xs
xsm
sm
md
lg

คลายล็อกต่างชาติเข้าไทย-ต่อพรก.ฉุกเฉินถึงสิ้นส.ค.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ศบค.ชุดใหญ่ อนุมัติให้ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน ถึง สิ้น ส.ค. 63 เตรียมเสนอเข้าครม. สัปดาห์หน้า เหตุคลายล็อกยังมีความเสี่ยงสูง ต้องกำกับดูแลต่อเนื่อง พร้อมผ่านหลักการรับต่างชาติเข้าไทยร่วมงานแฟร์-กองถ่าย-ทัวร์สุขภาพ-ผู้ถืออีลิทการ์ด ขณะที่คนไทยป่วยเพิ่มอีก 6 ราย จาก State Quarantine เลขาฯ สมช. ย้ำไม่ใช้มาตรา 9 ที่เกี่ยวกับการห้ามชุมนุม

วานนี้ (22 ก.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบตามสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือนถึงสิ้นเดือน ส.ค.63 โดยจะให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสัปดาห์หน้า เนื่องจากยังมีความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์ในช่วงที่ต่างประเทศยังมีการแพร่ระบาดรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยยังเปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์ข้อมูลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากจังหวัดระยองและ กทม. ทุกราย 7,207 รายไม่พบเชื้อ ส่วนความก้าวหน้าของวัคซีนภายในประเทศ ทำงานโดยฝ่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัย ส่วนต่างประเทศที่อังกฤษเริ่มทดลองในมนุษย์แล้ว ที่ประชุมให้มีความร่วมมือเป็นทางการในรัฐบาล และประสานงานภาคเอกชน โดยบริษัท สยาม ไบโอไซน์ ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนงบประมาณได้อนุมัติหลักการและลงรายละเอียดเพื่อหาแหล่งทุน และร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพผลิตวัคซีน

ส่วนการติดตามประเมินผลตามมาตรการผ่อนคลาย โดย ผบ.ทสส. รายงานเปรียบเทียบระหว่างระยะที่ 4 และระยะที่ 5 ซึ่ง ผอ.ศบค. ระบุว่าจะต้องสร้างความร่วมมือมากขึ้น และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ส่วนประเด็นเพื่อพิจารณา ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เลขาธิการ สมช. รายงานว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีคนไทยและต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร และมาตรการผ่อนคลายเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ต้องกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงต้องควบคุมการเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง ระบบติดตามตัว และควบคุมโรค จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ และอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ชีวิตวิถีใหม่

ขณะที่ความคืบหน้าการจัดทำข้อตกลงพิเศษ สำหรับกลุ่มนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางเข้ามา และนักการทูต โดยสรุปต้องอยู่ใน State Quarantine กระทรวงต่างประเทศจะเป็นผู้ที่ลงในรายละเอียด ขณะที่หลักปฏิบัตินำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา โดยกระทรวงแรงงาน มี 2 กลุ่ม คือ มี Work Permit 69,235 คน และไม่มี Work Permit 42,168 คน รวมแล้วกว่า 1 แสนคน เข้ามาในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมอาหาร หากต้องกักตัวใน State Quarantine ต้องมีต้นทุนกว่า 2 หมื่นบาท ซึ่งจะมีแนวคิดทำ Organizational State Quarantine เพื่อให้ได้รับการตรวจมาตรฐานไปพร้อมกัน ซึ่งต้องดูว่ามีระบบไม่ให้ออกข้างนอกอย่างไร และการอยู่ในพื้นที่ไม่ถ่ายทอดเชื้อไปติดของคนอื่น เหมือนระบบ State Quarantine และ Local Quarantine ที่ดูแลกว่า 6 หมื่นคน

