นายทะเบียนพรรคพลังปวงชนไทย แจงเหตุขับไล่อดีตรองหัวหน้าพร้อมสมาชิกบางคนออกจากพรรค ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่เป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค มีหลักฐานชัดเจนว่าทั้งสามคนมีพฤติกรรมสร้างความขัดแย้ง ทำให้พรรคเสียหาย ไม่ให้ความร่วมมือกับพรรค แนะถ้ามีทีมงานมีเงินพร้อมให้ไปตั้งพรรคใหม่ดีกว่า
วันนี้(17 ก.ค.) นายพันธ์ศักดิ์ ซาบุ กรรมการบริหารพรรค และนายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังปวงชนไทย ชี้แจงกรณีที่มีกลุ่มบุคคลให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่าพวกตนถูกสกัดกั้นไม่ให้ลงชิงตําแหน่งหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทยและตําแหน่งอื่น ๆ ด้วยการลงมติให้ขับพวกตนออกจากพรรคด้วยข้อหาผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่สามัญของพรรคพลังปวงชนไทย เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ณ ห้องประชุมชั้น 4 เทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 18 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ทั้งที่คณะกรรมการสอบวินัยได้นัดตัดสินในวันที่ 24 ก.ค.แต่อยู่ๆ กลับมีมติแบบฟ้าผ่าลงมา และยังให้สัมภาษณ์อีกว่า มีคนอยากเข้ามาบริจาคเงินให้พรรค แต่เมื่อเขาเห็นแบบนี้เขาก็หนีหมด
นายพันธ์ศักดิ์ ชี้แจงว่า พรรคพลังปวงชนไทยได้ดําเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีข้อบังคับของพรรค เป็น ธรรมนูญยึดถือปฏิบัติร่วมกันอยู่ทั้งหมด 135 ข้อ มีจํานวน 75 หน้า ซึ่งในจํานวน 135 ข้อ ได้บรรจุว่าด้วยเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค ในหมวดที่ 8 ส่วนที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ส่วนที่ 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็น ค่านิยมหลัก ส่วนที่ 3 จริยธรรมทั่วไป และส่วนที่ 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ในกรณีของกลุ่มบุคคลดังกล่าว คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นว่า มีพฤติกรรมที่มีอคติอันขัดแย้งต่อการบริหารงานของพรรค โดยมีพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อโต้แย้งว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่น ๆ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางแอพพลิเคชั่น เช่น ในกลุ่มไลน์ที่ใช้ชื่อว่า “คนอยากเปลี่ยนแปลง” กลุ่มไลน์นี้ตั้งขึ้นมาในช่วงเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2562 ข้อความที่โพสต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งโดยตรงกับพรรคพลังปวงชนไทยมาโดยตลอด ไม่มีคู่ขัดแย้งรายอื่น ๆ ประกอบรวมอยู่ด้วย โดยได้ลงข้อมูลสร้างความขัดแย้งในโพสต์ เป็นระยะเวลาหลายครั้งหลายคราวต่อเนื่องกัน เช่น ข้อความที่มีผู้โพสต์ในกลุ่มไลน์ที่ใช้ชื่อว่า “คนอยากเปลี่ยนแปลง” ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มไลน์ โดยมีข้อความในทํานองว่า “หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคหลอกลวงให้ผู้สมัคร ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ได้คะแนนจากผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้วส่งผลให้ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อได้เป็นแล้วไม่ดูแลผู้สมัคร ส.ส.ที่สอบตกเลย เป็นการเหยียบหัวพวกตนขึ้นไปเป็น ส.ส. เมื่อได้ดิบได้ดีแล้วลืมสิ่งที่เคยพูดไว้ว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือคําหลอกลวง” แล้วหลังจากนั้นก็มีการแสดงความคิดเห็นกันไปมา และล่าสุดมีผู้แจ้งในไลน์ส่วนตัวว่า ได้ข้อมูลจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่า “งบ ส.ส.อยู่ที่หัวหน้าพรรคทั้งหมด” ทั้งที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติห้าม ส.ส. มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมารณรายจ่าย
กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการแสดงทัศนคติในเชิงลบ โดยมีเจตนา ทําให้สมาชิกพรรคและประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจผิดในภาพลักษณ์ของพรรคและการดําเนินกิจกรรมของพรรคในเชิงแตกแยก ความสามัคคีปรองดองและไม่มีความสร้างสรรค์ อันส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของพรรค โดยบุคคลทั้งสามมิได้แสดงการตักเตือนหรือแสดงความคิดเห็นสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อปกป้องพรรค ถือว่า ไม่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของพรรคด้วยจิตสํานึกที่ดีในทางอุดมการณ์ของพรรคในฐานะเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน ซึ่งถือเป็นปัญหาและอุปสรรคในความก้าวหน้าของพรรค สู่การมีบทบาททางด้าน การเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งทางพรรคก็แสดงความอดทนอดกลั้นด้วยวิธีอหิงสาอโหสิ และพยายามที่จะหารือสร้างความความเข้าใจโดยการหารือ ทั้งส่วนตัวและเป็นหมู่คณะ รวมทั้งเคยจัดงานละลายพฤติกรรมเข้าหากันแต่ก็ไม่เป็นผล พฤติกรรมยังเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา
ทั้งที่กลุ่มบุคลผู้ที่ให้การสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทั้งสามมีตําแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรค นอกเหนือจากนั้นบางท่านได้ยังรับการเสนอชื่อจากหัวหน้าพรรคต่อสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้แต่งตั้งเพื่อดํารงตําแหน่งผู้ชํานาญการประจําตัว นายนิคม บุญวิเศษ ซึ่งตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง บุคคล เพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 8 ระบุให้ผู้ชํานาญการประจําตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังต่อนี้
(1) ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายประกอบการดําเนินงาน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(2) ศึกษาสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อรวบรวม จัดทําญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือ หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งตําแหน่งรองหัวหน้าพรรคและผู้ชํานาญการประตําตัว ส.ส. จะต้องดูแลกิจการ งานของพรรคและตัว ส.ส. อย่างไกล้ชิด เพื่อรับการมอบหมายสั่งการจากหัวหน้าพรรค
ส่วนอีกสองคนได้รับมอบหมายให้ไปเป็นอนุกรรมาธิการในคณะต่างๆ แต่บุคคลทั้งสามไม่ให้ความร่วมมือกับพรรคโดยไม่มาทํางานที่พรรค หรือเข้าร่วมประชุมพรรค และเข้าร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ของพรรคเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินสมควร อันมิได้อ้างถึงเหตุขัดข้องต่อทางพรรค ถือว่าไม่เสียสละทุ่มเทเอาใจใส่และอุทิศตนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารงานของพรรค จึงถือว่าไม่ให้ความส่งเสริมในการบริหารงานและกิจกรรมของพรรคด้วยความตั้งใจ แต่กลับกล่าวหาพรรคว่า “กรรมการบริหารพรรคคนไหนขอตรวจสอบค่าใช้จ่ายของพรรค ก็ถูกกล่าวหาเป็นกบฏ คําว่ากบฏใช้กับเราไม่ได้ เราเพียงต้องการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ผมยืนยันว่าไม่ได้กระทําความผิดอะไร ก็อาจเกิดจากกระแสในพรรคที่ส่วนใหญ่สนับสนุนผมเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ จึงทําให้เกิดการขับพวกผมออกจากพรรค” ซึ่งพรรคดําเนินกิจกรรมด้วยความโปร่งใส โดยจะถูกควบคุมตรวจสอบและกํากับโดย สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีกรรมการบริหารพรรคคนไหนขอตรวจสอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว
เมื่อพิจารณาพฤติกรรมอันต่อเนื่องกันเรื่อยมา ประกอบกับพฤติกรรมก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจําปีของพรรคที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวสร้างแรงจูงใจกับสมาชิก โดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้สมาชิกเข้าใจผิดในการบริหารงานของพรรค เพื่อให้สมาชิกมาเลือกฝ่ายตน และสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลทางพรรคขอสงวนไว้เป็นข้อต่อสู้ทางคดีต่อไป โดยหัวหน้าพรรคพรรคได้อาศัยอํานาจ ตามข้อบังคับ ข้อ 24 (1) (ง) ประกอบข้อ 135 ออกคําสั่งพรรคพลังปวงชนไทย เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการกระทําความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรค แต่ด้วยเหตุดังกล่าวคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาแล้วเห็นว่า มีพยานหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า การกระทําของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ครบองค์ประกอบความผิดตามหมวดที่ 8 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรค ในส่วนที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ส่วนที่ 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ส่วนที่ 3 จริยธรรมทั่วไป และส่วนที่ 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
คณะกรรมการบริหารพรรค จึงใช้อํานาจตามข้อบังคับของพรรคพลังปวงชนไทย พ.ศ. 2561 ข้อ 75 (4) มีมติให้ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวออกจากความเป็นสมาชิกภาพของพรรค เนื่องจากกระทําความผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงดังกล่าว ขอยืนยันว่า ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ตามที่กล่าวหา แต่เป็นปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ขอแนะนําบุคคลทั้งสามว่าหากมีทีมงานพร้อมเงินให้ไปตั้งพรรคใหม่ดีกว่า
อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา นายอนันต์ ฉิมบุรีรมย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย พร้อมด้วยอดีตสมาชิกพรรคพลังปวงชนไทย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ขอให้ระงับการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคฯ ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ สืบเนื่องจากกรณีที่พรรคฯ มีมติขับตนเองและพวกออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วยข้อหาผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง ในช่วงกลางดึกของวันที่ 14 ก.ค. หลังจากที่ตนและพวก ประกาศตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคฯ มีความไม่ชอบมาพากล เป็นการตัดสิทธิ์ตนเองในการสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยที่ตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด ที่ผ่านมาตนและพวกพร้อมให้สอบ แต่ทางพรรคกลับยังไม่มีการเรียกสอบ และตนได้หารือกับประธานสอบจริยธรรมของพรรค ทนายของพรรค และได้ตกลงกันว่าจะมีการตัดสินการสอบจริยธรรมตนในวันที่ 24 ก.ค. หลังผ่านการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคฯไปก่อน แต่พรรคฯกลับมีมติดังกล่าวออกมาในช่วงกลางดึกวันที่ 14 ก.ค. จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่ามติดังกล่าวมาจากการลงมติของใครบ้าง มีวาระการประชุมถูกต้องครบถ้วนตามข้อบังคับพรรคหรือไม่ เพราะมติดังกล่าวทำให้ตนและพวกซึ่งเป็นทีมผู้สมัครเป็นกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิ์ในการลงสมัครเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ไปด้วย