xs
xsm
sm
md
lg

คนจนทำได้มั้ย!? “ชูวิทย์” จวกกระบวนยุติธรรม “ปองพล” ถาม ทำใจอยู่กับผิดเป็นถูกหรือ? “บูด-ทอน” ได้ที “ปฏิรูป”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จากแฟ้ม
“ชูวิทย์ จวกต้นน้ำกระบวนยุติธรรม พึ่งไม่ได้หนีไปก่อน แล้วถอนหมายจับ คนจนทำได้มั้ย? “ปองพล” ยกบันทึกฟรังซัว อังรี ตุรแปง ถามคนไทย ทำใจให้ลืมคนทำผิด กม.กลายเป็นผู้บริสุทธิ์หรือ? “บูด-ทอน” ลั่นต้องปฏิรูป

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 ส.ค. 63) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “ความจนเป็นเหตุ”

โดยระบุว่า “สังคมไทยไม่เคยตั้งข้อกังขาต่ออัยการขนาดนี้มาก่อน

เราจะใช้ชีวิตอยู่ในกรอบกฎหมายของประเทศไทยได้อย่างไร เมื่อแกนหลักสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับสังคมไทยได้ต่อไป

ต้นน้ำของความยุติธรรมเริ่มที่ตำรวจ กลางน้ำที่อัยการ และปลายน้ำที่คำตัดสินของศาล เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครทำผิดแล้วจะถูกสั่งฟ้อง หรือไม่ถูกสั่งฟ้องต่อศาล เพราะคนที่มีสถานะร่ำรวย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของระบบกฎหมาย และการใช้ดุลยพินิจของอัยการในการสั่งฟ้อง

วันนี้จึงต้องตั้งคำถามไปถึงอัยการสูงสุด ว่า ท่านจะทำความกระจ่างให้สังคมเชื่อถือได้อย่างไร ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรที่อิสระ กฎหมายให้อำนาจท่านอย่างเต็มที่ จนไม่มีใครไปคานดุลอำนาจ ทำให้อำนาจที่ท่านมีเป็นที่ฉงนฉงายของสังคม ว่า หน้าที่ส่งผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการศาล กลับกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยเสียมากกว่าคนจน

เพราะไม่ใช่นายบอสคนแรกที่ใช้วิธีฟอกขาวให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่เจ้าตัวยังอยู่ระหว่างหนีคดี นายกำพล วิคตอเรีย ซีเครท ก็ใช้วิธีการเดียวกันเป๊ะ ลูกเมียโดนคดีหนีไปด้วยกัน ไม่เคยมาปรากฏตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ท้ายสุด อัยการกลับมีคำสั่งถอนหมายจับ กลับมาเดินปร๋ออยู่เมืองไทยไปเสียอย่างนั้น

ส่วนตัว นายกำพล สถานะเหมือนนายบอส แค่รอเวลาให้เรื่องเงียบ แล้วรอเสียบถอนหมายจับกลับไทย

ดุลพินิจของท่านต้องทำให้สังคมยอมรับ

ไม่ใช่ทำกันเงียบๆ เพียงเพราะกฎหมายให้อำนาจท่านไว้

วันนี้องค์กรต่อต้านเครือข่ายค้ามนุษย์ไปทวงถามว่า มีเหตุผลกลใดถึงถอนหมายจับ ทั้งที่ตัวผู้ต้องหาหนีคดีไป

ท่านคงตอบอีกว่า เพราะกฎหมายให้อำนาจท่านไว้ เป็นเหมือนกับนายบอสทุกประการ

แต่สงสัยจริงๆ ว่า มีคนจนที่ไหนเคยผ่านกระบวนการ “หนีไปก่อน แล้วถอนหมายจับ” บ้างหรือไม่? อยากได้ตัวอย่างสักคดี

อย่าให้ชาวบ้านตาสีตาสาได้แต่ร้อง “อ๋อ.. คงไม่มี เพราะพวกกูมันจนนี่เอง”

ภาพ นายปองพล อดิเรกสาร (คนกลาง) จากแฟ้ม
ขณะ นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็ได้โพสต์เตือนใจคนไทยเอาไว้อย่างลึกซ้ำ หัวข้อ “บันทึกของฟรังซัว อังรี ตุรแปง”

เนื้อหาระบุว่า “ตุรแปง ชาวฝรั่งเศส เขียนจากข้อมูลที่ได้จากบาทหลวงบรีโกต์ ซึ่งเคยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหลายปีจนกระทั่งกรุงแตก พิมพ์ที่กรุงปารีสใน พ.ศ. 2314 (ค.ศ. 1771)

