xs
xsm
sm
md
lg

เสี่ยง!! “เพนกวิน” ท้ายัดล้มเจ้า “กรณ์” ห่วงรุนแรง “หมอวรงค์” งงข้อเรียกร้อง “ตั้ม-พิชิต” เตือน “ขวาพิฆาตซ้าย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ จากเฟซบุ๊ก เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak
“เพนกวิน” ไม่กลัวน้ำร้อน ท้ายัดข้อหา “ล้มเจ้า” ขณะ “กรณ์” ไม่เห็นด้วยดึงสถาบันเกี่ยวข้อง “หมอวรงค์” ชี้ข้อเรียกร้องยังสับสน งงเอาอะไรแน่ “ตั้ม-พิชิต” เตือนรุ่นน้อง ชูป้ายเชิญแขกที่ไม่รู้จักดี เสี่ยง “ขวาพิฆาตซ้าย”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 ก.ค. 63) เฟซบุ๊ก เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak ของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หนึ่งในแกนนำม็อบเยาวชนปลดแอก โพสต์ข้อความระบุว่า

“ขณะนี้ฝ่ายรัฐพยายามยัดเยียดข้อหาล้มเจ้าให้กับการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน ดีเลยครับ จะได้พิสูจน์กันสักทีว่า ใน พ.ศ.นี้ ข้อหาล้มเจ้ามันยังศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่ #หยุดโหน”

ภาพไปร่วมม็อบอีสาน จากเฟซบุ๊ก เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak
วันเดียวกันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก “กรณ์ จาติกวณิช-Korn Chatikavanij” หลังมีการขยายผลคำพูดของตนในที่ชุมนุมของนักศึกษาตามสถานที่ต่างๆ ในขณะที่พรรคกล้า-KLA Party จัดกิจกรรม “คนGenกล้า” ซึ่งเป็นหลักสูตรเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเรื่องของการพัฒนาบ้านเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา การเกษตร คุณภาพชีวิต ความสําคัญของนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ SoftPower

ภาพ นายกรณ์ จาติกวณิช จากแฟ้ม
“ในงานเมื่อวานนี้ ผมได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่มาทำข่าว ในประเด็นการชุมนุมของนักศึกษาตามสถานที่ต่างๆ ว่า เป็นสิทธิของนักศึกษาที่จะชุมนุม แต่ต้องเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย และคนทุกวัยควรฟังกันและกัน ผมเองเป็นห่วงการดึงเอาสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งการทำแบบนี้จะยิ่งทำให้คนแบ่งเป็นสองฝ่ายจนอาจมีแนวโน้มทวีความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิด”

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า นี่เป็นการยืนยันความตั้งใจของพวกเราชาวกล้า ที่จะทำงานการเมืองด้วยการเปิดใจให้กว้าง เคารพกฎหมาย เคารพความเห็นต่าง มีสติในทุกการกระทำ และยึดประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้ง เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการของเรานั้นต้องการมีส่วนร่วมในการเมืองที่สร้างสรรค์ ทุกคนที่ผมคุยด้วยไม่อยากเห็นความเกลียดชังทางการเมือง ไม่อยากถูกบังคับให้เลือกข้าง เพราะเขามองว่า การบังคับและข่มขู่ผู้ที่เห็นต่างนั้นคือการประพฤติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

“ใครที่ปฏิเสธการเลือกข้าง ต้องมีความเข้มแข็ง แน่วแน่ เพราะมีโอกาสทำให้ทั้งสองขั้วไม่พอใจ แต่ขอยืนยันว่า มีประชาชนจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องการเห็นสังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยพรรคกล้าจะขอยืนหยัดอยู่กับท่าน ในการทำการเมืองแนวสร้างสรรค์ตลอดไป” #สร้างสรรค์ #ปฏิบัตินิยม #ลงมือทำ#พรรคกล้า #เรามาเพื่อลงมือทำ

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
ด้านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก โพสต์หัวข้อ “ยังสับสน!!!!”

โดยระบุว่า “ได้ติดตามข้อเรียกร้องของแกนนำการชุมนุม ในแต่ละแห่ง แต่ละครั้ง ดูจะสับสน และมีข้อขัดแย้งกันเองครั้งแรกสุดแกนนำมีข้อเรียกร้องสามข้อ โดยสองในสามคือยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ดูแล้วสับสนเหมือนกัน เพราะการจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น มีขั้นมีตอนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าร่างใหม่ก็ยุบสภาไม่ได้ หรือถ้ายุบสภาก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้

ต่อมามีข้อเรียกร้องของแกนนำหน้าทำเนียบ ช่วงมีการเผารูป ให้นายกฯลาออก แล้วเกิดถ้านายกฯลาออก ก็ต้องเลือกนายกฯใหม่ แสดงว่าสภายังอยู่ยังไม่ยุบ คนที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องเป็นคนที่ได้รับการเสนอชื่อช่วงเลือกตั้ง ถ้าสภาเลือกคนเดิมมาอีก จะยอมไหม เพราะนายธนาธรถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ล่าสุด มีการแชร์ผ่านโซเชียล แกนนำปราศรัยที่เชียงราย “ถ้าเราชนะในครั้งนี้ เราจะพา สมศักดิ์ เจียมธีสกุล และแม่ปวิน กลับบ้าน” ตกลงจะเอาอะไรแน่ จะยุบสภาหรือพาคนกลับบ้าน

ยังไม่นับการสร้างกระแส ผ่านป้ายเพื่อการล้มล้างสถาบัน รวมทั้งสามตะกร้าบางคน ถึงขนาดเรียกร้อง ปลุกการปฏิวัติของประชาชน

ทางที่ดีแกนนำน่าจะคุยกับสามตะกร้าให้ชัดๆ ว่า ความคับแค้น ถึงขนาดต้องออกมาชุมนุมคืออะไรกันแน่ เพราะตอนนี้ประชาชนยังสับสนอยู่”

ภาพ นายพิชิต ไชยมงคล หรือ “ตั้ม”  จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม วานนี้ เฟซบุ๊ก Pichit Chaimongkol ของนายพิชิต ไชยมงคล หรือ “ตั้ม” อดีตโฆษกกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็นถึงการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาในขณะนี้ ระบุว่า

“ด้วยความเคารพพลังคนรุ่นใหม่ ผมไม่มีส่วนได้เสียกับการชุมนุม หนำซ้ำยังแอบหวังเล็กๆ ว่า จะชุมนุมยาวนาน สร้างสิ่งแปลกใหม่

ผมอยู่กับการชุมนุมมานานพอที่จะมองเห็น รูปแบบ เป้าหมาย และทิศทางการชุมนุมออกบ้าง แต่กระนั้นมันเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่จะแสดงออกทางการเมือง ส่วนเรื่องท่าที คำหยาบ ความก้าวร้าวเล็กๆ มันก็เป็นไปตามวัยและประสบการณ์อย่าเอามาเป็นเรื่องที่จะมาหักล้างพลังของคนรุ่นใหม่ สิ่งที่ต้องถูกตั้งคำถามคือ เป้าหมายใช่หรือไม่ รูปแบบสอดคล้อง ข้อเรียกร้องมีเหตุผลรองรับ มีความชอบธรรมในการอธิบายถึงการชุมนุม นี่ต่างหากที่ผู้ชุมนุมต้องอธิบายตัวเอง ซึ่งก็เป็นทุกการชุมนุมไม่ว่าใครจัดการชุมนุม

ประเด็นที่น่าห่วงใหญ่มากกว่าคือ การเคลื่อนไหวมันถูกกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือกลุ่มผู้ใหญ่บางคนคอยผสมโรง เสมือนพยายามเติมเชื้อไฟ เร่งเร้าให้เกิดภาวะ “สุกงอม” เพื่อจะสร้างให้เกิดวิกฤตทางการเมือง โดยที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้

ป้ายหลายป้าย ที่คนหลายคนถือ ทั้งมาจากคนหัวขาว และเด็กหัวดำ มันกำลังจะสร้างสิ่งที่หลายคนวิตก เพราะมันเกิดความสุ่มเสี่ยงชนิดที่อาจเรียกว่า เชื้อเชิญให้เกิด “ขวาพิฆาตซ้าย” แบบในอดีต และมันเป็นเสมือนคำเชิญที่มาจากการชุมนุม ไม่ใช่มาจากภายนอก และคงไม่ใช่การบิดเบือนข่าวเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันภาพมันมาเร็ว จากทุกมุม

ผมมองว่า หากยังไม่สามารถควบคุม ป้ายที่ไม่ควรมีได้ มันจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ “สุ่มเสี่ยง” ซึ่งอาจนำมาสู่ความเสียหายที่ยากที่ใครจะรับผิดชอบ

“ป้ายมันยกระดับความเสี่ยง มากกว่าข้อเรียกร้อง” หรือพูดง่ายๆ ล้ำหน้ากว่าการชุมนุม หรือที่จริง “การชุมนุมต้องการตามป้าย”

การยกระดับประเด็นหรือยกระดับการชุมนุมมีความสำคัญ ถ้าเริ่มต้นด้วยความเสี่ยง คุณก็ต้องยินดีรับความเสี่ยง ถ้าเคลื่อนไหวแบบสุ่มเสี่ยง ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา

ผมอยากให้เริ่มต้น เป็นการชุมนุมทางการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่แสดงพลัง ซึ่งผมคิดในแง่ดีมากไว้ก่อนคือ คนจัดชุมนุมคงควบคุมไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจัดการรองรับ กลุ่มผสมโรงจึงแอบเข้าแอบอิงการเคลื่อนไหว หรือใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เป็นเครื่องมือ หรืออาจเป็นเครื่องมือกันและกัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็สุ่มเสี่ยง เกินจะรับผิดชอบและใครจะรับผิดชอบ ท้ายที่สุดก็จะมองว่า เราวิเคราะห์โครงสร้างสังคมไทยอย่างไร ประสบการณ์ความสูญเสียในอดีต มันสอนมาเรื่องแบบนี้ว่า ท้ายสุด ถ้าเคลื่อนไหวสุ่มเสียงมันคุ้มหรือไม่ ชนะจริงหรือไม่

อย่าออกบัตรเชิญในสิ่งที่ตนเองรับแขกไม่ไหวเลยครับ เพราะบางทีเราไม่รู้จักแขกที่มาดีพอ

สนับสนุนให้เป็นการชุมนุมทางการเมือง ด้วยความเคารพต่อคนรุ่นใหม่

ขอบคุณข้อมูลเฟซบุ๊ก Pichit Chaimongkol”

แน่นอน, ประเด็นของ “ตั้ม-พิชิต” น่ารับฟังอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังเฝ้ามองด้วยความไม่สบายใจ เพราะบาดแผลในอดีต มันยังคงย้ำเตือนอยู่เสมอ

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่กำลังร่วมแฟลชม็อบกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดูเหมือนไม่ค่อยใส่ใจว่า จะมีป้ายอะไร ใครเป็นคนนำมามากนัก หรือแม้รู้เห็นก็ไม่รู้สึกว่า มีปัญหามากมาย รู้แต่ว่า ได้เข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกของพลังประชาธิปไตย อย่างที่ผู้จัดประชาสัมพันธ์เท่านั้น

ขณะที่พวกผสมโรง จะเห็นว่า เฟซบุ๊กผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศบางคน ได้นำภาพที่ปรากฏในม็อบมาโชว์ยกใหญ่ และแน่นอน เป็นภาพและข้อความหมิ่นสถาบันนั่นเอง อย่างนี้ก็แทบไม่ต้องสงสัยว่า ใครแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง

ที่น่ากลัว ก็อย่างที่ “ตั้ม-พิชิต” ว่า ม็อบกำลังออกบัตรเชิญในสิ่งที่ตนเองรับแขกไม่ไหว เพราะบางทีเราไม่รู้จักแขกที่มาดีพอ... หรือไม่ และมันก็สุ่มเสี่ยงอย่างไม่มีทางหลีกพ้นด้วย หรือรู้ว่าเสี่ยงแต่ไม่กลัว?


กำลังโหลดความคิดเห็น