เมืองไทย 360 องศา
ก่อนอื่นก็ต้องขออภัยเหมือนกันที่จั่วหัวมีคำว่า “ไอสัส” ปนอยู่ด้วย เพราะถ้าอ่านออกเสียงตามความหมายที่เข้าใจกันมันก็เป็น “คำหยาบ” เหมือนกัน แต่ในเมื่อโลกในยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปที่ตามโซเชียล ต่างใช้ถ้อยคำแบบนี้ในการสื่อสารและด่าทออีกฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบขี้หน้า จนอาจเป็นความเคยชิน ทั้งที่เข้าใจกันดีว่านี่คือ “คำหยาบ” ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ใช้กัน แต่ขณะเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทีมคณะก้าวหน้า กลับยืนยันว่า “ไม่ใช่คำหยาบ” มองว่า นั่นคือ การแสดงออกของคนรุ่นใหม่ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะใช้คำว่า “ธรและไอ้สัส” ในการสื่อความหมายกับการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกว่า “เยาวชนปลดแอก” อะไรนั่น เมื่อเย็นวันที่ 18 กรกฎาคม ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางคืน และในที่สุดก็ได้ยุติลงด้วยข้ออ้างโน่นนี่นั่น ก็ว่ากันไป
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงแรกก็มีความขึงขัง ดุดัน เช่น ให้ยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง พวกเขาก็สลายการชุมนุม ซึ่งก็น่าจะมาจากเหตุผลบางอย่าง แต่ที่คาดว่าสำคัญที่สุดก็คือ “บรรยากาศ” และ “จำนวนคนเข้าร่วม” ยังไม่ได้ หรือมีไม่มากพอที่จะสร้างแรงกดดันฝ่ายรัฐบาล
โดยเฉพาะสร้างแรงกดดันต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นเป้าหมายในการชุมนุมครั้งนี้ และตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา
หลายคนอาจมองว่าจำนวนผู้ชุมนุมอาจมี “หนาตา” รวมๆ แล้วร่วมพันคน ก็ถือว่าใช้ได้ แต่หากพิจารณาจากสถานที่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่พยายามสร้าง “สัญลักษณ์” ในการเรียกร้อง แต่หากพิจารณาจากจำนวนคนในช่วงเย็นและบางตาลงในช่วงค่ำๆ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า “อารมณ์ร่วมยังไม่มา” ซึ่งจะว่าไปแล้วจำนวนผู้ร่วมชุมนุมยังน้อยบางตากว่าที่ที่สกายวอล์ก ที่แยกราชประสงค์เสียอีก หรือที่บริเวณหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่เคยจัดชุมนุมมาก่อนหน้านี้
อีกทั้งหากพิจารณากันจากทั้งบรรดาแกนนำ รวมไปถึงฝ่ายที่สนับสนุนอยู่ข้างหลังสังคมก็มองออกว่าล้วนเป็น “คนหน้าเดิมๆ”ซึ่งหากบอกว่า งานนี้เป็น “ม็อบสีส้ม” และเครือข่ายแนวร่วมก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกลุ่ม “สามเกลอ” ของพวกเขาที่ยังมี นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช รวมไปถึงพรรคก้าวไกล ที่เคลื่อนไหวสอดรับกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการบิวท์อารมณ์มาอย่างต่อเนื่อง มีการสนับสนุนการเคลื่อนไหวกันอย่างออกหน้า จนถึงขั้นที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่า ข้อความในป้ายที่แกนนำสองคนไปชู “ด่านายกฯ” ขณะเดินทางไปให้กำลังใจชาวระยอง ก่อนหน้านี้ ที่มีคำว่า “พ่องงและไอ้สัส” ไม่ใช่คำหยาบ
รวมไปถึงแกนนำคนอื่นๆ เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” และคนที่ไปร่วมชุมนุมหลายคน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยเห็นกันในวงชุมนุม “ชูสามนิ้ว” อยู่เป็นประจำ และที่สำคัญ มีหลายคนที่มองดูแล้ว “เลยคำว่าเยาวชนไปมาก” แม้ว่าจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้า แต่ก็ยังคาดเดาออกได้ไม่ยาก
หลายคนทั้งแกนนำและผู้ชุมนุม ก็ล้วนแล้วแต่เคยเคลื่อนไหวมากับกลุ่ม 3 เกลอที่ว่ามานาน หลายคนก็เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น หากบอกว่านี่คือ “ม็อบของธนาธร” ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งก็เหมือนพยายามทดสอบกระแสกันอีกครั้ง แต่ก็โดยบรรยากาศโดยรวมก็ยังถือว่ายัง “จุดไม่ติด”
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถือว่ามีการ “แก้เกม” มาดีพอสมควร นั่นคือ ไม่ได้สร้างเงื่อนไขติดลบลงไปอีก อย่างน้อยในช่วงที่เกิดกระแสอารมณ์โกรธจากกรณี “ทหารอียิปต์และลูกทูตซูดาน”เขาก็รีบตัดเกม ลงพื้นที่ไปจังหวัดระยองอย่างเร่งด่วน พร้อมกับเอ่ยคำขอโทษ ก็ทำให้ลดอารมณ์ลงมาได้ไม่น้อย อีกทั้งในข้อเท็จจริงก็คือ ในระยองก็ยังไม่มีการระบาดเกิดขึ้นแม้แต่คนเดียว ที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงกระแสความกลัว ความตื่น ที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่พยายามผสมโรงสถานการณ์ขึ้นมา
การรณรงค์ให้ช่วยกันกลับไปฟื้นฟูช่วยเหลือชาวระยองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ทำให้สติของทั้งคนในพื้นที่และต่างถิ่นได้กลับมาจนเวลานี้เกือบจะปกติและเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะปกติ นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา เพราะในข้อเท็จจริงก็คือ “ไม่มีโรคระบาดรอบสอง”
ดังนั้น หากพิจารณากันด้วยบรรยากาศเท่าที่เห็นจากการชุมนมล่าสุดของ “ม็อบสีส้ม” คราวนี้ก็ต้องบอกว่ายังจุดไม่ติด กระแสยังไม่มา ชาวบ้านยังไม่มีอารมณ์เรื่องประชาธิปไตยเผด็จการอะไรนั่นนัก เพราะสิ่งที่สนใจเฉพาะหน้าก็คือ ปากท้อง อยากทำมาหากินอย่างปกติ ในท่ามกลางโรคโควิดให้รอดต่างหาก !!