xs
xsm
sm
md
lg

ได้ที! ค.ก้าวหน้า ไล่บี้ “ป.ป.ช.” พุ่งเป้าเอียงข้าง “อยู่ฝั่งไหน-คนของใคร” โหน “ปู-ยิ่งลักษณ์” โดนกรณีย้ายถวิล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เด็กปั้น “ทักษิณ” จากแฟ้ม
“คณะก้าวหน้า” โหนกระแสซื้อใจ สาวก “ปู-ยิ่งลักษณ์” ทันควัน หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณี “ย้ายถวิล” ชี้เป้าเอียงข้าง “อยู่ฝั่งไหน-คนของใคร” ก่อนหน้านี้ กรณี “ยืมใช้คงรูป” นาฬิกาหรู “บิ๊กป้อม” ตัวอย่างชัดเจน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 ก.ค.63) เฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า-Progressive Movement ของอดีตคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค คดี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้เงิน 191.2 ล้านบาท ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

โพสต์ข้อความ หลัง “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ ระบุว่า “พลาดไม่ได้! เสวนา “องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี ? : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)”

เสาร์ที่ 4 กรกฎาคมนี้ เวลา 14.00 น.
ร่วมเสวนาโดย
- สมลักษณ์ จัดกระบวนพล : อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการ ป.ป.ช.
- วีระ สมความคิด : เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชัน
- ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขตบางแค
ดำเนินรายการ
- พรรณิการ์ วานิช : กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
#ป.ป.ช. #ยืมใช้คงรูป #องค์กรอิสระ #คณะก้าวหน้า

ก่อนหน้าไม่นาน ก็ได้แชร์ โพสต์ของ New Consensus Thailand หัวข้อ “[ องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี ? : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ]”

เนื้อหาระบุว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรอิสระที่เริ่มมีขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของประเทศไทย

หลายข้อกังขากับความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ป.ป.ช.

ไม่ว่าจะเป็นกรณี “ยืมใช้คงรูป” แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และอีกหลายกรณีที่เราพอจะคาดเดาทิศทางการตัดสินได้โดยดูเพียงว่า คนที่ถูกกล่าวหานั้น “อยู่ฝั่งไหน” หรือ “เป็นคนของใคร”

การทำงานของ ป.ป.ช. มีปัญหาจริงหรือไม่ หรือมีใครที่สามารถสั่งการอยู่เบื้องหลัง ป.ป.ช. ที่เป็นองค์กรอิสระได้ และเราจะแก้ไขปัญหาองค์กรอิสระที่ดูจะไม่ค่อยเป็นอิสระนี้อย่างไร

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคมนี้ เวลา 14.00 น.
ขอเชิญทุกท่านหาทางออกร่วมกันผ่านเวทีสาธารณะ New Consensus Thailand...

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน (1 ก.ค. 63) นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ใช้อำนาจโอน นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ

โดยข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการทำเรื่องขอรับโอนนายถวิล จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีบันทึกข้อความ ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนนายถวิล จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร และในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอนนายถวิล จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้มีคำสั่งให้นายถวิล มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งดังกล่าวทันที

ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด แล้วเสร็จภายใน 4 วัน จากนั้นในวันที่ 4 ต.ค. 54 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ

ภาพ จากเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่น เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ทั้งนี้ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 ต่อไป...

แน่นอน, อาจมองได้ว่า การจัดการเสวนา “องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี ? : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ของคณะก้าวหน้า กับ กรณี ป.ป.ช.ตัดสินชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” เป็นคนละเรื่องกัน และไม่เกี่ยวกัน?

แต่ถ้าสังเกตให้ดี ทุกครั้งที่มีประเด็นแหลมคมเกิดขึ้น หรือ ประเด็นที่มีผลได้เสีย มีผลสะเทือนทางการเมือง เพราะมีฝ่ายที่ไม่พอใจคำตัดสิน มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คำตัดสินในอดีตอยู่แล้ว คณะก้าวหน้า จะฉวยโอกาส สร้างประเด็นตอกย้ำ เพื่อเผด็จศึก ตามแนวทางต่อสู้ทางการเมืองของพวกตนทันที

ยิ่งกรณี “ยิ่งลักษณ์” ซึ่งเคยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี มีสาวกทั้งส่วนตัวและพรรคเพื่อไทยจำนวนมหาศาล เกือบค่อนประเทศ มีหรือจะไม่เข้าตา “คณะก้าวหน้า”

จึงไม่แปลก ที่คล้อยหลังคำตัดสินไม่นาน “คณะก้าวหน้า” จะออกกำหนดการ “เสวนา” ทันควัน เพื่อที่จะขยี้ “เป้าหมาย” ให้แตกยับ อย่างที่เกริ่นเอาไว้แล้ว ว่า

“หลายข้อกังขากับความโปร่งใสในการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นกรณี “ยืมใช้คงรูป” แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และอีกหลายกรณีที่เราพอจะคาดเดาทิศทางการตัดสินได้โดยดูเพียงว่า คนที่ถูกกล่าวหานั้น “อยู่ฝั่งไหน” หรือ “เป็นคนของใคร”...

อย่างนี้ บทสรุปของการเสวนามันชัดเจนแล้วว่า ป.ป.ช.สั่งได้ และมีคนอยู่เบื้องหลัง? แล้วอย่างไรต่อ ก็คือ เกมต่อสู้ของพวกเขานั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น