xs
xsm
sm
md
lg

[คำต่อคำ] SONDHI TALK special : อัยการแถลง สนธิถาม ยังมีที่สำคัญอีกมาก ที่ไม่ยอมพูด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 5 ส.ค. เวลาประมาณ 13.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ไลฟ์สด “SONDHI TALK” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” และช่องยูทูป Sondhitalk กรณีการแถลงผลตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา เมื่อวานนี้ ซึ่งยังมีอีกหลายข้อเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ยอมพูด นายสนธิจะฉีกเเต่ละข้อ แต่ละประเด็นที่อัยการไม่พูด

คำต่อคำ SONDHI TALK [5 ส.ค. 63] : อัยการแถลง สนธิถาม ยังมีที่สำคัญอีกมากที่ไม่ยอมพูด


สวัสดีครับท่านผู้ชม วันนี้เป็นวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2563 สวัสดีครับท่านผู้ชมที่ดูไลฟ์สดในขณะนี้ทางเฟซบุ๊กและทางยูทูป วันนี้เป็นกรณีพิเศษอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมได้ไลฟ์สดไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผ่านไปแค่ 1 วัน เป็นวันพุธ ก็ต้องออกมาไลฟ์สดอีกแล้ว เหตุผลที่ต้องทำวันนี้ก็เพราะว่าเมื่อวานนี้ ก็คือวันอังคารที่ 4 สิงหาคม ทางอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งเจ้าหน้าที่มาหลายคนเพื่อมาชี้แจง แถลงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการสั่งไม่ฟ้องนายบอส หรือวรยุทธ อยู่วิทยา แล้วผมก็มีความรู้สึก ทันทีที่ฟังแถลงจบ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ผมไม่อาจจะกล่าวหาทีมแถลงข่าวว่าโกหก แต่ผมคิดว่าการไม่พูดหลายเรื่อง และปิดบังความจริงอะไรบางอย่าง หรือการปิดบังเรื่องบางเรื่องที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยแล้วไม่ออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมได้ซักถามนั้น เป็นเจตนารมณ์ที่ผมคิดว่าไม่บริสุทธิ์ใจ

เผอิญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากท่านผู้ชม สำคัญตรงไหน ? สำคัญกว่าเรื่องบ่อนที่ยิงกันตาย 4 คน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเสาหลัก 1 เสาหลักของกระบวนการยุติธรรม สำหรับผมแล้ว กระบวนการยุติธรรม เสาใดเสาหนึ่งไม่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีเกี่ยวพันออกมาในรูปลักษณ์ที่ทำให้เห็นแล้วมีความรู้สึกสะเทือนใจว่าคนมีเงิน คนร่ำรวย ไม่ต้องติดคุก สามารถที่จะให้หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาหลัก 1 เสาหลักของกระบวนการยุติธรรมนั้น จัดการฟอกขาว ถ้าอย่างนั้นแล้วประชาชนคนไทยจะพึ่งพาอะไรต่อไปในอนาคต นี่คือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของประเทศ


อีกประการหนึ่ง วันนี้ผมจะพูดให้กับท่านอัยการทั้งหลายที่ทำงาน อัยการดีๆ มีอยู่เยอะ แต่กลายเป็นอัยการระดับทำงาน ที่มีปัญหาคืออัยการผู้ใหญ่ที่อยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุด วันนี้ผมต้องพูดเพื่อให้อัยการทั้งหลายยังสามารถพอจะมีศักดิ์ศรีได้บ้าง และเข้าใจ และผมเชื่อว่ามีหลายท่านเห็นด้วยกับผม


เมื่อวานนี้ท่านอัยการได้แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องจุดยืนของอัยการในกรณีที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา เมื่อผมตัดสินใจแล้ว ผมก็เลยเรียกประชุม เชิญอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ซึ่งก็เป็นเหมือนน้อง เหมือนเพื่อนของผมคนหนึ่ง แล้วอาจารย์ปานเทพ และพวกผม ก็ได้ไปเชิญผู้พิพากษา อดีตหัวหน้าศาล องค์คณะที่ศาลฎีกา ซึ่งท่านเกษียณไปแล้ว มา 2 ท่าน ตลอดจนอดีตอัยการอีก 2 ท่าน เราทำงานกันเมื่อวานทั้งวัน ดูข้อกฎหมายต่างๆ ดูหลักฐานต่างๆ แล้วในที่สุดเพิ่งจะทำงานเสร็จกันเมื่อตี 5 นี่เอง ข้อมูลที่ได้มา ที่ผมจะพูดให้ท่านผู้ชมฟังวันนี้เป็นข้อมูลซึ่งผ่านการกลั่นกรองจากบุคคลซึ่งอยู่ในแวดวงกฎหมาย และคนพวกนี้ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย


ท่านผู้ชมถามผมว่า เมื่อวานมีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องการแถลงของท่านอัยการทั้งหลาย ท่านผู้ชมครับ แถวบ้านผมเขาเรียกการกระทำแบบนี้ว่า แถจนหัวถลอก

เมื่อวานนี้ วันที่ 4 สิงหาคม คณะทำงานอัยการสูงสุดได้มีการแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีท่านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ท่านอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี


ท่านปรเมศวร์ เป็นคนที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักในสังคม ทั้งโซเชียลมีเดีย และประชาชนทั่วไป เพราะท่านจะมีจุดยืนของท่าน คดีหลายคดีที่เกิดขึ้นมา ท่านก็จะอธิบายว่าถ้าเป็นท่าน ท่านมองคดีนี้อย่างไร แรกๆ ผมดูแล้วผมยังชื่นชมท่านมาก แต่พอผมเห็นท่านมาแถลงแบบบ แถจนหัวถลอก ซึ่งผมเข้าใจท่าน ท่านเป็นข้าราชการ ท่านไม่สามารถจะพูดเป็นอย่างอื่นได้ เดี๋ยวจะผิดวินัย แต่ผมเสียดายคุณงามความดีที่ท่านทำมาตั้งนาน จากการแถลงข่าวนี้ก็เท่ากับว่าคุณงามความดีที่ท่านทำมาได้หมดไป

ท่านที่สองคือ นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ท่านที่สาม คือ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ท่านที่สี่ คือ น.ส.เสฏฐา เธียรพิลากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และท่านสุดท้าย คือ คุณประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งหมดนี้ร่วมแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานการสั่งพิจารณาคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา

ผมสรุปเอาเป็นหลักอย่างนี้ก่อนดีกว่า ว่าทั้งหมดที่ผมจะพูดวันนี้ มันจบลงด้วยอะไร แล้วเดี๋ยวผมจะไล่ทีละบทสรุปที่ผมเล่าให้ฟังตอนนี้

ข้อที่หนึ่ง อัยการชุดนี้ออกมาเพื่อยืนยันการทำงานของรองอัยการสูงสุด ว่านายเนตร นาคสุข สั่งการโดยถูกต้อง ไม่ผิด อันที่สอง ก็พยายามบอกว่า ยังมีคดีโคเคนเหลืออยู่นะ สามารถดำเนินคดีได้ ทั้งหมดนี้เหมือนกับว่าปลอบใจประชาชนว่า เดี๋ยวจะรื้อฟื้นคดีใหม่นะ แต่เป็นคดียาเสพติด ท่านผู้ชมครับ อย่าไปหลงทาง เพราะท่านอัยการต่างๆ ที่มีตำแหน่งแห่งที่และแถลงมานี้ ผมคิดว่าแถหมดทุกคน ทุกคนหลีกเลี่ยงประเด็นสำคัญที่สุด 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ คดีนี้อัยการสั่งฟ้องไปแล้วใช่ไหม เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ไม่ยอมพูดเรื่องนี้เลย แต่พยายามพูดป้องกันข้อกล่าวหาว่า รองอัยการสูงสุดมีอำนาจในการยกเลิกคำสั่งได้ คือพูดง่ายๆ ว่า จะอ้างระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดของอัยการว่าสามารถจะทำได้ ซึ่งผมจะเอาข้อมูลและหลักฐานมาโต้แย้ง ว่าท่านทำไม่ได้ สิ่งที่ผมพยายามจะพูดก็คือว่า ผมตั้งข้อสงสัยว่านายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ทำผิดขั้นตอนและผิดกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งตามข้อมูลที่ผมมี น่าจะผิดกฎหมาย เรื่องนี้ต้องพิสูจน์กัน

อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่าเป็นการพูดโดยไม่กล่าวถึงบุคคลต่างๆ ไม่กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ คือตัดตอนไปเลย เพื่อไม่ให้พวกนี้มาเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่คณะกรรมาธิการนี้เป็นตัวที่เกี่ยวข้องมากที่สุด แล้วผมก็มีคำถามเยอะแยะไปหมดที่จะถามท่านอัยการและท่านผู้รู้ทางกฎหมาย ตลอดจนผมต้องถามท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสิ่งที่ผมพูดนั้นมีเหตุมีผล มีหลักฐานแบบนี้่ ท่านคิดว่าท่านควรจะทำอย่างไรต่อ


ผมจะทวนคำพูดของท่านตัวแทนอัยการสูงสุดที่มาแถลง เขาพูดอย่างนี้ครับ "คณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร นาคสุข แล้วมีความเห็นว่านายเนตร นาคสุข ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน และสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณา อันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งต่อมาผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว"



ท่านผู้ชมครับ สาระสำคัญในการแถลงมีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คำแถลง อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่า ยืนยันว่านายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องนั้น ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย ผมเลยจำเป็นจะต้องมาวิเคราะห์ให้ท่านผู้ชมฟัง เพื่อพิสูจน์ว่าคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ ไม่ได้เคารพกระบวนการตามกระบวนวิธีพิจารณาความอาญา และตามรัฐธรรมนูญครับ


ประเด็นที่สอง พยานและหลักฐานเป็นไปตามพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวน และสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏในสำนวน แล้วอ้างว่าไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนมาสั่งคดี คำแถลงนี้่ซ่อนนัย เพื่อตัดตอนความผิดฐานใช้อำนาจนิติบัญญัติของ สนช.แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในฝ่ายบริหาร เป็นการตัดตอนเพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับคำร้องขอหรือผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สนช. ซึ่งมี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้


เรื่องที่ผมจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจะต้องมีใครผิดสักคนในทางใดทางหนึ่งเกี่ยวกับการพิจารณาพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นในสำนวนหรือนอกสำนวนคดีนี้


เรามาที่ประเด็นแรกก่อนท่านผู้ชม ประเด็นแรก คือคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่าอัยการเจ้าของสำนวนเดิมได้สั่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว คดีนี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 และประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าเสียใจมากที่คณะกรรมการยุติธรรม ที่่นายสิระ เจนจาคะ เป็นประธาน มัวแต่สนใจว่าตำรวจทำอย่างไร อัยการทำอย่างไร น่าจะเอาประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงกัน แล้วเอาหลักฐานมาพิสูจน์กันว่าได้มีการสั่งฟ้องจริงหรือเปล่า ถ้ามีการสั่งฟ้องแล้ว แสดงว่าคำสั่งของนายเนตร นาคสุข นั้นผิดกฎหมาย เรื่องนี้มีพิรุธมากมาย ท่านผู้ชม เพราะคำถามมีอยู่ว่า เรื่องดังกล่าว คือเรื่องนายบอส อัยการเจ้าของสำนวนได้สั่งฟ้องไปแล้ว 27 เมษายน 2560 แล้วจู่ๆ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ท่านโผล่มาจากไหน

ท่านผู้ชมตามผมมา ผมจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ท่านผู้ชมเห็นว่าคดีนี้อัยการเจ้าของสำนวนได้ฟ้องไปแล้วเมื่อ 27 เมษายน 2560 หรือ 3 ปีที่แล้ว จริงหรือไม่ ผมขอเริ่มต้นอย่างนี้ก่อนว่า คดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับแล้ว ใช่หรือไม่ ? ด้วยเหตุนี้ตำรวจเมื่อได้รับหมายจับก็ประสานไปองค์กรตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล เพื่อออกหมายจับนายบอส อยู่วิทยา ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ดังนั้นการที่ศาลออกมายจับนั้น จะต้องมีคำสั่งว่าอัยการสั่งฟ้องก่อน ขอหมายจับเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 ได้บัญญัติเอาไว้ชัดเจน ท่านผู้ชมตามผมมา ไม่ต้องไปคิดถึงข้อมูลทางกฎหมายมากมายนัก ผมอธิบายเป็นภาษาง่ายๆ


กระบวนการพิจารณาคดีความอาญาตามมาตรา 141 พูดชัดเจน มีอยู่ 3 ทางเลือก ทางเลือกที่หนึ่ง สั่งไม่ฟ้อง ให้ยุติการสอบสวนและไม่ต้องส่งศาล แต่แจ้งการไม่ฟ้องให้พนักงานสอบสวน นั่นก็คือว่า ถ้าสมมุติว่าตำรวจส่งสำนวนมาที่อัยการ เมื่ออัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรจะฟ้อง หาความผิดไม่ได้ หลักฐานไม่เพียงพอ แล้วพนักงานสอบสวนไม่สามารถจะหาหลักฐานเพิ่มเติมได้ ก็สั่งไม่ฟ้อง แล้วก็ส่งสำนวนนี้กลับไปที่ตำรวจ ให้ตำรวจทราบว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วนะ คุณจะค้านอะไรไหม ถ้าคุณจะค้าน คุณก็แจ้งมา


วิธีที่สอง คือ หากอัยการเห็นว่าควรจะสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะส่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ก็คือประเด็นที่ว่า คุณซักพยานคนนี้ไป พยานคนนี้ให้การแบบนี้ๆ คุณหาพยานเพิ่มเติมได้ไหมที่มายืนยันข้อผิดพลาดของอันนี้ นี่คือการส่งเรื่องกลับให้พนักงานสอบสวนเพื่อที่จะตรวจสอบและสอบสวนเพิ่มเติม


ข้อที่สาม เห็นควรสั่งฟ้อง เห็นว่าผิดจริง ควรสั่งฟ้อง อัยการต้องทำอย่างไรถ้าสั่งฟ้อง ? อัยการต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา หากผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ก็ให้ส่งตัวข้ามแดนมา ในกรณีนี้อัยการเจ้าของสำนวนจึงได้สั่งฟ้องโดยไปขอหมายจับที่ศาลอาญาใต้ และให้ตำรวจประสานอินเตอร์โพล หรือองค์กรตำรวจสากล ออกหมายจับ


ข้อที่ 4 วรรคสี่ ของมาตรา 141 ท่านผู้ชมจำได้ใช่ไหม ข้อที่ 4 วรรคสี่ พูดอย่างนี้ครับ "ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา" ท่านผู้ชมครับ ชัดเจนไหม ? นี่คือกฎหมายมาตรา 141 ท่านรองอัยการสูงสุด ท่านเนตร หรือว่าท่านอัยการสูงสุด วงศ์สกุล เงียบสนิท ท่านไม่โผล่หน้ามาเลยแม้แต่นิดเดียว ให้พวกลูกน้องต่างๆ ออกมาแถจนหัวถลอก ให้ลูกน้องหัวถลอก แต่หัวท่านไม่ถลอกเลย มันชัดเจนแล้วว่า มาตรา 141 วรรคสี่ บอกว่าถ้าอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ผู้ต้องหามา และนี่คือที่มาว่าทำไมอัยการเจ้าของสำนวนถึงยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับนายบอส เพราะมันเข้าวรรคที่สี่ว่า ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ท่านผู้ชมเห็นหรือยังครับ ชัดเจนไหม


ท่านผู้ชมครับ ผมมีข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการ เผยแพร่เมื่อปี 2560 วันที่ 27 เมษายน ระบุว่า บอส ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง ส่งทนายความขอเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีขับรถสปอร์ตหรูชนนายดาบตำรวจทองหล่อเสียชีวิต อ้างเหตุผลเดิมๆ ติดภารกิจต่างประเทศ อัยการลั่น! ไม่ยอม เตรียมขอศาลออกกหมายจับพรุ่งนี้ พร้อมประสานอังกฤษส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็แสดงว่าอัยการสั่งฟ้องแล้ว และหาตัวผู้ต้องหาไม่เจอ เมื่อหาไม่เจอ ทนายมีหน้าที่เลื่อน เขาก็ยอมรับคำชี้แจงของทนายว่าขอเลื่อน เขาไม่เลื่อนแล้ว ผมจะไปหาที่ศาลแล้ว แสดงว่าคำสั่งสั่งฟ้องออกแล้ว ถึงไปขอได้ เพราะฉะนั้นแล้วท่านผู้ชมจะเห็นว่าทั้งหมดนี้ มาตรา 141 มันชัดเจน ปฏิเสธไม่ได้