นิสัยใจคอของชาวสยาม

- ภาคภูมิใจในชาติ รักขนบธรรมเนียมอย่างเหนียวแน่น อ่อนโยนสุภาพ มีเมตตา ซ่อนความรู้สึก ไม่ชอบพูดมาก มัธยัสถ์ ไม่ชอบหรูหราฟุ่มเฟือย ไม่เห็นแก่ตัว มีความรู้จักพอ

จุดอ่อนของชาวสยาม

- เฉื่อยชาเกียจคร้าน ย่อท้อ ไม่ชอบทำอะไรที่ลำบากยากเย็น ไม่ยินดียินร้าย ไม่ชอบเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก มักจะเหลาะแหละ ไม่ยอมรับหลักการและผลที่เกิดจากหลักการ จิตใจไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน จึงไม่เคยแยกว่าอะไรดีและอะไรดีที่สุดแล้วประพฤติโดยไม่นึกจะคิดไตร่ตรองหาเหตุผล

- มักเป็นนายที่แข็งกระด้าง ไม่ค่อยรู้วิธีบังคับบัญชาคน มีความเจ็บแค้นสูงเมื่ออับอาย บ้าคลั่งอย่างไม่รู่จักชั่งใจเมื่อโมโห บางครั้งโหดเหี้ยมทำร้ายกันถึงตาย

- มักย่อมอ่อนน้อมต่อผู้อยู่เหนือกว่า แต่จะหยิ่งดูหมิ่นคนที่ต่ำกว่าและคนที่แสดงยกย่องเขา บางคนช่างพูดอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม อ้างเหตุผลผิดๆ มาตบตาคน

- เชื่อถือไสยศาสตร์ โชคลาง หมอดู เข้าทรงและคาถาอาคม

- ชาวสยามชอบการพนันอย่างยิ่ง ผู้แพ้การพนันยอมขายได้แม้กระทั่งลูกเมียของตน

- การศึกษาของสยามขาดวิชารู้จักคิดหาเหตุผล คนสยามพยายามจะไม่คิดเพราะความคิดทำให้เหน็ดเหนื่อย

- ไม่มีประเทศใดในโลกที่คนทุจริตจะมีวิธีพลิกแพลงมากเท่ากับในประเทศสยาม มีคนชำนาญการในการทำให้คดียุ่ง สามารถทำให้เรื่องร้ายที่สุดกลับไปในทางดีได้ และเขาจะเรียกร้องค่าตอบแทนอย่างสูงทีเดียว

*ผมเก็บบันทึกฉบับนี้ไว้หลายปีแล้ว ไว้คอยเตือนใจตนเองและชาวไทยซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกับชาวสยามว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของเราในสายตาของชาวต่างชาตินั้นคืออะไรและจริงหรือไม่ ขณะนี้เกิดกรณีผู้ทำผิดกฎหมายแต่กลับรอดพ้นทุกคดีกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ได้อย่างเป็นที่กังขาของสาธารณชน เป็นไปตามข้อสุดท้ายในบันทึกนี้ เราจะทำใจให้ลืมกันไป เพราะนี่คือนิสัยประจำเผ่าพันธุ์ชาวสยามหรือครับ.”

ภาพ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม เรื่องเดียวกันนี้ เมื่อคืนวันที่ 31 ก.ค. 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมจัดรายการ ก้าวหน้า Talk กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โดยมีผู้ชมถามถึงความเป็นไปได้ในการรื้อคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ซึ่งกำลังเป็นที่กังขาอย่างมากในสังคมว่า มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมไทย บังคับใช้อย่างเท่าเทียมหรือไม่

นายปิยบุตร กล่าวว่า คดีนี้หากจะเรียกสั้นๆ ก็ต้องเรียกว่า ทำ “ข้ามหัวประชาชน” ตั้งแต่การมีพ่อบ้านมารับผิดแทน การแก้ตัวว่า แอลกอฮอลที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธเป็นการดื่มหลังก่อเหตุ ปล่อยคดีขาดอายุความ มาจนถึงการพยายามสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเงียบๆ แต่กลับถูก CNN เปิดประเด็นจนสังคมรับรู้ และล่าสุด การที่พยานที่ให้การว่านายวรยุทธไม่ได้ขับรถเร็ว เสียชีวิตกะทันหัน รวมถึงมีการอ้างว่า โคเคนที่พบในการตรวจร่างกายนายวรยุทธ เป็นยารักษาฟัน

