“สุดารัตน์” ลงพื้นที่ขอนแก่น วอนรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำแล้ง ลั่นดันโครงการผันน้ำ “โขง-เลย-ชี-มูล” เพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสาน จี้ รบ.สนับสนุน เชื่อเกษตรกรที่ถูกมองเป็นภาระ จะพลิกเป็นผู้หารายได้ให้ประเทศ ดักคอโครงการขุกลอกหน้าน้ำเปิดช่องถลุงงบแสนล้าน
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรค, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม และ รองหัวหน้าพรรค, นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม, นายเกรียงศักดิ์ ฝ่ายสีงาม ส.ส.อุดรธานี และ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายจตุพร เจริญเชื้อ, นางมุกดา พงษ์สมบัติ, นายภาควัตร ศรีสุรพล, นายสิงหภณ ดีนาง, นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร, นายวันนิวัตร สมบูรณ์, นายบัลลังก์ อรรณนพพร และ นายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางแสน 2 จากนั้นรับประทานอาหารเที่ยงพร้อมรับฟังความเห็นปัญหาของชาวบ้านที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสระกุด ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
โดยระหว่างการลงพื้นที่มีผู้ประกอบการร้านอาหารที่บางแสน 2 มาร้องเรียนปัญหาเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าลดลงจำนวนมากเหลือแค่วันละ 1-2 โต๊ะ และมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ลงทะเบียนไปแล้วแต่ก็ยังมาไม่ถึง นักท่องเที่ยวที่มาทานอาหารไม่เพิ่มขึ้น แต่ร้านยังต้องแบกต้นทุนและค่าจ้างเท่าเดิม
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์จากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ตอนนี้เริ่มติดลบ และใช้น้ำก้นอ่างที่เหลือเพียง 300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้ว และหากภายใน 2 สัปดาห์นี้ ฝนไม่ตกก็จะเป็นปัญหา เกษตรกรอีสานเจอกับภัยแล้งมาเป็นปีที่ 3 สลับกับน้ำท่วม เพาะปลูกไม่ได้ ปีนี้หว่านข้าวไปในเดือนพฤษภาคมแล้วยืนต้นตาย และหว่านอีกรอบในปลายเดือน มิ.ย.ก็ทำท่าจะยืนต้นตายอีกถ้าไม่มีฝนตกมาเพียงพอ พรรคเพื่อไทยจะผลักดันโครงการผันน้ำ “โขง-เลย-ชี-มูล” เพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสาน โดยการทำฝาย และแก้มลิงกักเก็บน้ำ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณา เพราะภาคอีสานเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ถ้าเราทำปัจจัยการผลิตให้เพียงพอ คือ น้ำ และพลิกหน้าดินเป็นเกษตรอินทรีย์ จากเกษตรกรที่คนมองเป็นภาระจะพลิกเป็นผู้หารายได้ให้ประเทศ การทำงบประมาณที่ผ่านมาไม่ใช่โครงการที่ยั่งยืน มีแต่งบประมาณขุดลอกหน้าน้ำ ทำให้วัดปริมาณขุดลอกไม่ได้ เปิดช่องทุจริต หมดเงินเป็นแสนล้าน แต่ไม่มีความยั่งยืนในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้กับประชาชน