เจ้าพนักงานสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ได้เห็นควรสั่งฟ้องแล้ว จึงได้ดำเนินการขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อออกหมายจับนายบอส อยู่วิทยา ส่งให้ตำรวจประสานงานกับอินเตอร์โพล เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยเหตุผลนี้ท่านผู้ชมจะเห็นได้ชัดว่าด้วยเหตุผล เฉพาะตรงนี้ก่อน ว่า คดีของนายบอสได้ถูกสั่งฟ้องไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560

ท่านผู้ชมครับ การที่อัยการจะสั่งฟ้องคดีนายบอส อยู่วิทยา นั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีหลักฐานถึงขั้นพิสูจน์แทนศาลว่าผิดหรือไม่ผิด เพราะศาลท่านต้องพิจารณาตามคำร้องของอัยการที่ออกหมายจับนั้น เป็นเหตุสมควรหรือไม่ ท่านผู้ชมครับ เป็นเหตุสมควรหรือไม่ ผมจะอธิบายเรื่องกฎหมายเล็กๆ สั้นๆ ให้เข้าใจ การออกหมายจับนั้น มันมีมาตรา 66 การออกหมายจับมีอยู่ 2 กรณี


กรณีแรก เมื่อมีหลักฐานตามสมควร ว่าบุคคลใด (นายบอส) ได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ก็คือชนคนตาย โทษ 10 ปี เกิน 3 ปี ถูกแล้วข้อที่ 1 นายบอสอยู่ในข่ายนี้ สอง "เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น" กฎหมายบัญญัติไว้แค่นี้ 2 ข้อ มาตรา 66 ปรากฏว่านายบอสอยู่ในสองข้อนี้เต็มๆ เลย


ท่านผู้ชมครับ การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับนั้น แสดงให้เห็นว่าคดีนี้มีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดทางอาญาแล้ว ศาลท่านจึงออกหมายจับให้ตามที่เจ้าพนักงานอัยการได้ร้องขอ แสดงว่าพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้ทำความเห็นด้วยพยานหลักฐานได้ดีตามสมควรแล้ว

ประเด็นที่สอง ที่อ้างว่าการที่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มาเซ็นคำสั่งไม่ฟ้อง ทับซ้อนกับความเห็นคำสั่งฟ้องเดิมนั้น เป็นไปตามระเบียบไม่ได้ คือที่อัยการมาแถลงและแถจนหัวถลอกนั้น ท่านบอกว่า มีอำนาจในการสั่งทับซ้อนได้

คืออย่างนี้ครับท่านผู้ชม ผมจะเรียนให้ทราบนิดหนึ่ง กระบวนการที่เรื่องขึ้นสู่อัยการ ถ้าท่านผู้ชมเป็นจำเลย ท่านมีความรู้สึกว่าคดีที่อัยการพิจารณาอยู่นั้น ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านก็จะทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไป ในการขอความเป็นธรรมก็จะมีหลักการอยู่ว่า มีหลักฐานใหม่ไหม มีโน่นมีนี่ไหมที่จะโต้เถียงข้อกล่าวหาอันโน้นอันนี้ที่อัยการกำลังพิจารณาอยู่ อัยการเขาจะมีหน่วยงานที่พิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรม ถ้าอันไหนมีเหตุผลเขาก็จะรับมา แล้วเขาก็จะแทงเรื่องกลับไปที่อัยการเจ้าของสำนวน ตามที่คดีนาย กขค ร้องขอความเป็นธรรมในคดีนี้ ได้พิจารณาแล้วมีเหตุผลพอ ช่วยพิจารณาดำเนินการให้ด้วย อัยการเจ้าของสำนวนก็จะมานั่งดูว่าที่เขาร้องมานั้นมีเหตุอันควรหรือไม่ ท่านจะขอความเป็นธรรมกี่ครั้งก็ได้ แต่อัยการจะตอบท่านทุกครั้ง เมื่อส่งไป อัยการบอกว่าเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น เรื่องนี้ไม่มีเหตุผล เรื่องนี้ไม่สามารถขอความเป็นธรรมได้ เขาก็จะแทงบอกไป จนกระทั่งในที่สุด อัยการสูงสุด หรือว่าหน่วยงานบอกว่ายุติได้แล้ว ไม่ต้องขอความเป็นธรรม เพราะสิ่งที่ท่านขอความเป็นธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ใช่


ท่านผู้ชมครับ ผมกระโดดข้ามไปนิด เขาขอความเป็นธรรมเรื่องอะไร ? เขาขอความเป็นธรรมด้วยการเอา ดร.สายประสิทธิ์ ที่อยู่พระนครเหนือ อาจารย์ประจำคณะศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เอามาแล้วมาบอกว่ารถที่ตำรวจบอกว่าขับ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น จริงๆ ไม่ใช่ 70 กว่ากิโลฯ อัยการเจ้าของสำนวน และคนที่รับร้องขอความเป็นธรรม พิจารณาแล้วบอกว่าเชื่อไม่ได้ ไม่มีน้ำหนักพอ ก็ตัดทิ้งไปแล้ว แล้วจู่ๆ ก็เอาพยานมาอีก 2 คน คือพยานกลับชาติมาเกิด นายจารุชาติ กับ พล.อ.ท.จักรกฤช มาให้การ อัยการก็ตัดทิ้งอีก ไม่มีน้ำหนัก เพราะเป็นพยานบอกเล่า ท่านผู้ชมเข้าใจใช่ไหม ? แล้วก็ไม่มีหลักฐานด้วยว่าพยานสองคนนี้อยู่ในที่เกิดเหตุ เขาก็ตัดทิ้ง ก็คือง่ายๆ ว่า สองตัวนี้ เรื่องความเร็วของรถจาก ดร.สายประสิทธิ์ กับพยานกลับชาติมาเกิด 2 คนนี้ ได้เคยถูกส่งเข้าไปเพื่อขอความเป็นธรรมแล้ว และเจ้าของสำนวนเขาพิจารณาอย่างดีแล้ว เขาก็บอกว่าเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนัก ตัดทิ้งไปเลย แต่พยาน 2 กลุ่มนี้กลับมาโผล่ทีหลังอีกทีหนึ่ง ท่านผู้ชมเริ่มเข้าใจหรือยัง



เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อเขาตัดพยานทิ้ง มันก็เลยกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ... ผมจะเล่าให้ฟัง มันเป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมาก เพราะว่าท่านอัยการสูงสุด ในขณะนั้นคือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เมื่อปี พ.ศ.2558-2560 ท่านอัยการสูงสุด ท่านชี้แจงมาชัดเจน ท่านบอกว่า เรื่องนี้ได้จบแล้ว เรื่องการขอความเป็นธรรม ไม่มีอีกแล้ว เมื่อไม่มีอีกแล้ว ท่านก็บอกว่า ท่านจะสั่งให้อัยการเจ้าของสำนวนดำเนินคดีสั่งฟ้องนายบอสได้ แล้วท่านก็สั่งให้ ... ท่านพูดอย่างนี้ครับท่านผู้ชม ท่านยืนยันว่าท่านได้พิจารณาความด้วยเป็นธรรมเสร็จแล้ว เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชน และที่ผ่านมาพนักงานอัยการได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหามาตลอดถึง 6 ครั้ง หากสั่งคดีล่าช้าอีก

... สรุปง่ายๆ ว่าผู้ต้องหาขอความเป็นธรรมมาแล้ว 6 ครั้ง แล้วท่านเคลียร์เรียบร้อยหมดแล้วทั้ง 6 ครั้ง หากสั่งคดีล่าช้าอีก อาจเกิดความเสียหายต่อคดี เป็นที่เคลือบแคลงของสังคม และกระทบภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดได้ และวันเดียวกับที่แถลงนี้ เรือโทสมนึก เสียงก้อง ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในยุคสมัยที่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เป็นอัยการสูงสุด เมื่อปี 2558-2560 ได้ยืนยันความตอนหนึ่งว่า "สำหรับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ (เขาอาจจะหมายถึง ดร.สายประสิทธิ์ ที่บอกว่ารถวิ่งจริงๆ ไม่ถึง 100 กว่ากิโลฯ แค่ 70-80 กิโลฯ) ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานเดิม (คือพูดง่ายๆ ว่า คำพูดของ ดร.สายประสิทธิ์ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานเดิม)


