ศบค.อนุมัติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน แจงเป็นเครื่องมือเดียวในการบังคับการเข้าออกประเทศ การกักตัว ติดตาม ยันใช้เพื่อควบคุมโรคอย่างเดียว จะไม่มีการห้ามชุมนุมใน พ.ร.ก.ที่ต่อออกไป จ่อเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า พร้อมเร่งปรับแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
วันนี้ (22 ก.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาความเหมาะสมการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ไปอีก 1 เดือน เนื่องจากภาพรวมของโลกยังมีการระบาดรุนแรง มีคนไทยจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนผันเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีการอนุญาตชาวต่างชาเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ขณะที่มาตรการผ่อนคลายในประเทศเป็นกิจการเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด จึงต้องมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดของโรคในประเทศ จึงขอขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ คือ
1. ควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2. จัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3. มาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม ทุกกิจกรรมกิจการที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ร่วมปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ฐานชีวิตวิถีใหม่ จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต ซึ่งที่ประชุมอนุมัติในการหลักการ โดยจะเสนอต่อ ครม.ในสัปดาห์หน้า
ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า จากการประชุมทางแพทย์ก็ยังยืนยันว่า ต้องมีกฎหมายควบคุมไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ปัจจุบันติดเชื้อเกือบวันละ 2 แสนคน สถานการณ์รุนแรงรายล้อมประเทศไทย จึงยังจำเป็นต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉินไปอีกระยะ ด้วยเหตุผลที่เราเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น จะมีการรับแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายโปรแกรมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น อนุญาตต่างชาติมาจัดประชุม ถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เครื่องมืออย่างเดียวที่ทำได้ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงขอขยายประกาศออกไป 1 เดือน เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น อย่างไรก็ตาม ทีมงานกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุขเองก็เร่งปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้มีบทบาทอำนาจมากยิ่งขึ้นใกล้เคียง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายแบบนั้นออกมา มาตรการสำคัญอย่างการกักตัว 14 วัน ก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือเดียว
“แต่ขอให้ประชาชนสบายใจขึ้น เพราะเราใช้มาตรา 9 เบาที่สุดแล้ว เราไม่ได้ห้ามการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว และจะไม่ใช้เพื่อมาห้ามการชุมนุม โดยมีเจตนาเพื่อควบคุมโรคอย่างบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว ซึ่งการห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออีก 1 เดือน แต่การชุมนุมก็ต้องไปปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามปกติ โดยจะเสนอ ครม.วันที่ 28 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ ถ้าประชาชนสังเกตช่วงต้นที่ประกาศฉุกเฉิน ก็เพื่อบังคับประชาชนไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค กำหนดจำกัดการเคลื่อนไหว ระยะหลังผ่อนคลายถึงระยะที่ 5 เราใช้ฉุกเฉินใช้เพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่มีมาตรการอื่นเชิงบังคับประชาชน นี่คือ ความแตกต่าง แต่ต้องใช้ไปอีก 1 เดือนก่อน เพื่อดูว่าจะมีกลไกอื่นที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงมาทดแทนหรือไม่” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว
พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การปรับแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะพยายามให้เร็วที่สุด ซึ่งตั้งแต่ตั้ง ศบค.ขึ้นมา ก็ใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่กัน ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย เพราะกฎหมายออกแบบมาต่างกัน อย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เรื่องอำนาจหน้าที่ฉุกเฉิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขควบคู่กันไป ก็ต้องหาจุดดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาผนวก พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่ออนาคตจะได้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับเดียว