โฆษกรัฐบาล เผย ครม.ไฟเขียวขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1-31 พ.ค. ตามที่ สมช.เสนอ
วันนี้ (28 เม.ย.) ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 - 31 พฤษภาคม 2563 ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง สมช. เสนอว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในห้วงต่อไปเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาและรักษาประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า การดำเนินการดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการเป็นเอกภาพส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นไปด้วยความรวดเร็วและทันท่วงทีต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
ประกอบกับหน่วยงานด้านการข่าวได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยและพึงพอใจต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และเห็นด้วยที่รัฐบาลจะพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป ที่ประชุมจึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 - 31 พฤษภาคม 2563)
2. ที่ประชุมเห็นควรดำรงมาตรการ/ข้อกำหนดที่ปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ
2.1 จำกัดการเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ (สำหรับทางอากาศ ให้ขยายระยะเวลาการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 - 31 พฤษภาคม 2563)
2.2 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน (Curfew) ระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
2.3 งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่จำเป็น
2.4 ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว
3. สำหรับการปฏิบัติในห้วงต่อไปภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ ศบค. เป็นกลไกหลักในการกำหนดกรอบแนวทางการบังคับใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้ศูนย์ปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคโควิด-19 ในด้านต่างๆ กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดรายละเอียดใน การปฏิบัติงานตามประเภทของภารกิจและความรับผิดชอบของตนในพื้นที่
4. ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดตรวจสอบและรวบรวมจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย (ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากมีตัวเลขคนไทยตกค้างในต่างประเทศสะสม) ให้ได้จำนวนที่ชัดเจนและประสานงานกับสำนักงานประสานงานกลางของ ศบค. เตรียมการรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าวเดินทางกลับประเทศเพื่อเข้าสู่มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
5. สำหรับการปฏิบัติงานในห้วงต่อไป เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติขึ้น และเพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความมั่นคงภายใต้ความปลอดภัยของประชาชน สำนักงานประสานงานกลางจะได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ศบค. ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ตามแนวทางดังนี้
5.1 การผ่อนคลายมาตรการในการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่นๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคม
5.2 การดำเนินมาตรการผ่อนคลายให้พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในลำดับแรก และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดควบคู่กันไปด้วยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ และ/หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภายหลังการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการตามวงรอบ หากพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ภาครัฐสามารถควบคุมได้ดีขึ้นจะพิจารณากำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่หากพบว่ามีการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นให้ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายในทันที5.3 ในห้วงที่มีการดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จะต้องเร่งรัดการตรวจเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มสาขาอาชีพบริการ กลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจตรากิจกรรมควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดได้อีก