จึงให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม และให้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้แจ้งพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวนายวรยุทธ มาฟ้องตามคำสั่งต่อไป" ชัดเจนไหมท่านผู้ชม ผมขอย้ำว่านี่คือการแถลงออกสื่อเพื่อออกหมายจับของ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร คืออัยการสูงสุด และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ย่อมแสดงให้เห็นว่าการร้องขอความเป็นธรรมถึงผู้บริหารสูงสุดของอัยการ คืออัยการสูงสุด แล้ว เป็นที่ยุติแล้ว ดังนั้นการสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด จึงไม่ใช่การกลับมติการร้องขอความเป็นธรรมของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เดี๋ยวผมจะอธิบายตรงนี้ด้วย

แต่นายเนตร นาคสุข สั่งไม่ฟ้อง เป็นการกลับมติของอัยการสูงสุด ซึ่งไม่มีระเบียบอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ ไม่มี เพราะว่าในข้อเท็จจริงแล้ว ทางทีมอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดชุดนี้มาอ้างระเบียบของอัยการว่ามีสิทธิที่จะทำได้ แล้วเอาระเบียบปี 2547 ท่านผู้ชมครับ เราผ่านรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นมาถึง 2 ฉบับ คือ 2550 กับ 2560 แล้วเรายังมีพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ปี 2553 แล้วทำไมที่มาชี้แจงออกรายการไทยพีบีเอส ออกมาชี้แจงว่า เอาระเบียบที่ล้าหลัง ปี 2547 มาใช้ ท่านผู้ชมครับ ระเบียบ เป็นกฎกติกาภายในองค์กรอัยการ จะไปหักล้างพระราชบัญญัติและระเบียบในองค์กรอัยการ จะไปหักล้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และจะไปฝืนกับรัฐธรรมนูญได้อย่างไร


เพราะว่าภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวดที่ 33 บัญญัติเรื่ององค์กรอัยการไว้ชัดเจน สองวรรคแรก มาตราในรัฐธรรมนูญนั้น ท่านผู้ชมอย่าไปสับสน นี่ผมพูดถึงรัฐธรรมนูญก่อน ว่ารัฐธรรมนูญนั้นปกป้องอัยการ มาตรา 248 องค์กรอัยการมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ท่านผู้ชมครับ ข้อความมีต่อไปว่า "พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง" ท่านผู้ชมครับ โปรดสังเกตคำว่า "พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี" ดังนั้นถ้าระเบียบใดทำให้พนักงานอัยการไม่มีอิสระในการพิจารณาคดี ระเบียบนั้นย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นแล้ว ระเบียบปี 2547 ที่เจ้าหน้าที่อัยการระดับสูงของยุคนายวงศ์สกุล เป็นอัยการสูงสุดนั้น จะใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญได้อย่างไร แล้วพนักงานอัยการที่รัฐธรรมนูญเขียน เขาไม่ได้หมายความถึงอัยการสูงสุดนะ เขาไม่ได้หมายความถึงรองอัยการสูงสุดนะ เขาไม่ได้หมายถึงอธิบดีนะ เขาหมายถึงพนักงานอัยการทุกคนที่ต้องได้รับคุ้มครองสิทธิ


นอกจากนี้แล้ว พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ปี 2553 ยังได้บัญญัติในมาตรา 21 ด้วยว่า "พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม" เพราะฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ชัดว่าเมื่อทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ปี 2553 ได้บัญญัติในความอิสระนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ดังนั้นเมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายสำคัญ ไม่เคยให้อำนาจเพิกถอนต่อพนักงานอัยการที่สั่งฟ้องไปแล้ว ด้วยการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคนอื่น หากมีระเบียบเช่นนั้น ย่อมขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 และกฎหมายรัฐธรรมนูญ


ระเบียบของคุณจะไปใหญ่กว่ากฎหมายมาตรา 141 ได้อย่างไร แล้วจะไปใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญได้อย่างไร ท่านผู้ชมต้องเข้าใจนะ


อีกอย่างหนึ่ง การสั่งฟ้องนั้นเป็นการสั่งฟ้องโดยที่อัยการสูงสุดเป็นคนสั่งฟ้อง ผมถามว่า คุณเนตร นาคสุข ไปสั่งได้อย่างไร แม้กระทั่งระเบียบ 2547 ผมจะเล่าให้ฟัง ในระเบียบ 2547 เขามีอย่างนี้ สมมุติว่าผมเป็นอัยการเจ้าของเรื่อง ผมทำเรื่องนี้ไป แล้วผมมีความเห็นไม่ควรสั่งฟ้อง ผมก็ทำเรื่องนี้เสนอขึ้นไปถึงอธิบดี จบที่อธิบดีอัยการ หน่วยไหน ของใครของมัน จบแค่นั้น และถ้าอธิบดีจะมีคำสั่งไม่ให้ฟ้องคดีนี้ ก็จะเป็นคำสั่งจากอธิบดีลงมาถึงผม รองอัยการสูงสุด หรืออัยการสูงสุด จะมาสั่งให้อัยการเจ้าของสำนวนนั้นสั่งไม่ฟ้องไม่ได้ ต้องอธิบดีเป็นคนสั่ง ทีนี้พออธิบดีเป็นคนสั่งแล้ว แล้วกรณีใดบ้างที่รองอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดสามารถจะสั่งได้ นั่นคือสิ่งที่เขาต่อสู้มา ก็คือต้องเป็นกรณีที่ต้นเรื่อง ความเห็นมาจากอธิบดี ถ้าเป็นต้นเรื่องและความเห็นที่อธิบดีดำเนินการตั้งแต่ต้นแล้ว จะต้องเสนอเรื่องนี้ไปที่รองอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด เข้าใจหรือยังท่านผู้ชม


เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ คำถามว่า ถ้าอัยการสูงสุด คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร บอกว่าสั่งฟ้อง ผมถามว่าคุณเนตร นาคสุข คุณอาจจะเอาระเบียบปี 2547 มาใช้กับอธิบดีได้ แต่คุณมีสิทธิไหมเอาไปใช้กับอัยการสูงสุด เพราะไม่มีระบุไว้ มีระบุไว้แค่อธิบดี อัยการสูงสุดต้องเหนือกว่าอธิบดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นงานนี้คุณเนตร นาคสุข ผิดจริงๆ ไม่ใช่ไม่ผิด


ท่านผู้ชมครับ เมื่อเข้าใจหลักการแล้ว ท่านผู้ชมจะเห็นได้ว่า ... ผมจะเล่าไทม์ไลน์ให้ฟัง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เป็นอัยการสูงสุด ปี พ.ศ.2558-2560 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่พิจารณาคดีนายบอส เพราะคดีนายบอสเริ่มปี 2555 แล้วลากมาเรื่อยๆ จนมาถึงยุคคุณพงษ์นิวัฒน์ อัยการสูงสุด เคยบอกว่าร้องขอความเป็นธรรมมา 6 ครั้ง 1-2 ครั้ง ก็อาจจะใช้เวลา กินเวลาครึ่งปี 6 ครั้งก็ 3-4 ปี ก็อยู่ในยุคของคุณพงษ์นิวัฒน์ คุณพงษ์นิวัฒน์ก็เลยบอกว่า ร้องมา 6 ครั้งแล้ว ไม่มีสาระ ยุติได้แล้ว สั่งฟ้องได้

