xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น! ความเห็น “กฤษฎีกา” แก้ปม 4 ขรก.อบจ.พะเยา ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอื่นนอกจากฐานทุจริต ขอกลับไปทำงานที่เดิมได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลุ้น! ความเห็น “กฤษฎีกา” แก้ปม 4 ขรก.อบจ.พะเยา ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอื่นนอกจากฐานทุจริต ขอกลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิมได้หรือไม่ เหตุถูกชี้มูลความผิด ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ทั้งฝ่ายการเมือง และ ข้าราชการประจำ กรณีร่วมกันทุจริตในการจัดซื้อท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก

วันนี้ (15 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ ก.ลาง (อบจ.) หรือ ก.จ. ได้มีการหารือการดำเนินการทางวินัย กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ซ. มีมติชี้มูลความผิดฐานอื่นนอกจากฐานทุจริต และการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พะเยา

โดยประเด็นหารือการดำเนินการทางวินัยกับ “ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)พะเยา จำนวน 4 ราย” กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดฐานอื่นนอกจากฐานทุจริต นั้น ที่ประชุมเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีแนวทางปฏิบัติตามบันทึกความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 784/2562 เรื่อง การดำเนินการทางวินัยกับพนักงานเทศบาล กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดที่มิใช่การกระทำความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่ราชการ

ซึ่ง ก.กลาง ได้แจ้งเวียนให้ ก.จ.จ. ทุกจังหวัด ทราบ ตามหนังสือสำนักงาน ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.5/ว 16 ลงวันที่ 16 กันยายน 256 จึงให้ ก.จ.จ.พะเยา ถือปฏิบัติตามความเห็น คณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาทบทวน ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 784/2562 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นประการใด ก.กลาง จะแจ้งให้ ก.จ.จ.พะเยา ทราบต่อไป

ส่วนประเด็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้ง 4 ราย ตามนัยมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 และมาตรา 86 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และการขอกลับปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ นั้น เห็นว่า ประเด็นหารือดังกล่าวเป็นปัญหาการใช้บังคับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

อีกทั้งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติและมีดวามสำคัญกับหลักความมั่นคงแห่งสิทธิของข้าราชการ จึงมีมติหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อวางหลักปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นต่อไป.

สำหรับกรณีนี้ เมื่อปี 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ประกอบด้วย ความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และ ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อตนอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162 (1) (4)

โดยชี้มูลความผิด ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ทั้งฝ่ายการเมือง และ ข้าราชการประจำ 4 ราย กรณีร่วมกันทุจริตในการจัดซื้อท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 129 ท่อน งบประมาณ 241,800 บาท ในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา เมื่อปี 2555

เมื่อปีที่แล้ว 2562 ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับฟ้อง ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ก่อนอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์เป็นประกัน ส่วน ผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้ยื่นคำร้องต่อศาล และขอปฏิบัติหน้าที่ต่อในตำแหน่งเดิม.


กำลังโหลดความคิดเห็น