ส่วนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม เช่น ชาวต่างชาติเข้ามาแสดงสินค้าจำนวนมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร จึงขออนุญาต ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้วต้องอยู่ใน ศบค. กำหนดไว้เป็น Alternative State Quarantine ระหว่างที่อยู่จะต้องมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแล 1 คนต่อชาวต่างชาติ 10 คน การจัดช่องทาง จัดโต๊ะที่นั่ง ถ้าคู่ค้าเจรจาโต๊ะต้องมีแผ่นกั้น ที่ประชุมได้พิจารณาและรับหลักการ โดยให้ สสปน. จะให้รายละเอียด ส่วนการให้ชาวต่างชาติมาถ่ายทำภาพยนตร์ วันนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีข้อเสนอป้องกันการแพร่ระบาดให้ที่ประชุมทราบ เช่น การมีใบรับรองแพทย์ มี ASQ มีเจ้าหน้าที่ Lialson Officer มีประกันสุขภาพ พร้อมกับเสนอทำ Medical and Wellness Program เพื่อให้ผู้ที่มารักษาในประเทศและกักตัว 14 วันได้เข้ามาท่องเที่ยว ส่วนผู้ถือบัตร Thailand Elite Card นำร่องให้มีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 200 ราย จะหามาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ประจำวันประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย จาก State Quarantine ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,261 ราย ป่วยหายแล้วสะสม 3,105 ราย รักษาอยู่ 98 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 58 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ประเทศไทย มาจากอียิปต์ 4 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และเยอรมนี 1 ราย ส่วนสถานการณ์โลก ผู้ป่วยยืนยันสะสม 15,093,712 ราย รักษาตัว 63,692 ราย รักษาหายแล้ว 9,110,724 ราย เสียชีวิต 619,467 ราย สหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือบราซิล และอินเดีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 103

เลขาฯ สมช. ย้ำ ไม่ขวางชุมนุมการเมือง

ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า จากการประชุมทางแพทย์ก็ยังยืนยันว่า ต้องมีกฎหมายควบคุมไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ปัจจุบันติดเชื้อเกือบวันละ 2 แสนคน สถานการณ์รุนแรงรายล้อมประเทศไทย จึงยังจำเป็นต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉินไปอีกระยะ ด้วยเหตุผลที่เราเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น จะมีการรับแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายโปรแกรมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น อนุญาตต่างชาติมาจัดประชุม ถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เครื่องมืออย่างเดียวที่ทำได้ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงขอขยายประกาศออกไป 1 เดือน เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น อย่างไรก็ตาม ทีมงานกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุขเองก็เร่งปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้มีบทบาทอำนาจมากยิ่งขึ้นใกล้เคียง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายแบบนั้นออกมา มาตรการสำคัญอย่างการกักตัว 14 วัน ก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือเดียว

“แต่ขอให้ประชาชนสบายใจขึ้น เพราะเราใช้มาตรา 9 เบาที่สุดแล้ว เราไม่ได้ห้ามการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว และจะไม่ใช้เพื่อมาห้ามการชุมนุม โดยมีเจตนาเพื่อควบคุมโรคอย่างบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว ซึ่งการห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออีก 1 เดือน แต่การชุมนุมก็ต้องไปปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามปกติ โดยจะเสนอ ครม.วันที่ 28 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ ถ้าประชาชนสังเกตช่วงต้นที่ประกาศฉุกเฉิน ก็เพื่อบังคับประชาชนไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค กำหนดจำกัดการเคลื่อนไหว ระยะหลังผ่อนคลายถึงระยะที่ 5 เราใช้ฉุกเฉินใช้เพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่มีมาตรการอื่นเชิงบังคับประชาชน นี่คือ ความแตกต่าง แต่ต้องใช้ไปอีก 1 เดือนก่อน เพื่อดูว่าจะมีกลไกอื่นที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงมาทดแทนหรือไม่” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การปรับแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะพยายามให้เร็วที่สุด ซึ่งตั้งแต่ตั้ง ศบค.ขึ้นมา ก็ใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่กัน ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย เพราะกฎหมายออกแบบมาต่างกัน อย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เรื่องอำนาจหน้าที่ฉุกเฉิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขควบคู่กันไป ก็ต้องหาจุดดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาผนวก พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่ออนาคตจะได้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น