ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ขาใหญ่เฟซบุ๊กกับทฤษฎีสมคบคิด จากวันที่ผิดเต็มๆ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จวันมหามงคลของคนไทย ถึงตัวเลขที่ชี้ชัดเมินกฎหมายไทย ทำคล้ายรู้เห็นกับเว็บหมิ่นฯ ปล่อยลอยนวลนับพันๆ
จากจุดเริ่ม กรณี “เฟซบุ๊ก” ขาใหญ่โซเชียลมีเดียของโลก ยอมรับว่า กระทำการผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ กรณีที่ระบบของเฟซบุ๊กมีการแปลที่ทำให้เกิดคำไม่เหมาะสม และไม่ถูกต้องบนหน้าเพจ “ไทยพีบีเอส” ในระหว่างที่มีการดำเนินการถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญของคนไทย ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ
ว่ากันว่า มีเสียงเรียกร้องให้ทางการไทยตรวจสอบเฟซบุ๊กไปถึงกรณีอื่นๆ ด้วย เพราะมีหลายกรณีที่เฟซบุ๊ก ถูกตั้งข้อสังเกต ทำไมเฟซบุ๊กไม่เคยเคารพกฎหมายไทยเลย มิหนำซ้ำ ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขณะที่การขายของออนไลน์เป็นช่องทางทำมาหากิน ไลฟ์สดขายของของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เฟซบุ๊กกลับตั้งกฎ และแบนเพจ หรือลดการมองเห็น ส่งผลให้คนเห็นน้อยลง คนค้าขายไม่มีทางเลือกยิ่งทุกข์หนักกว่าเดิม
นี่ก็สะท้อนว่า แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลกที่เข้ามาทำมาหากินกับคนไทยสังคมไทยที่มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กติดอันดับต้นๆ ของโลก แทนที่จะช่วยเหลือเกื้อหนุนคนไทยกลับเมินเฉยต่อความรู้สึกคนไทย โดยเฉพาะการเพิกเฉยเป็นช่องทางสื่อสังคมที่ปล่อยให้มี ยูอาร์แอล หรือ เว็บหมิ่นฯ เว็บผิดกฎหมาย กลาดเกลื่อนโดยที่ไม่มีความจริงใจจะจัดการ ปล่อยลอยนวลมากมาย
มีข้อมูลที่น่าสนใจมากว่าเมื่อวันก่อน “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุถึงการเปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” http://facebook.com/DESMonitor เป็นช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชม. พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมาย และตอบกลับ แนะนำวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏว่า เช็กกันแทบไม่ทัน เพราะมีผู้ส่งเว็บผิดกฎหมายเข้ามาจำนวนมากนับ 1,000 ยูอาร์แอล ต่อวัน ส่วนมากใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทาง !
แว่วว่า ทุกครั้งที่เฟซบุ๊กถูกเรียกมาคุยเรื่องนี้ ตัวแทนในไทยก็มักจะบ่ายเบี่ยง เลี่ยงว่า ต้องส่งข้อมูล คำร้องขอ หรือกระทั่งคำสั่งศาลไทยไปที่สิงคโปร์ ที่เป็นสำนักงานภาคพื้น สำนักงานในไทยดูแลแค่เรื่องการตลาด
ทุกๆ ครั้ง ก็จะบ่ายเบี่ยงตลอดเวลา การที่ทางการไทยส่งเรื่องผิดกฎหมายไทย หรือ เว็บหมิ่นฯ ให้ดำเนินการให้ก็ค้างเติ่งไว้เหมือนไม่หวั่นเกรงว่าจะกระทบความรู้สึกคนไทย มิหนำซ้ำ กลับตอบว่า เฟซบุ๊กต้องให้ความสำคัญในเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพ” ของผู้ใช้ และย้อนถามทางไทยไปกลั่นแกล้งบุคคลเหล่านั้นหรือไม่ เทียบกับยูทูปแล้วเฟซบุ๊กจึงเป็น “ตัวปัญหา” มากกว่า
ยิ่งไปดูสถิติย้อนไปก่อนหน้าตอกย้ำกันอีกที โดยในรอบ 7 เดือนแรกของ ปี 2563 กระทรวงดิจิทัลฯ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิด หรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล จากจำนวนที่กระทรวงได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล และมีการส่งศาล 7,164 ยูอาร์แอล
สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งข้อมูลเข้ามา พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก และมีช่องทางอื่นๆ บ้าง
ข่าวว่า “ดีอีเอส” ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้กับ บก.ปอท. จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล พร้อมพยาน หลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายแล้ว
งานนี้ เฟซบุ๊กจะว่าอย่างไร ? หลักฐานต่างๆ มันชี้ว่า เป็นแพลตฟอร์มที่บรืการในไทย แต่ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้ความเคารพกฎหมายไทย และรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมไทยเลย
ถ้าเป็นสำนวนไทยๆ ก็ต้องบอกว่า “เข้ามากินบนเรือน ขี้บนหลังคา” แบบนี้ไม่มีเสียดีกว่ามั้ย ?
** จับตาฟื้นคดี “บอส” จากข้อมูลใหม่“โคเคน-ความเร็วรถ” และข้อกฎหมายที่ว่า คดีที่อัยการสั่งฟ้องไปแล้วถือว่าเข้าสู่กระบวนการของศาล อัยการคณะอื่นจะมากลับคำสั่งไม่ได้ !!
กรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากการขับรถชน “ดาบตำรวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ” สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยังคงเป็นประเด็นร้อน และเพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นทุกวัน
เพราะขบวนการ “ปิดคดี” แบบค้านสายตาประชาชนเช่นนี้ ทำให้สังคมทนไม่ได้ ในความรู้สึกที่ว่าคดีนี้ “อำนาจเงิน” อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นคือ “ตำรวจ” และขั้นกลาง คือ “อัยการ” ตัดตอนไม่ให้คดีไปถึงศาล... จึงมีเสียงเรียกร้องกระหึ่ม ให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง พยาน หลักฐาน ต่างๆ
แม้ทางตำรวจ และอัยการ จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน หาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะเห็นมานักต่อนักแล้วว่า ตั้งคนกันเองขึ้นมาสอบสวนคนกันเอง สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
“ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็รับรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนได้ดี จึงสั่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นคนกลาง ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมี “อาจารย์ วิชา มหาคุณ” เป็นประธาน พร้อมให้อำนาจในการเรียกข้อมูล พยานหลักฐาน พยานบุคคล มาตรวจสอบเพื่อความกระจ่าง พร้อมรายงานความคืบหน้า ทุกๆ 10 วัน กำหนดเวลาการสรุปผลใน 30 วัน
คล้อยหลังที่ “ลุงตู่” สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ไปเพียง 2 วัน “จารุชาติ มาดทอง” พยานคนสำคัญที่มีส่วนในการพลิกคดี ก็ได้เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ด้วยอุบัติเหตุ ขี่รถมอเตอร์ไซค์ชนคู่กรณีที่เพิ่งออกมาจากร้านเหล้าร้านเดียวกัน ที่เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจดูกล้องวงจรปิด แล้วก็สรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ
ยิ่งทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมมันช่างบังเอิญเช่นนี้ หรือว่ามีเงื่อนงำ เป็นการ “ตัดตอนพยาน” เพราะหาก “จารุชาติ” ถูกเรียกตัวมาสอบใหม่ อาจจะพลิกลิ้นก็เป็นได้
เพราะคำให้การของ “จารุชาติ” ในฐานะประจักษ์พยาน บอกว่า ขับรถมาตามหลัง “ดาบวิเชียร” เห็นดาบวิเชียร ขี่รถจักรยานยนต์ เปลี่ยนเลนจากซ้ายสุดเข้ามาเลนกลาง และปาดไปเลนขวาสุดด้านติดเกาะกลางถนน ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ “บอส” ขับรถมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.และชนเข้า จึงเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ประมาท คนที่ประมาทคือ ดาบวิเชียร
การตายของ “จารุชาติ” จึงเป็นประเด็นร้อน ซ้อนขึ้นมาในคดีของ “บอส” ยิ่งมีการขุดประวัติของ “จารุชาติ” ก็พบโยงใยความสัมพันธ์กับ อดีต ส.ว.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ให้ที่พักพิงอาศัย และทำงานที่สโมสรฟุตบอล “เชียงใหม่ยูไนเต็ด” ซึ่งมีอดีต ส.ว.คนนี้ เป็นประธานสโมสร โดยมีบริษัทในเครือกระทิงแดง ของ “ครอบครัวอยู่วิทยา” เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่
จิ๊กซอว์ที่ว่าทำไม “จารุชาติ” มาเป็นพยานในคดีนี้จึงชัดเจนขึ้น !!