ต่อจากคุณพงษ์นิวัฒน์ไป ก็คือ ศ.พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดคนต่อไป ปี 60 กับ 62 ท่านผู้ชมฟังให้ดีๆ นะครับ แสดงว่า ปี 60-62 คดีนายบอสเงียบกริบ เพราะนายบอสอยู่ต่างประเทศ และกำลังหาช่องทางอยู่จะทำอย่างไร จะเอาพยานกลับชาติมาเกิด 2 คน นายจารุชาติ กับ พล.อ.ท.จักรกฤช เสนอเข้าไปอีกทีก็ไม่ได้ เพราะเขาตีตกไปแล้ว เอาหลักฐานใหม่ที่เคยเสนอไปแล้วถูกอัยการสมัยท่านอัยการสูงสุด ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ตีตกไป ก็ไม่ได้อีก ฉะนั้นรอหน่อยแล้วกัน เพราะว่าคุณเข็มชัย ชุติวงศ์ เกษียณปี 62 ท่านเกษียณเดือนกันยายน 30 กันยายน 62 เกิดเรื่องทันทีเลย ระหว่างนั้นก็เลยคิดสูตรออกมาได้ เขามีคณะกรรมาธิการฯ นี่นา กรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปร้องคณะกรรมาธิการฯ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โน่นนี่นั่น เพราะฉะนั้นแล้วก็เลยมีการเริ่มที่จะมาพิจารณาเรื่องพวกนี้ ท่านผู้ชมตามผมมา แล้วท่านจะรู้สึกว่าเรื่องนี้มันทะแม่งๆ และมันก็สนุกสนานมาก


ผมคิดว่าในขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ นี้ คือทางออกของทีมทนายความนายบอส แล้วก็มีความชัดเจน ความผูกพันของคณะกรรมาธิการบางคนกับทนายความนายบอส หรือกับกรณีของคนซึ่งเกี่ยวข้องหลายสายกัน เพราะฉะนั้นแล้ว มันก็เลยมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว เอาอย่างนี้่ก็แล้วกัน ยื่นคณะกรรมาธิการฯ แล้วเอาพยาน 2 กลุ่มนี้ที่ถูกตีตกไปสมัยที่ยื่นในช่วงแรกๆ เอาไปยื่นอีกทีหนึ่ง โดยใช้คำว่าขอความเป็นธรรม ผมคิดว่าการขอความเป็นธรรมครั้งนี้มีอะไรทะแม่งๆ ผมจะถามท่านผู้ชมอย่างนี้ และผมจะถามท่านอัยการด้วย


ใครเป็นคนร้องขอความเป็นธรรม ? ผู้ต้องหาเป็นคนยื่นร้องขอความเป็นธรรมหรือ ? หรืออัยการได้ใช้อ้างอิงจากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ ของ สนช. คำถามแรก คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมาธิการฯ มีฐานะอะไร ท่านผู้ชมฟังผมดีๆ คณะกรรมาธิการนี้ โดยท่านประธาน ท่านมีฐานะอะไรในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะว่าท่านไม่ได้เป็นผู้ต้องหามีส่วนได้เสียในคดีความ ท่านก็ไม่เข้าข่ายการร้องขอความเป็นธรรม ใช่ไหม ? แต่ขณะเดียวกัน ถ้าคณะกรรมาธิการออกมาในรูปแบบที่อ้างว่าเป็นผลการศึกษา ถ้าเป็นผลการศึกษา ก็ไม่สามารถเข้าเกณฑ์การร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบอัยการปี 2547 ข้อ 48 ได้


คุณณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ท่านให้ความเห็นสารภาพในข้อ 3 ความว่า "ส่วนประจักษ์พยาน 2 คน ก็คือพยานที่กลับชาติมาเกิด ซึ่งมาให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติม โดยคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม" ตรงนี้ล่ะ คณะกรรมาธิการฯ สนช. คุณมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร คุณมีส่วนได้เสียอย่างไร คุณเป็นจำเลยหรือเปล่า คุณก็ไม่ได้เป็น แล้วคุณณัฐวสาพูดออกมาได้อย่างไรว่า ประจักษ์พยาน 2 คนที่กลับชาติมาเกิด มาให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติม โดยคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ข้อความนี้แสดงว่าเป็นพยานที่ถูกอ้างมาจากการงขอของใครล่ะ ? ของใคร ? แสดงว่าพยานที่มาจากกรรมาธิการ ไม่ใช่มาจากพนักงานสอบสวน เพราะฉะนั้นที่จะบอกว่าคุณพิจารณาความตามที่สำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมา ก็ไม่เป็นความจริง คุณโกหก เห็นไหม คือคุณป้ายขี้ไปที่ตำรวจ แล้วตำรวจผิดในตอนต้นในการทำสำนวนบกพร่องหลายประการ ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

แต่การที่คุณบอกว่าทั้งหมดนี้คุณสอบสวนไปตามสำนวนที่ตำรวจส่งมา คุณไม่ได้สอบไปตามสำนวนที่ตำรวจส่งมา คุณเพิ่มเติม เพราะว่าคุณณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา พูดเองว่า ส่วนประจักษ์พยาน 2 คน ซึ่งมาให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมโดยคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม คณะกรรมาธิการนี้ ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการร้องขอความเป็นธรรม จึงถือว่าเป็นพยานนอกสำนวนการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจ ใช่หรือเปล่า ? แล้วคุณพูดได้อย่างไรในตอนแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่าไม่มีพยานนอกสำนวน นี่ใครโกหกใครกันแน่


สาระสำคัญตรงนี้ อยู่ที่ว่าคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและละเมิดความเป็นอิสระของอัยการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือเปล่า


ท่านผู้ชมครับ มาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎ หรือสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา กระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ท่านผู้ชมจะเห็นได้ชัด


อีกประการหนึ่ง คุณรสนา โตสิตระกูล เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ไม่กี่วันมานี้ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ คุณชวน หลีกภัย เพื่อขอรายงานการประชุม บันทึกการประชุม บันทึกมติ ของการลงมติ รวมถึงหนังสือที่คณะกรรมการนี้ส่งไปให้อัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ อยากรู้ว่าหนังสือส่งไปด้วยข้อความอะไร ? ถ้าส่งไปด้วยความขอความเป็นธรรม ถ้าอย่างนั้น คณะกรรมการชุดนี้ผิด ผิดกฎหมาย ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ท่านผู้ชมเข้าใจหรือยังว่าทำไมถึงปิดกันฉิบหายเลยตอนนี้ มันถึงแบ๊ะๆๆ เพราะว่าทำไม เพราะ หนึ่ง ถ้าไม่มีมติคณะกรรมาธิการฯ แต่มีการแอบอ้างคณะกรรมาธิการ ก็แปลว่าคนที่ลงนามมีความผิด และอัยการที่นำเนื้อความจากกรรมาธิการที่ไม่มีการตรวจสอบ ก็มีความผิดเช่นกัน


สอง ถึงจะมีหรือไม่มีมติคณะกรรมาธิการฯ หนังสือนำส่งฉบับนั้น ผมอยากรู้ ประชาชนมีสิทธิรู้ ส่งว่าอย่างไร ? ถ้าส่งว่าร้องขอความเป็นธรรม ก็อาจจะเข้าข่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ สาม ถึงมีหรือไม่มติคณะกรรมาธิการฯ หนังสือนำส่งฉบับนั้นส่งเป็นรายงานการศึกษา ก็ไม่เข้าข่ายการร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบอัยการ ข้อ 48 ที่จะนำไปสู่การกลับมติได้ แปลว่าอัยการแอบอ้างเอามาเป็นข้ออ้างในการขอความเป็นธรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือเปล่า ? และสี่ ถ้าคุณชวน หลีกภัย สมรู้ร่วมคิดด้วย คุณรสนา โตสิตระกูล ก็อาจจะไม่ได้เอกสาร หรือเอกสารสำคัญนี้จะเป็นไปด้วยความล่าช้า

ท่านผู้ชมครับ ผมขอฟันธง คุณรสนาได้ประกาศว่าจะไปยื่นจดหมายทวงถามตามผลกับคุณชวน หลีกภัย ครั้งที่ 2 ยื่นไปแล้วครั้งแรกนะ นัดกันไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วคุณชวนเบี้ยว ไม่ยอมโผล่หน้ามา ก็เลยนัดครั้งที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคมนี้ ที่ผมจะไลฟ์สดอีกครั้งหนึ่ง เวลาบ่าย 2 โมง ที่รัฐสภา เพื่อไม่ให้ใครหลีกภัยจากคดีนี้ได้ ท่านผู้ชมเชื่อผมไหม ผลจะออกมาว่า ยังไม่พร้อม ยังไม่มี หาไม่ได้ ท่านผู้ชมครับ คนที่คุมในเรื่องเอกสารพวกนี้ ก็คือคนที่เป็นวุฒิสมาชิก เขาเป็นพวกเดียวกัน เขาไม่มีวันปล่อยเอกสารตัวนี้ออกมา เพราะถ้าปล่อยออกมามันอันตรายมาก มันมีความเป็นไปได้หลายอย่าง เป็นไปได้ข้อแรก มันไม่มีมติ แต่ว่ามุบมิบทำกันเอง ท่านผู้ชมจำได้หรือเปล่า พล.ต.ท.ศานิตย์ คราวที่แล้วที่ผมไลฟ์สด ที่ผมบอกว่าคุณศานิตย์ออกมาโวยวาย เรื่องนี้ไม่มี มติไม่มี ตกไปแล้ว แล้วหนังสือนี้ส่งไปได้อย่างไร ? ใครเป็นคนส่ง ? ใครเป็นคนเซ็น ? แล้วขอดูมติ ในเมื่อคุณศานิตย์บอกว่าไม่มีมติ แล้วมีมติออกมาไหม ? ยิ่งถ้าไม่มีมติ แล้วมีหนังสือออกไปในนามกรรมาธิการฯ ท่านผู้ชมครับ อิ๊บอ๋าย เห็นหรือยังท่านผู้ชม ว่าอัยการใช้ตัวนี้เสกสรรค์ปั้นแต่งมา เพื่อจะมาบอกว่านายบอสไม่ผิด โดยเอาพยานกลับชาติมาเกิดที่ท่านอัยการสูงสุดยุคสมัย ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เมื่อปี พ.ศ. 2558-2560 ปฏิเสธไปแล้ว และอัยการชุดนั้นเขาก็บอกว่าไม่มีน้ำหนัก เชื่อถือไม่ได้ เป็นพยานที่เลื่อนลอย ไม่มีประจักษ์พยาน ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่ในที่นั้น พวกนี้ก็ผลักดันเอาเข้ามา เพื่อจะให้คดีความเปลี่ยนจากขับรถโดยประมาท เป็นขับรถอยู่ในกฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 80


ท่านผู้ชมครับ อัยการก็เลยได้พยานปากเปล่าที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่จริง รับลูกจากกรรมาธิการฯ ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวน แต่ให้ท่านผู้ชมพิจารณาเปรียบเทียบกรณีข่าวอื่นๆ ที่โต้แย้งพยานและหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย๋ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมาย ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในข้อที่ 6 การสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้มีอำนาจสอบสวน และทำการสอบสวนโดยที่พนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย และไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชน หรือจากแหล่งข้อเท็จจริงอื่นใดที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนมาใช้ในการสั่งคดีได้ ท่านผู้ชมครับ ถามหน่อย อย่างนี้สุจริต เที่ยงธรรม และปราศจากอคติหรือเปล่า ? ไม่จริงเลย ทุจริต ไม่มีความเป็นธรรม และมีอคติเต็มตัว


อีกประการหนึ่ง รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ที่มาให้การ ได้เคยออกรายการทีวีในรายการตอบโจทย์ เขาถามว่าเคยพบทนายความของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือไม่ ไม่ยอมตอบ แต่ที่แน่ๆ ดร.สายประสิทธิ์ นี้ ใช้การวัดความเร็วรถด้วยการถ่ายโทรศัพท์มือถืออีกทอดหนึ่ง ทั้งหมดถูกโต้แย้งหมดแล้ว ผมถามว่าเรื่องดังกล่าวมีการยื่นพยานหลักฐานนี้เมื่อไร วันที่เท่าไร ? ตอบหน่อยได้ไหม ? ดร.สายประสิทธิ์ ลดความเร็ว 177 กิโลเมตรฯ เหลือ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นี่เป็นการร้องขอความเป็นธรรมจากใคร ถ้าเป็นฝ่ายนายบอส อยู่วิทยา ก็ชัดเจนว่า ดร.สายประสิทธิ์ คนนี้เป็นพยานฝ่ายนายบอส ใช่ไหม ? เมื่อเป็นพยานฝ่ายนายบอส ก็ต้องไม่มีน้ำหนักอย่างแน่นอนที่สุด แต่แสดงว่าเรื่องนี้อยู่ในสำนวนการสอบสวนแล้วจริงหรือไม่ ? และประเด็นนี้เคยมีการร้องขอความเป็นธรรมใช่หรือไม่ ? ประเด็นนี้ ว่ารถวิ่งไม่ถึง 170 วิ่งแค่ 70-80 ได้เคยถูกร้องขอความเป็นธรรมแล้ว ก่อนวันที่ 27 เมษายน ที่เขาจะสั่งฟ้อง เกือบ 3 เดือนนะท่านผู้ชม เกือบ 3 เดือนเขาร้องไป แล้วอัยการสูงสุดในยุคของ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ บอกว่าไม่มีน้ำหนัก แล้วในที่สุดอัยการสูงสุดยุคนี้ก็อ้างผู้เชี่ยวชาญปากนี้อีกต่อไป


พยานผู้เชี่ยวชาญนี้ก็คือพยานเก่า มีข้อยุติไปแล้ว ท่านผู้ชม ข้อยุติตั้งแต่ 3 เดือนก่อน ก่อนวันที่ 27 เมษายน 2560 โดยหลักฐานคือคำสัมภาษณ์ของเรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ว่า "สำหรับพยานผู้เชี่ยวชาญไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานเดิม จึงให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม" ใช่หรือเปล่า ท่านประเมศวร์ ท่านอัยการที่ผมเคยนิยมชมชอบ ใช่หรือเปล่า ? ดังนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าสองพยานกลับชาติมาเกิด ซึ่งเป็นพยานปากเปล่าที่เลื่อนลอย มีที่มาจากกรรมาธิการฯ ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานสอบสวน และไม่มีหน้าที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของข้าราชการประจำ และเป็นพยานนอกสำนวนครับ ไหนท่านบอกว่าท่านไม่มีพยานนอกสำนวนไง นี่ล่ะคือพยานนอกสำนวน




เพราะฉะนั้นแล้ว คดีพยานผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักในการร้องขอความเป็นธรรม ยุติแล้ว ด้วยเหตุนี้คำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข จึงน่าจะผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ผิดรัฐธรรมนูญ และอาจจะเป็นโมฆะ ท่านผู้ชมเห็นหรือยัง

อีกข้อหนึ่ง ประเด็นที่ 3 ที่นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวว่า เรื่องโคเคน บิดแล้ว ไม่ยอมพูดเรื่องคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยอมพูดว่านายเนตร ผิด คำสั่งที่สั่งไม่ฟ้องนั้นผิด ไม่ยอม บิดไปว่า เรื่องโคเคน มีหลักฐาน เราดำเนินคดีได้ในเรื่องยาเสพติด

เพราะฉะนั้นแล้ว พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้นั้น ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ นี่คือคำพูดของรองโฆษกอัยการนะ คณะกรรมการฯ ตรวจพบว่าในสำนวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ บอส อยู่วิทยา มีสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาเสพยาเสพติด มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี ท่านผู้ชมตามผมมา เกมมันจะเป็นอย่างนี้ เกมคือยืนยันว่านายเนตร นาคสุข ไม่ผิดในการสั่งไม่ฟ้อง เพื่อให้การสั่งไม่ฟ้องนั้นยืนอยู่เหมือนเดิม แต่จะเอาคดีใหม่ขึ้นมา คือเรื่องยาเสพติด เพราะฉะนั้นคดีฆ่าคนตายด้วยอุบัติเหตุ ด้วยการขับรถประมาท ก็จะจบไป ท่านผู้ชม ถูกไหมที่ผมเล่าให้ฟังนี้ เพราะคดีนี้จำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี ก็อาจจะได้รับการรอลงอาญา ก็คือพูดง่ายๆ ว่า พลิกประเด็นเลย

ท่านผู้ชมครับ ท่านผู้พิพากษาอาวุโสที่ผมปรึกษาด้วยเมื่อคืนนี้ แล้วก็ข้อเขียนของท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านพูดชัดเจน ท่านพูดบอกว่า มาตรา 291 คุณจะขับรถโดยประมาทหรือไม่ประมาท เมื่อมีการตายเกิดขึ้น คุณต้องขึ้นศาล แล้วถ้ายิ่งนายบอสขับรถไปชนดาบตำรวจ เรื่องเร็วเท่าไร วันนี้เราพิสูจน์ได้แล้วมันเกินกว่า 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มัน 100 กว่า แต่ร้อยกว่าเท่าไรเท่านั้นเอง ชนแล้วลากศพไปถึง 200 เมตร จากมาตรา 291 ขับรถโดยประมาท กลายเป็นมาตรา 288 ก็คือเจตนาฆ่า โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต ท่านผู้ชมเข้าใจหรือยัง พวกนี้พยายามจะพลิกว่าสั่งไม่ฟ้องตรงนั้นจบไปแล้วนะ พิสูจน์ไปแล้ว จบไปเรียบร้อยแล้ว พิสูจน์จะจริงหรือไม่จริง ไม่สนใจ เอาอันใหม่ก็แล้วกัน เพื่อสยบความไม่พอใจของสังคม เอาโคเคนก็แล้วกัน โคเคน โทษ 6 เดือน ถึง 3 ปี เผลอๆ อาจจะรอลงอาญา ท่านผู้ชมเข้าใจหรือยัง วิชามารเขาสุดยอดนะ เชื่อผมสิ เขาดำเนินสายนี้อยู่

ทีนี้ ท่านผู้ชมต้องรู้ว่าคำแถลงของคุณณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในข้อ 5 ท่านแถลงว่า "ส่วนประเด็นที่ปรากฏตามข่าวว่ามีหนังสือของหนังสือมหาวิทยาลัยมหิดลแจ้งพนักงานสอบสวนว่าตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหานั้น ไม่ปรากฏเอกสารดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานค้ายาเสพติดแต่อย่างใดด้วย"

ท่านผู้ชมครับ ก่อนหน้าที่คุณณัฐวสาพูด พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รายงานว่าโคเคนที่ตรวจพบนั้นมาจากหมอฟัน ต่อมาทันตแพทย์ทั่วประเทศจับโกหกได้ ก็เลยกลับลำไปว่าอาจจะเป็นผลของยาปฏิชีวนะ การรายงานเป็นเท็จ

เอ๊ะ ท่านผู้ชมครับ ระหว่างตำรวจ โดยที่ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ เป็นปากเสียงให้ กับ น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา บอกว่าหลักฐานทางนี้ไม่มี ไม่ได้เสนอเข้ามา หาไม่เจอ ใครคนใดคนหนึ่งต้องโกหกใช่ไหมท่านผู้ชม ? คือคณะทำงานแถลงว่ามีผลตรวจเลือดของนายบอส อยู่วิทยา พบสารโคเคน แต่คุณณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ แถลงข่าวก่อนหน้านั้นไปอีกทางหนึ่ง ว่า ไม่ปรากฏเอกสารดังกล่าว การแถลงข่าวของคุณณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ รวมถึงอัยการคนใดถอดหลักฐานชิ้นนี้ออกไปหรือเปล่า ? และจะต้องมีอัยการคนใดต้องได้รับบทลงโทษนี้หรือเปล่า ? เข้าใจไหมท่านผู้ชม

หลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาฯ พิสูจน์ชัด เอ๊ะ แล้วหลักฐานนี้หายไปไหน ? ถ้าสมมุติตำรวจบอกว่าใส่ไปในสำนวนการสอบสวนนี้ ถ้าใส่ในสำนวนการสอบสวนนี้ อัยการบอกไม่มี ถ้าสมมุติ อัยการที่ร่วมมือในเรื่องนี้ถอดหลักฐานชิ้นนี้ไป ทำไมต้องถอดหลักฐานชิ้นนี้ไป เพราะว่าถ้าใส่หลักฐานชิ้นนี้ไปก็แสดงว่าขับรถเมา เมายา ถึงแม้ว่าอัยการคนหนึ่งจะไปให้การในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เมื่อวานนี้ หรือเมื่อวานซืน บอกว่ากฎหมายไม่ได้ระบุ ระบุอย่างเดียวว่าต้องเมาถึงขับรถโดยประมาท ไม่มีอย่างอื่น คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าสูบโคเคนแล้วเมา แล้วไม่โดน แต่เขาลืมดูพระราชบัญญัติการจราจร พ.ร.บ.จราจร พูดชัด "ดื่มเหล้าหรือว่าอื่นๆ ที่ทำให้เมา" โอ้โห มันช่วยกันขนาดนี้ ท่านผู้ชมเห็นหรือยัง

อย่างไรก็ตาม นายประยุทธ์ เพชรคุณ ว่า นี่คือหลักฐานใหม่ที่นำไปสู่การรื้อฟื้นคดีได้ เขาพูดราวกับว่าการสั่งฟ้องของอัยการที่มาพร้อมหมายจับที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นั้นไม่มีความหมาย แม้คดีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นจนถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ผมคิดว่าคำแถลงข่าวนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข ผมว่าเรื่องนี้ผิดปกติและไม่ถูกต้อง ผมรับไม่ได้


เมื่อคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ตั้งแต่แรก ประเด็นเรื่องโคเคนย่อมไม่ใช่หลักฐานใหม่ ท่านผู้ชม แต่ว่าท่านรองโฆษกอัยการบอกว่าเป็นหลักฐานใหม่ แต่ถ้าคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร ไม่ใช่เป็นคำสั่งที่ถูกต้อง ผิด เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องโคเคนไม่ใช่หลักฐานใหม่ มันเป็นคนละคดีกัน โดยประเด็นที่แถลงข่าวของคณะทำงานอัยการนี้ ราวกับว่าโคเคนเป็นประเด็นเรื่องคดีข้อหายาเสพติดอย่างเดียวเท่านั้น เข้าใจหรือยังท่านผู้ชม พลิกแล้วไง เอาเฉพาะยาเสพติด แต่ประเด็นหลักก็คือว่า คนของคุณรองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ชอบ โดยผิดกฎหมาย ผิดระเบียบทุกประการ ตรงนี้คุณไม่พูดสักคำ

ความจริงแล้วประเด็นโคเคนเป็นการตอกย้ำว่ามีการเสพยา จึงเป็นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าขับรถโดยประมาทนั้นถูกต้องแล้ว ประเด็นโคเคนจึงเป็นหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งยาเสพติด และขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงความตาย และไม่ใช่เป็นการรื้อคดีใหม่ ไม่ใช่ ท่านผู้ชม อัยการต้องเพิกถอนคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ต่างหาก จึงจะถูกต้อง

อีกประการหนึ่ง น่าสนใจมากท่านผู้ชม อัยการที่ทำคดีนี้ในยุคสั่งไม่ฟ้อง ต้องแบ่งให้ถูกต้องนะ อัยการคดีนี้ในยุคสั่งไม่ฟ้อง กับอัยการที่ทำคดีในศาลอาญาใต้ ในยุคสั่งฟ้อง คนละชุดกัน ในยุคสั่งไม่ฟ้อง มีผู้ใหญ่ในสำนักงานอัยการสูงสุดกำกับดูแลอยู่ตลอดเวลา ท่านผู้ชมรู้ไหมว่าปัญหาเรื่องรถขับรถเท่าไร มันมีเบื้องหลังอยู่ประเด็นหนึ่ง ไม่มีใครพูดถึงเลยแม้แต่นิดเดียว มันมีพยานสำคัญคนหนึ่ง คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ เป็นอาจาย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อ ว่าขณะเกิดเหตุ ดร.สธน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชการ ให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิดวัตถุพยานที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหา พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปในที่เกิดเหตุ


ดร.สธน ได้ทำรายงาน คิดคำนวณ ส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุ รถผู้ต้องหาแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท่านผู้ชมครับ แต่ข้อความดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันนี้ก็คือความผิดพลาดของตำรวจล่ะ มิหนำซ้ำ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการคิดนวณ หาความเร็วของรถ ได้ประมาณการแล้วว่าผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานพยานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

ท่านผู้ชมครับ ผมสรุปให้อย่างนี้ก็แล้วกัน คำแถลงของพวกอัยการทั้งหลายเมื่อวานนี้ ข้อที่ 1 คำแถลงนี้พยายามเน้นย้ำทุกครั้งว่าคำสั่งไม่ฟ้องเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว คำสั่งไม่ฟ้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหลักฐานที่กล่าวมานั้นก็สามารถจะอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้ ประกอบกับคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้