ส่วนการรื้อคดีนั้น เป็นไปได้โดยครอบครัวผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี สามารถฟ้องร้องต่อศาลว่า คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ เป็นคำสั่งที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่มีข้อจำกัดว่า ก็ต้องหาหลักฐานว่า มีการทุจริต รับสินบน หรือข้อยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจริงๆ

นอกจากนี้ การที่ระบบการดำเนินคดีโดยรัฐจบลงแล้ว กลายเป็นหน้าที่ของผู้เสียหาย ทำให้น่าเป็นห่วงว่าครอบครัวผู้ตายจะโดนอิทธิพลกดดันหรือไม่ และยังต้องเสียเวลา เสียทุนทรัพย์ในการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนที่ไม่มีรายได้หรือต้นทุนทางสังคมมากนัก จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้มีบทบาทในเรื่องนี้

ด้าน นายธนาธร ให้ความเห็นว่า กรณีนี้ควรนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สำเร็จ โดยยกตัวอย่างเทียบเคียงกับกรณีมาเลเซีย ซึ่งนายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริงฐานทุจริตยักยอกเงินกองทุน 1MDB และต้องโทษจำคุก 12 ปี

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่าคดีนี้จะ “มวยล้ม” เพราะพันธมิตรพรรคการเมือง “ปากาตัน ฮารัปปัน” ที่โค่นนายนาจิบในการเลือกตั้งปี 2561 ล่มสลายลง อำนาจกลับมาอยู่ที่พรรคอัมโนของนายนาจิบ แต่ด้วยกระแสสังคมที่กดดันอย่างต่อเนื่อง และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่จริงจัง ทำให้กระบวนการทางกฎหมายสามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่เคยมีอำนาจระดับนายกฯ มาลงโทษได้...

แน่นอน, เรื่องนี้ไม่ควรจบลงแค่ ฝ่ายอัยการ ออกมาโยนเรื่องทำสำนวนสอบสวนของตำรวจ ทำให้อัยการต้องสั่งคดีตามอำนาจหน้าที่ และสรุปว่า ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้

ส่วนช่องกฎหมายที่เปิดเอาไว้ ให้ผู้เสียหายสามารถรื้อคดีขึ้นมาฟ้องเองได้ ถ้าฟังจาก “ปิยบุตร” ถือว่า ยากถึงยากที่สุด เนื่องจากฐานะและสถานภาพทางสังคม ไม่มีอิทธิพลมากพอ ที่จะมีช่องทางในการหาพยานหลักฐานใหม่มารื้อฟื้นคดี และญาติผู้เสียหายก็ดูเหมือนไม่ต้องการที่จะฟ้องเองด้วย ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึง นายวรยุทธ อยู่วิทยา รอดคดีตามคำสั่งไม่ฟ้องเรียบร้อย

ประเด็นสำคัญก็อย่างที่หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถาม กับ กระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน หรือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ว่า ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทย “อย่างเท่าเทียม” ได้หรือไม่ หรือ ยังคงเลือกปฏิบัติ และส่อให้เห็นการทุจริตต่อหน้าที่อยู่ไม่น้อย? โดยที่ไม่มีใครอาจเอื้อมเข้าไปจัดการได้

โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนที่อยู่ในมือตำรวจแต่เพียงผู้เดียว มีมาตั้งแต่ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลยทีเดียว เก่าแก่โบราณแค่ไหนลองคิดดู และนัยว่า สร้างนิยายสอบสวนมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ อย่างที่เรียกกันว่า “นิยายแพะ” ที่เงินทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับกรรมมาไม่รู้เท่าไหร่ หรือ เงินทำให้คนทำผิด เป็นถูกมากมายก่ายกอง และรู้อยู่แก่ใจตำรวจดี

ยิ่งถ้าเกิดกรณี “ฮั้วกัน” ระหว่างตำรวจเลว กับอัยการชั่ว เมื่อไหร่ อะไรจะเกิดขึ้น???

เหล่านี้ ถือว่า คดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ยังไม่จบ เพราะยังมีพันธกิจที่จะต้องดำเนินต่อ และโดยด่วนที่สุด นั่นคือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐานนั่นเอง อย่างน้อยที่สุด จะต้องช่วย “การันตี” เป็นเบื้องต้นได้ว่า คนไทยจะถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม จากกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน นับแต่นี้เป็นต้นไป

มิเช่นนั้น จุดนี้จุดเดียว อาจทำลายขบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบก็ว่าได้ ไม่เชื่อก็ลองดู!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น