คราวนี้สังคมก็ยิ่งลือกันหนัก ปักใจกันว่าการตายครั้งนี้มีเงื่อนงำ ... และก่อนที่ศพของ “จารุชาติ” จะถูกทำการฌาปนกิจ แล้วเหลือไว้แต่ความค้างคาใจ “ลุงตู่” จึงสั่งอายัดศพ เพื่อมาทำการตรวจพิสูจน์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้งให้สิ้นข้อสงสัย
แม้คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา จะไม่สามารถเรียกตัว “จารุชาติ” มาให้ปากคำได้แล้ว ... แต่ก็ยังมีพยานสำคัญอีกปากหนึ่ง ที่ให้การสอดคล้องกับจารุชาติ คือ “พล.อ.ท.จักกฤช ถนอมกุลบุตร”
แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่สังคมเห็นว่ามีความขัดแย้งของทั้งสองสำนวน และพยายามขุดคุ้ยคือ เรื่องความเร็วของรถเฟอร์รารี่ ที่ “บอส” ขับในขณะเกิดเหตุ ซึ่งตามสำนวนเดิม คิดคำนวณโดยผู้เชี่ยวชาญของตำรวจ ระบุว่า ความเร็วประมาณ 177 กม./ชม. แต่ตามสำนวนใหม่ที่สั่งไม่ฟ้อง ตามที่ “ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม” อาจารย์ประจำ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คำนวณออกมาว่ามีความเร็วแค่ 76 กม./ชม. ซึ่งไม่เกิน 80 กม./ชม. ตามที่กฎหมายกำหนด
เรื่องความเร็วของรถนี้ “ดร.ลอย ชุนพงษ์ทอง” นักคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ได้ทำคลิปหลายตอน พิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ให้เห็นจะๆ ว่า “บอส” ขับรถความเร็วใกล้เคียง 177 กม./ชม. บวกลบไม่มาก ซึ่งเกินกฎหมายกำหนดแน่นอน
อีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากคือเรื่องผลตรวจพิสูจน์จากคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาฯ ระบุพบสารเสพติด “โคเคน” ในตัว “บอส” แต่ไม่ปรากฏในสำนวนคดี ซึ่งตำรวจอ้างว่า เป็นสารโคเคนตกค้างจากการใช้ยาชา รักษาฟัน เรื่องนี้ก็มีทันตแพทย์ก็ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่มีการใช้ยาชาที่มีส่วนผสมของโคเคน มาเป็นร้อยปีแล้ว
สองประเด็น ทั้งเรื่องความเร็วของรถ และเรื่องโคเคน กลายเป็นข้อถกเถียงที่ต้องพิสูจน์หาความจริงกัน เพราะเป็นจุดสำคัญที่จะพลิกคดีกลับมาอีกครั้งได้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อกฎหมาย ที่อัยการออกมาชี้แจงถึงเหตุผล 7 ข้อ ที่สั่งไม่ฟ้อง แต่ก็มีนักกฎหมายออกมาโต้แย้งแทบทุกข้อ โดยเฉพาะคดีนี้ อัยการสำนักงานอัยการอาญากรุงเทพใต้ ได้สั่งฟ้องไปแล้ว เรื่องเข้าสู่ขั้นตอนของศาลไปแล้ว เพียงแต่ยังนำตัว “บอส” มาขึ้นศาลไม่ได้ เพราะหนีคดีไปต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ อัยการคณะอื่นจะมา “กลับคำสั่งไม่ได้” เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ !!
ประเด็นที่เป็น “ข้อมูลใหม่” เหล่านี้ อาจจะนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งก็มีนักวิชาการเสนอให้นายกฯ ใช้อำนาจรื้อคดี ส่วนจะทำได้หรือไม่ “ลุงตู่” บอกว่า “กำลังให้เขาศึกษาอยู่ว่าสามารถรื้อได้หรือไม่” ขณะที่ “อาจารย์ วิชา มหาคุณ” บอกว่า “ไม่เคยบอกว่าคดีนี้สิ้นสุดแล้ว”
นั่นแสดงว่า “อาจารย์วิชา” และคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ ย่อมเห็นช่องทางในการรื้อฟื้นคดี !!
ขณะที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็นัดแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี “บอส” ในวันนี้ (4 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ก็ต้องรอติดตามว่าผลการตรวจสอบจะสรุปออกมาอย่างไร ...จะ “อุ้ม” กันเองหรือไม่ หรือจะรักษาองค์กรไว้ด้วยการเปิดทางให้มีการรื้อฟื้นคดีใหม่ หากเป็นตามแนวทางอย่างหลัง คงต้องมี “คนเจ็บ” อีกเยอะ ...ต้องติดตาม !!