษจะมากน้อยก็แตกต่างกันออกไป ทุกชนิดล้วนส่งผลกระทบ แม้แต่สารที่ได้มาจากธรรมชาติก็ตาม
“สารทุกชนิดมีพิษ ไม่ว่าจะเป็นสารที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอะไรก็ตามแต่ มันขึ้นอยู่ว่าปริมาณที่ได้รับว่ามากเกินไปหรือเปล่า เพราะฉะนั้นแต่ละชนิดบอกไม่ได้ มันไม่มีคำกลางที่จะบอกได้ว่าสารตัวนี้ทำให้เกิดอะไร เพราะว่าสารแต่ละชนิดก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน
สารแต่ละชนิดจะมีความเป็นพิษที่มากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันออกไป. สารบางอย่างอาจจะเป็นสารที่เราเจอในชีวิตประจำวัน สารชนิดนั้นมีพิษน้อยมาก เราก็เลยใช้ในปริมาณที่สูงได้ บางชนิดอาจจะมีพิษสูงมาก เราก็เลยใช้ในปริมาณที่น้อยได้
โดยเฉพาะทางการเกษตร ทุกอย่างก็จะมีเส้นขีดว่าเป็นพิษอยู่เหมือนกัน เราก็เลยมีคำแนะนำในการใช้ ว่าไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป”
นอกจากนี้การปนเปื้อน และการสะสมในร่างกาย เพราะสารเหล่านี้มีความเป็นพิษสูง ซึ่งมักจะมีข่าวปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามีคนกินยาฆ่าหญ้าซึ่งประกอบด้วยสารดังกล่าวเพื่อฆ่าตัวตาย
ทางการแพทย์รับรู้ว่ากินแล้วตาย แต่ที่ต้องให้ความสนใจในปัจจุบันคือกินแล้วไม่ตาย แต่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลทางการแพทย์ว่าการปนเปื้อนเหล่านี้ส่งผลระยะยาวต่อสมอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสมองให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรควัวบ้า มันอันตรายมากกว่าที่คิด
“ถ้าดูจากข่าวมาก็จะเห็นว่า มีรายงานในโรงพยาบาลหลายอันที่เราใช้พาราควอต เราใช้ยาที่เรียกว่าใช้สำหรับฆ่าตัวตาย ก็ใช้ตัวนี้ ความเป็นพิษของเขาค่อนข้างสูง
จริงๆ แล้ว เป็นสารเคมีทางการเกษตรรุ่นแรกๆ พิษก็ค่อนข้างสูงอยู่ เรียกว่ามีพิษค่อนข้างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ ก็ได้รับผลกระทบ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับปริมาณ ฉะนั้นในปริมาณสูงๆ เรารู้ว่ามันเป็นพิษแน่ๆ
แต่ว่าในปริมาณที่มันตกค้างต่ำๆ ยาวนาน อันนี้ก็รายงานจะยังไม่ชัดเจน เพราะว่าในโรงพยาบาลเวลาที่ไปหาหมอ ถ้าไม่ได้เป็นอาการที่แบบว่ากินพาราควอตเพื่อฆ่าตัวตาย แต่ว่าไปด้วยอาการพิษอื่น เป็นเนื้อตาย เป็นอะไรพวกนี้ น่าจะยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงพาราควอตได้ ฉะนั้นหลักฐานทางการแพทย์ก็ไม่พูดถึงเท่าไหร่”
นักวิชาการรายเดิมยังกล่าวถึง ประเด็นสำคัญและผลกระทบที่จะส่งผลในระยาวต่อคนอีกด้วยว่า ต่อให้ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีอันตรายเหล่านี้โดยตรง ก็ยังน่ากลัวตรงที่การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ แล้วสามารถซึมผ่านเสื้อผ้า เข้าสู่กระแสเลือดก็อาจเกิดอันตรายได้ หรือสัตว์ที่เป็นอาหารก็สามารถถ่ายทอดเข้าสู่คนได้
“ประเด็นที่น่าสนใจ เราจะมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการมีฤทธิ์กัดกร่อนของเขา ฉะนั้นต่อให้ไม่ได้กินเข้าไป แต่ว่าหากมีการอยู่ในพื้นที่แล้วมันไปโดนตัวคน ซึมผ่านเสื้อผ้า อาจจะมีผลเกี่ยวกับพิษกัดกร่อนของเขา แล้วถ้าเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด ความเป็นพิษในรูปแบบเฉพาะของเขาที่แตกต่างกันอีก
มุมของผมจะพูดถึง การตกค้างในสิ่งแวดล้อม แล้วก็พูดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานเก่าที่ผมเคยทำมา ก็คือทั้งในปลา หอย ปู กบ ทีนี้ก็มีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่ว่าเวลาที่ผมพูดถึง ผมพูดถึงสารที่ฆ่าวัชพืชทั้ง3 ตัว มันไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผลของพาราควอตตัวเดียว แต่ว่าผมก็จะมีการรายงานที่บอกว่าปริมาณที่ตรวจพบ ซึ่งจากที่ผมใช้เป็นตัวยา เป็นสัตว์ที่เป็นอาหาร ฉะนั้นปริมาณที่มันตรวจพบในตัวสัตว์ก็มีโอกาสที่มันจะถ่ายทอดเข้ามาสู่คนได้ น่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึง
ข่าว:ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **