ศบค.แถลงไทยป่วยโควิด 6 ราย กลับจาก ตปท. ทั่วโลกแตะ 15 ล้านวันแรก ตามคาดต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ปรับวันแถลงเหลือจันทร์-พุธ-ศุกร์ หลังเคสระยองคลี่คลาย งดใช้ ม.9 ไฟเขียวไม่ห้ามชุมนุม ให้มั่นใจเจตนาเพื่อคุมโรค
วันนี้ (22 ก.ค.) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่านายกฯ ขอบคุณประชาชนในพื้นที่ จ.ระยอง และ กทม.ในการรับมือสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานขอว่าอย่าได้ท้ออย่าถอย เพราะโรคนี้อยู่กับเราไปอีกนานพอสมควร แต่จะต้องรักษาสมดุลเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ มีแผนการทำงานเชิงรับเชิงรุก และแผนเผชิญเหตุที่ต้องจัดการ พร้อมรับฟังเสียงและความคาดหวังของประชาชนที่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริงเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มเติมการสื่อสารไปถึงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ และที่สำคัญเราได้รับรถพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงดูแลประชาชน จ.ระยอง ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะครบ 14 วัน ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายกฯ ยังห่วงใยกรณีมีการชุมนุมที่ต้องรักษาสมดุลจัดการเว้นระยะห่าง เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 6 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,261 ราย หายป่วยสะสม 3,105 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 98ราย ผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย เป็นนักศึกษาที่เดินทางกลับจากประเทศอียิปต์ ถึงประเทศไทยวันที่ 8 ก.ค.เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโควิดวันที่ 21 ก.ค. โดยเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้แล้ว 11 ราย ส่วนรายที่ 5 เป็นหญิงไทยอายุ 36 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ถึงประเทศไทยวันที่ 10 ก.ค. เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิดวันที่ 20 ก.ค.ไม่มีอาการ ขณะที่รายที่ 6 เป็นหญิงไทยอายุ 57 ปี อาชีพแม่บ้าน เดินทางกลับจากเยอรมนีถึงประเทศไทยวันที่ 16 ก.ค.เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิดวันที่ 20 ก.ค.ไม่มีอาการ สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 15,093,712 ราย ถือว่าแตะยอด 15 ล้านเป็นวันแรก โดยมียอดเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนกว่าราย เสียชีวิต 619,467 ราย จึงถือว่าสถานการณ์โลกยังถือว่าวิกฤต
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา ความเหมาะสมการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาฯ สมช.ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอที่ประชุมว่าสถานการณ์โลกยังมีความรุนแรง ช่วงนี้มีคนไทยและชาวต่างชาติได้รับการผ่อนผันเข้ามาประเทศไทยต่อเนื่อง รวมถึงการผ่อนคลายต่างๆ ก็มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น จึงขอขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้มีอำนาจตามกฎหมายในเชิงป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการเดินทางเข้าออกประเทศทุกช่องทาง และให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพ สามารถบูรณาการเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินถือเป็นเครื่องมือสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านจนกว่าจะมีกฎหมายอื่นมารองรับ โดยหลังจากนี้จะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 29 ก.ค.นี้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อตกลงพิเศษให้กลุ่มนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ และนักการทูตฯจัดทำความร่วมมือช่องทางพิเศษ แต่ทั้งหมดเมื่อเข้ามาแล้วต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐรับรอง โดยจะให้กระทรวงการต่างประเทศไปทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป ในส่วนของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร ขณะนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีใบอนุญาตการทำงาน และวีซ่าแล้ว จำนวน 69,235 คน และกลุ่มที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า จำนวน 42,168 คน คนกลุ่มนี้เมื่อเดินทางเข้ามาต้องมีหนังสือรับรองแพทย์ ผู้ประกอบการต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายก่อนนำแรงงานเข้ามา ซึ่งการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องมีการตรวจสุขภาพ อบรม ณ สถานที่กักตัว รับใบอนุญาตทำงานเมื่อครบกำหนดกักตัว และนายจ้างต้องจัดยานพาหนะมารับแรงงานดังกล่าว เมื่อแรงงานถึงสถานที่ทำงานแล้วต้องรายงานให้สาธารณสุขจังหวัดรับทราบ และจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ ติดตาม ทั้งนี้ การจะให้ทั้งหมดเข้าไปอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐถือว่ามีต้นทุนที่สูง เพราะตกอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อคน จึงมีแนวคิดให้เจ้าของกิจการจัดพื้นที่ขึ้นมาเพื่อให้แรงงานกักตัวมากกว่า 1 คนต่อห้อง โดยต้องมีมาตรฐานและระบบป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ออกนอกพื้นที่ ตรงนี้จะให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณารายละเอียดและดำเนินงานต่อไป
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติในหลักการให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดการแสดงสินค้าในราชอาณาจักร ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป โดยมีแนวทางปฏิบัติที่เข้ามาแล้ว ต้องอยู่ที่โรงแรมที่ได้รับการรับรองมีเจ้าหน้าที่ดูและ 1 ต่อ 10 คน ตรงนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. จะเป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียด อีกทั้งยังมีการอนุมัติในหลักการสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนต์ในประเทศ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่าสูง ตรงนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะดำเนินการในรายละเอียดก่อนจะเปิดให้เข้ามาในช่วงที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์ที่ จ.ระยองคลี่คลายแล้ว การแถลง ศบค.จะปรับการแถลงให้เหลือแค่วันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยตนจะแถลงวันจันทร์และวันศุกร์ ส่วนวันพุธจะให้ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข
จากนั้น พล.อ.สมศักดิ์แถลงว่า เหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือนนั้น จากการพูดคุยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยได้เชิญหน่วยงานด้านความมั่นคง ประชาคมข่าวกรอง และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมทั้งคณะแพทย์ซึ่งทั้งหมดได้ยินยันว่ายังต้องการที่จะมีกฎหมายลักษณะควบคุมต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน เหตุผลเพราะว่าสถานการณ์โลกในปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อทั่วโลกเฉลี่ยวันละเกือบ 200,000 ราย ถือเป็นสถานการณ์ที่ยังรุนแรง และอยู่รายล้อมประเทศไทย จึงคงมีจำเป็นต้องมีการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่เราจำเป็นต้องเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น และในที่ประชุม ศบค.วันเดียวกันนี้ก็ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการรับแรงงานต่างด้าว การเปิดให้มีการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น มีโปรแกรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติมาจัดการประชุมในประเทศไทย หรือแม้แต่การอนุญาตให้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ทั้งหมดเพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข
เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่าสิ่งที่เราอนุญาตหรือผ่อนคลายไปในเชิงธุรกิจ ในเชิงเศรษฐกิจ จะถูกชั่งน้ำหนักโดยความปลอดภัยด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนิ่งนอนใจ เข้าใจดีว่าทีมงานทางด้านกฏหมาย และกระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามเร่งรัดที่จะปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญใช้ในการควบคุมโรค เพื่อให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่มากยิ่งขึ้นใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายออกมา จึงยังมีความจำเป็นที่จะคงมาตรการสำคัญของรัฐโดยเฉพาะในการกักตัว 14 วัน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญ เครื่องมือเดียวที่จะทำได้คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“แต่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสบายใจยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาเราพยายามใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยากค่อนข้างเบาที่สุดแล้ว ถึงวันนี้เราไม่ได้มีการห้ามการออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว วันนี้สิ่งที่เราจะไม่ห้ามต่อไปคือเราจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออายุ 1 เดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกฎหมายปกติ ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าเพื่อต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยไม่มีมาตรการเรื่องการห้ามการชุมนุมเพื่อให้มั่นใจว่าเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประโยชน์ในการสาธารณสุขอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการชุมนุมที่ผ่านมาที่มีบางคนถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะดำเนินการอย่างไรต่อ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้การพูดถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนคือเดือนสิงหาคมเราจะไม่นำประเด็นเรื่องการห้ามการชุมนุมมาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะแจ้งข้อหาโดยใช้กฎหมายอื่นหรือแม้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้
เมื่อถามว่าฝ่ายกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายที่จะมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กรอบระยะเวลาอีกนานแค่ไหน เลขาฯ สมช.กล่าวว่า จะดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพราะเราตระหนักดี และตั้งแต่ต้นที่มีการตั้ง ศบค.ขึ้นมามีกฎหมายสองฉบับที่ใช้ควบคู่กันมาคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อแต่เมื่อใช้มาระยะหนึ่งแล้วได้พบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีจุดดีอย่างไร หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อมีข้อเสียอย่างไรแต่ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกฎหมายสองฉบับ เพราะกฎหมายทั้งสองฉบับถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ที่ต่างกัน พ.ร.บ.โรคติดต่อถูกออกแบบมาในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อำนาจหน้าที่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้สามารถกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกัน มาตรการแก้ไขควบคู่กันไป จึงได้เห็นการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับควบคู่มาอย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่าทีมกฎหมายที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมก็กำลังพิจารณาว่าเมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องไปหาจุดดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อมาผนวกกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่ออนาคตจะสามารถใช้ พ.ร.บ.ต่อเพียงฉบับเดียวได้
“พูดได้ชัดคือ การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเดือนสิงหาคมนี้ได้เอามาตรา 9 ออกไปการชุมนุมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศเป็นปกติ กฎหมายฉบับนี้จะควบคุมสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อกักตัว 14 วัน ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงต้นนั้นเพื่อใช้บังคับประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ทำในบางสิ่ง และกิจการบางอย่างเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ระยะหลังเรามีมาตรการการผ่อนคลายจนถึงขณะนี้คือระยะที่ 5 ไปแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีมาตรการอื่นในเชิงบังคับประชาชนอีกต่อไป นี่คือความแตกต่าง แต่ยังคงจำเป็นที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกอย่างน้อย 1 เดือนก่อน เพื่อรอว่าจะมีกฎหมายอื่นที่จะมาทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน”