xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.แจงตั้งองค์กร โดย รธน.จึงไม่ต้องมี พ.ร.บ.จัดตั้ง การใช้อำนาจไร้ผลทาง กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล รธน. ร่อนเอกสารแจงตั้งองค์กร โดย รธน. จึงไม่ต้องมีพระราชบัญญัติจัดตั้งอีก ซ้ำ รธน.ให้ผลคำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร จึงไม่มีปัญหา เรื่อง การใช้อำนาจไม่มีผลทาง กม.

วันนี้ (1 ก.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารชี้แจง กรณีมีการเสนอข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 189 จึงไม่มีสถานะตามกฎหมาย ทำให้การทำหน้าที่ การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลตามกฎหมาย โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมีศาลเดียวโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญแยกเป็นบทเฉพาะอยู่ในหมวด 11 ตั้งแต่มาตรา 200 ถึงมาตรา 214 โดยบัญญัติเรื่องโครงสร้าง องค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ วิธีพิจารณาขององค์กรศาล ที่ทำหน้าที่พิทักษ์สถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคสี่ มาตรา 208 วรรคห้า และมาตรา 212 ได้บัญญัติให้มีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญออกเป็น 2 ส่วน คือ การสรรหา การวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันได้มี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ขึ้นใช้บังคับแล้ว โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทให้ต้องไปบัญญัติเรื่องการจัดตั้งศาลไว้ในกฎหมายอื่นอีก อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคสาม บัญญัติให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับหมวด 10 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป ได้แก่มาตรา 188 การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มาตรา 190 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษา และตุลาการพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตายเกษียณอายุตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบมาตรา 191 ก่อนเข้า รับหน้าที่ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และมาตรา 193 ให้แต่ละศาลมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการที่มีความเป็นอิสระ และให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมมาใช้บังคับแก่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม

ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ... จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2559 หลังจากที่เคยส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 นั้น เพื่อนำกลับมาดำเนินการยกร่างใหม่ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ทั้งนี้ และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 210 ในการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ร่างกฎหมาย ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา 271 วรรคสี่ บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นและมีหน้าที่อำนาจตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยตรง รวมทั้งผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรีศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐจึงไม่มีปัญหาทางกฎหมายในประเด็นเรื่องการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและการทำหน้าที่




กำลังโหลดความคิดเห็น