“กมธ.ดีอีเอส” เรียกบริษัทดาวเทียม C-band พร้อมเครือข่ายโทรศัพท์ 5G แจง หลังพบมีสัญญาณรบกวนจนดูทีวีไม่ได้ “กัลยา” เร่งหาทางแก้ปัญหา เล็งเชิญ กสทช.ช่วยหารือ พร้อมเตรียมรองรับประมูลคลื่น 3500MHz“เศรษฐพงค์” ฮึ่มต้องไม่โยนภาระให้ ปชช.แก้ปัญหากันเอง
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษำฎร เปิดเผยถึงการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า ในการประชุมมีวาระพิจารณาเรื่อง การรบกวนระหว่างระบบบริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ในคลื่นความถี่ C-band และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ที่ใช้คลื่นความถี่ 2600MHz โดยได้เชิญตัวแทนจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโฟแซท จำกัด, บริษัท พีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมชี้แจง
น.ส.กัลยา กล่าวว่า กมธ.ได้รับการร้องเรียนว่า มีการรบกวนระหว่างระบบบริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในคลื่นความถี่ C-band และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ที่ใช้คลื่นความถี่ 2600MHz วันนี้เราจึงได้เชิญผู้ให้บริการทั้งเครือข่ายทีวีดาวเทียม และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มาชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าว ว่ามีความรุนแรงของการรบกวนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพการให้บริการกับภาคประชาชนอย่างไรบ้าง อะไรเป็นสาเหตุของการรบกวน และอะไรเป็นสาเหตุหลัก รวมถึงแนวทางข้อเสนอการแก้ไข ระยะเวลาการดำเนินการ และต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งทางผู้ให้บริการยอมรับว่ามีปัญหาคลื่นรบกวนจริง ทำให้ประชาชนที่ติดจากดาวเทียมระบบ c-band หรือจานดำ ไม่สามารถดูได้เนื่องจากถูกคลื่น 2600MHz รบกวน ทั้งนี้ ตนเป็นห่วงว่าถ้าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยมีแนวโน้มจะนำคลื่นความถี่ย่าน 3500MHz คือ ความถี่ในช่วง Extended C Band (3400-3700MHz) มาประมูลเพื่อจัดสรรให้บริการ 5G เพิ่มเติมจากย่าน 2600MHz จะมีประเด็นปัญหาการรบกวนหนักกว่านี้หรือไม่ ส่วนการแก้ปัญหาคลื่นรบกวน เราคงต้องให้ ทาง กสทช. เข้ามาช่วยดำเนินการแก้ปัญหาด้วย
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เราทราบมาว่า เบื้องต้นชาวบ้านต้องซื้อตัวอุปกรณ์เฉพาะมาติดตั้งเพื่อกรองสัญญาณการรบกวนเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นกันเอง แต่อุปกรณ์ตัวนี้นั้นมีราคาที่แพง ดังนั้น กมธ.จึงได้มอบหมายให้บริษัทผู้ให้บริการที่เชิญมาวันนี้ ต้องศึกษาหาวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่นอีกว่ามีวิธีใดอีกหรือไม่ เพราะเราไม่ต้องการให้ชาวบ้านมาเดือดร้อนจากการจัดสรรคลื่นที่เป็นปัญหา ตอนนี้เขาต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองในการซื้ออุปกรณ์กรองสัญญาณมาใช้ เพราะเขาอยากดู แต่อุปกรณ์ตัวนี้มีราคาที่แพง เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซึ่งกมธ.ต้องมองเรื่องนี้ให้ละเอียด ภาพรวมจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหากับดาวเทียมที่มีอยู่เดิม ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาแล้ว ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีการประมูลคลื่น 3500MHz อาจจะมีปัญหามากกว่าเดิม หากเปิดใช้แล้วมีปัญหาจะยุ่งกว่านี้อีก ดังนั้น ผู้ให้บริหารต้องหาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อรองรับคลื่นในอนาคตโดยด่วน
“ก่อนที่จะมีการประมูลคลื่น 3500MHz ในอนาคต อาจจะต้องมีการหารือกันระหว่าง กสทช. และผู้ให้บริการ ที่จะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน ทั้งคลื่น 2600MHz และคลื่น 3500MHz เพื่อให้เมื่อได้ดำเนินการแล้ว จะได้ไม่เกิดปัญหาต่อการให้บริการประชาชน” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว