xs
xsm
sm
md
lg

นายกเมืองพัทยารับลูกนำน้ำเสียผ่านบำบัดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แก้ปัญหาน้ำขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยา รับลูก กมธ.ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคตะวันออก ด้วยการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ แต่ไม่ใช่เพื่อการอุปโภคบริโภค หวังแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน

วันนี้ (30 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก ที่นำโดย พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ที่ได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำของเมืองพัทยา โดยมีข้อเสนอให้เมืองพัทยา เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังไปพร้อมๆ กับการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดเมืองพัทยา เฉลี่ยวันละกว่า 1 แสน ลบ.ม. จนกลายเป็นน้ำคุณภาพเพื่อนำกลับมาใช้เป็นต้นทุนในการผลิตน้ำประปาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำว่า


ล่าสุด นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ออกมาระบุถึงโครงการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยา ว่า แม้ที่ผ่านมาประสบปัญหาจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำจนต้องรับน้ำฝนที่ไหลบ่าจากที่สูงก่อนระบายลงสู่ทะเล และทำให้เมื่อมีฝนตกหนักจึงทำให้มีปริมาณน้ำมวลรวมไหลเข้าสู่พื้นที่กว่า 1.5 แสน ลบ.ม. ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำรอการระบายมาโดยตลอด

วันนี้ เมืองพัทยา จึงมีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่รอบนอกเมืองพัทยา ด้วยการสร้างบ่อหน่วงน้ำขนาดใหญ่บริเวณถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อใช้เป็นจุดดักและรับน้ำ รวมทั้งจุดชะลอน้ำด้วยการส่งน้ำผ่านท่อขนาดใหญ่ระบายไปยังคลองธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ำแก้มลิง

เช่น โครงการก่อสร้างสถานีสูบป้องกันน้ำท่วมบ้านเขาตาโล โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก และโครงการก่อสร้างกำแพงกันดินคลองกระทิงลาย เป็นต้น






“สำหรับโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมืองพัทยา จะมีการเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการรวมและระบายน้ำก่อนปล่อยลงสู่ทะเล โดยจะแยกระบบน้ำฝนและน้ำเสียออกจากกัน เพื่อบริหารจัดการต่อการระบายน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสียหายต่อภาพลักษณ์ในการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ซึ่งการดำเนินโครงการขณะนี้บางส่วนอยู่ในแผนงานศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง”

ขณะที่แผนกักเก็บน้ำฝน หรือผันน้ำกลับไปเก็บยังแหล่งน้ำดิบ รวมถึงการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาผลิตเป็นน้ำประปาสำหรับใช้ในการอุปโภค รวมถึงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำดิบรองรับการเกิดขึ้นของโครงการ EEC นั้น


นายกเมืองพัทยา เผยว่า สถานการณ์น้ำดิบใน จ.ชลบุรี ขณะนี้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เหลืออยู่ประมาณ 47.71 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 5 อ่างเก็บน้ำซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา นำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาป้อนให้แก่เมืองพัทยา ประกอบด้วย อ่างมาบประชัน หนองกลางดง ห้วยขุนจิต ห้วยสะพาน และอ่างชากนอก มีน้ำดิบมวลรวมเหลืออยู่เพียง 39.92 ลบ.ม. สวนทางกับความต้องการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้น

“วันนี้จึงมีแนวคิดที่จะนำน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วกลับมากักเก็บไว้เพื่อผลิตน้ำประปาตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ โดยจะมีการศึกษาความเหมาะสมในการนำน้ำหลังการบำบัดที่เป็นไปให้ได้ตามค่ามาตรฐาน ก่อนนำกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมา เมืองพัทยารับน้ำเสียจากในพื้นที่มาบำบัดก่อนปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะเฉลี่ยวันละกว่า 1 แสน ลบ.ม.อยู่แล้ว”


สำหรับแนวทางการนำน้ำที่เกิดจากการระบายน้ำของเมืองพัทยา และน้ำที่เกิดจากการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง จะเป็นการดำเนินงานตามหลักการ 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle ซึ่งเมืองพัทยา จะจัดเตรียมน้ำที่ผ่านระบบบำบัดซึ่งมีอยู่กว่าปีละ 1.5 ล้านคิวเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นน้ำต้นทุนในการใช้เพื่อการอุปโภคเท่านั้น

ส่วนน้ำที่จะนำมาใช้ในการบริโภค หรือน้ำประปานั้น เมืองพัทยาได้ประสานแผนการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคและกรมชลประทาน ในการผันน้ำจากลุ่มน้ำจันทบุรี และแหล่งน้ำจาก จ. ระยอง ฉะเชิงเทรา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในการนำมาเป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาเพื่อให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น