ข้อที่สอง คำแถลงนี้สวนทางกับเจตจาของการแถลงข่าวในข้อที่ 6 สวนทางแล้วนะ เขาสวนทางกันเองนะ ของ น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันทางกฎหมายและอาญษ ซึ่งออกมาให้ความเห็นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ว่า อัยการไม่มีอำนาจเอาข้อเท็จจริงจากสื่อสารมวลชน หรือจากแหล่งข้อเท็จจริงอื่นใดที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนมาใช้ในการสั่งคดีได้ เราควรจะมีบทลงโทษกับ น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ นี้ได้อย่างไร

ข้อที่สาม ประเด็นเรื่องความเร็ว ความจริงไม่ต้องมีหลักฐานใหม่ เพราะว่ากรณีการร้องขอความเป็นธรรม กรณีนำพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ นั้น ได้เป็นที่ยุติตามระเบียบและกฎหมายแล้ว ตั้งแต่แรกแล้ว เขาร้องขอความเป็นธรรมมา และตั้งแต่แรกแล้ว อัยการแจ้งไปแล้วว่าน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะหักล้างหลักฐานเดิมได้ และร้องเรียนถึงอัยการสูงสุดในเวลานั้นแล้ว กรณีนี้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้จึงดำเนินการต่อด้วยการให้เจ้าพนักงานอัยการสั่งฟ้องและศาลออกหมายจับ


ประเด็นที่ห้า สรุปใครต้องทำอะไร ? ท่านผู้ชมครับ อันแรกสุด ต้องเพิกถอนคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการ ซึ่งไม่ชอบด้วยระเบียบ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 141 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องและขอหมายจับแล้ว และศาลอาญากรุงเทพใต้ก็เห็นชอบด้วย ประการที่ 2 ต้องเอาผิดเจ้าพนักงานสอบสวนและอัยการที่ทำให้หลายข้อหาหมดอายุความไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งปกปิดข้อมูลและไม่สั่งฟ้องหลายข้อหา บิดเบือนข้อเท็จจริง ประการที่ 3 ต้องเอาผิดพยานเท็จในคดีนี้ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่ให้การอันเป็นเท็จ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ต้องโดนดำเนินคดีข้อหาให้การเป็นเท็จ ประการที่ 4 ต้องเปิดเผยรายงานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัยรัฐบาล คสช. หากมีการแอบอ้างโดยไม่มีมติคณะกรรมาธิการฯ หรือการทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแทนผู้อื่น แทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม ย่อมต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ประการที่ 5 จะต้องรื้อและติดตามอัยการชุดนี้อีกหลายคดีที่ไม่ทำหน้าที่ในการสั่งฟ้องเพื่อช่วยเหลือคนในฝ่ายรัฐบาลจำนวนมาก รวมทั้งคดีที่ไม่อุทธรณ์คดี อย่างเช่น ของคุณโอ๊ค พานทองแท้ ประการที่ 6 ต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปประสานองค์กรตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ให้ยกเลิกหมายจับ ท่านผู้ชมครับ คุณไปขอหมายจับจากศาลอาญาใต้ แต่คุณจะยกเลิกหมายจับ คุณไม่ไปขอยกเลิกจากศาลอาญาใต้ เป็นการกระทำปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คุณไม่ไปขออาจจะเพราะคุณรู้ว่าศาลอาญาใต้พิจารณาแล้วว่าอัยการสั่งฟ้องแล้ว ถ้าไปขอถอนหมายจับคุณอาจจะไม่มีคำตอบ ตำรวจต้องประสานอินเตอร์โพลออกหมายจับต่อ เพราะศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่ได้เพิกถอนหมายจับ ประการที่ 7 เมื่อคดีนี้มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะขับรถด้วยความประมาท หรือเจตนา ล้วนแล้วแต่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งสิ้น ไม่ใช่กลายเป็นผู้รอดทุกข้อหา ประการที่ 8 เนื่องจากคดีนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กร ป.ป.ช. ซึ่งมีแต่คนในฝ่ายรัฐบาลที่ได้รับการคุ้มครองและทำลายฝ่ายตรงข้าม ทำให้ประชาชนไม่มีใครเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ เมื่อประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ประเทศชาติก็ล่มสลาย ประการที่ 9 ขอให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบ เป็นหูเป็นตา จับผิด จับโกหก และแชร์ เพราะการจับได้ไล่ทันทางสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงและทำให้ความเลวร้ายนั้นลดลงได้ ประการสุดท้าย ถึงเวลาต้องมีการปฏิรูปตำรวจและอัยการทั้งหมดได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าทุกฝ่ายตรงกันข้ามต้องผิดหมด ยกเว้นเศรษฐี และคนในญาติพี่น้องของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่มีวันติดคุก

ท่านผู้ชมครับ วันนี้ผมพูดให้กับประชาชนที่รักความเป็นธรรม และผมพูดให้กับท่านอัยการจำนวนมากที่เป็นคนดี แต่อึดอัดใจที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ทำหน้าที่โดยสุจริต โดยเที่ยงธรรม และโดยไม่มีอคติ


ท่านผู้ชมครับ ท่านอัยการทั้งหลายครับ ผมต้องขอโทษที่ผมเรียกร้องให้อัยการนั้นเลิกเป็นอิสระ ผมยังยืนยันอยู่ พวกท่านต้องมีเจ้าภาพ ถ้าท่านไม่มีเจ้าภาพ ท่านจะเจอเรื่องแบบนี้ตลอดเวลา อย่างน้อยที่สุดถ้าท่านมีเจ้าภาพ อย่างน้อยที่สุด ประชาชน สังคม สามารถจะทุ่มเทและไปเอาเรื่องกับคนซึ่งเป็นเจ้าภาพได้ อย่าไปสนใจว่าใครมาเป็นเจ้าภาพ อย่างน้อยมีตัวตนให้เรา เป็นเป้าให้เราไปเล่นงานได้ ท่านผู้ชมครับ วันศุกร์นี้ผมจะเอาเรื่องอัยการเกาหลี ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม มาดูว่าการทำงานของอัยการเกาหลี กับการทำงานของอัยการไทย ต่างกันตรงไหน

ท่านผู้ชมครับ ตอนนี้ผมคิดว่าน่าจะประมาณชั่วโมงเศษๆ แล้วที่ออกมา วันศุกร์นี้ท่านผู้ชมอย่าพลาดนะครับ จะเป็นเรื่องอัยการกับนายบอส ภาค 2 แล้วก็มีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก วันนี้ผมต้องขอลาไปก่อนแค่นี้ เมื่อคืนนี้ไม่ได้นอนทั้งคืนเลย เพราะมัวมุ่งทำงาน ต้องขอขอบคุณอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ท่านผู้พิพากษาอาวุโสที่เกษียณแล้ว ก่อนหน้านั้นท่านเป็นหัวหน้าองค์คณะศาลฎีกา 2 ท่าน และอดีตอัยการอีก 2 ท่าน ที่มานั่ง วันนี้ทั้งหมดเป็นผลพวงจากการประชุมและได้ความรู้ ข้อกฎหมาย ทุกอย่าง มาจากท่านผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

วันนี้ยังยืนยันนะครับว่าต้องยกเลิกคำสั่งไม่ฟ้องของคุณเนตร และต้องดำเนินคดีกับคุณเนตร เราไม่ควรปล่อยให้รองอัยการสูงสุดคนนี้ลอยนวลไปได้ หมดยุคหมดสมัยเสียทีที่พวกคุณปกป้องพวกกันเอง แล้วคุณใช้เท้าขยี้กระบวนการยุติธรรม ทำให้จิตใจของประชาชนชอกช้ำ หมดยุคเสียทีที่จะบอกว่าคุกมีเอาไว้ขังคนจน ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะมีแสนล้าน 2 แสนล้าน หรือไม่ว่าจะไม่มีเลยแม้แต่บาทเดียว ความยุติธรรมต้องถึงเท่าเทียมกันหมด และอัยการ วันนี้อัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ร้ายในกระบวนการยุติธรรม อย่างที่ผมบอกล่ะครับ ผมเริ่มด้วยรายการ แถจนหัวถลอก และผมก็จะจบด้วยคำพูดว่า ก็ยังคงแถจนหัวถลอก เช่นกัน สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น