xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ICT เร่ง กสทช.แก้ กม.หลอมรวมสื่อ ป้องกันการปั่นหุ้น-ครอบงำความคิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาชิกวุฒิสภา ในคณะกรรมาธิการ ICT เร่ง กสทช.แก้กฎหมายหลอมรวมสื่อ หวั่นภาคธุรกิจได้รับผลกระทบหากล่าช้าเกินเหตุ แนะเพิ่มมาตรการป้องกันการปั่นหุ้นและครอบงำความคิดชุมชน

จากการประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีวาระการรายงานผลความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช.(ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2562 ซึ่งผู้แทนของ กสทช.ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ขอเลื่อนการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2564

นายสมชาย เสียงหลาย ประธานคณะอนุกรรมาธิการกฎหมายฯ กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ได้ให้ความเห็นว่า กรอบระยะเวลาเพื่อพิจารณาและออกกฎหมายที่เรียกกันว่า หลอมรวมสื่อ ตามรายงานที่ กสทช.เสนอมานั้น ยาวนานเกินความจำเป็น ดั้งนั้น กสทช.จึงควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นจนนำไปสู่การตราพระราชกฤษฎีกานี้ให้ได้ภายในปี 2563 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจ

ขณะที่นายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ได้ตั้งคำถามต่อ กสทช.ในที่ประชุมวุฒิสภา 2 ประเด็น สำคัญ คือ กสทช. มีแผนเกี่ยวกับการจัดการคลื่นความถี่ เพื่อไม่มีการครอบงำความคิดของผู้คนในชุมชนหรือไม่ และมีหลักเกณฑ์ป้องกันการนำคลื่นความถี่ไปเป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้น และการนำใบอนุญาตไปค้ากำไรเกินควรหรือไม่อย่างไร เมื่อต้องมีการแก้ไขกฎหมายนี้

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ นาคสมภพ ยังอธิบายประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมใน Facebook Fan Page : Talk with Dr.Niphon Naksompop เอาไว้ว่า เหตุผลของกฎหมายหลอมรวมสื่อ เกิดจากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในชุมชนรวมตัวเป็นเจ้าของเดียวกัน จัดสรรข้อมูลข่าวสารส่งให้ผู้รับเกินกว่าหนึ่งในสามของชุมชนนั้นๆ เป็นผลให้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวครอบงำความคิดของผู้คนในชุมชน

รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 จึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสี่ ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด หมายถึงไม่ให้มีการหลอมรวมสื่อ ต่อมาภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงมีสื่อหลากหลายรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 จึงตัดคำเหล่านี้ออก ไม่ได้รวมถึงการยกเว้นไม่ปกป้องการครอบงำทางความคิด

ฉะนั้น การยกเลิกมาตรา 30 พระราชบัญญัติ กสทช. พ.ศ 2553 แก้ไข พ.ศ. 2562 หมายถึงการยกเลิกมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่ไม่สามารถโอนแก่กันได้ ต้องใช้ใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่ กสทช.กำหนด และต้องเพื่อใช้ในกิจการนอกวัตถุประสงค์ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่า ย่อมปั่นหุ้นไม่ได้ เอาคลื่นความถี่ไปใช้ผิดเจตนารมณ์ เช่น เอาคลื่นโทรทัศน์ไปให้บริการโทรศัพท์ ไม่ได้










กำลังโหลดความคิดเห็น