นายกฯ วอนเกษตรกรอ่างทองอย่าปิดถนน ย้ำไม่มีประโยชน์ เพราะน้ำต้นทุนไม่มี ให้คำมั่นจะดูแลเต็มที่ เตรียมยกหูคุย “สี จิ้นผิง” เย็นนี้หลังจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ชี้ไม่ส่งผลมาถึงไทย อ้างคนละลุ่มน้ำกัน
วันนี้ (14 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงปัญหาความขัดแย้งของเกษตรกรจากการขาดแคลนน้ำในการทำนาของเกษตรกรใน จ.อ่างทอง ที่ขู่จะปิดถนนประท้วงว่า ขอร้องเกษตรกรว่าอย่าปิดถนนเลย วันนี้ต้องดูว่าแหล่งน้ำเรามีที่ไหนบ้าง และสามารถผ่อนคลายช่วยเหลือได้ตรงไหนบ้าง ตนได้สั่งการให้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทานไปดูแลแล้วว่าจะทำอย่างไร จะช่วยเหลือเกษตรกรได้แค่ไหน ปัญหาคือเมื่อน้ำต้นทุนไม่มีตรงนั้นจะหาน้ำจากที่อื่นได้หรือไม่ ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคจะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้กำลังแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
“วันนี้ได้สั่งเร่งรัดรัดไปทุกที่ ทั้งการใช้น้ำบนดินและใต้ดิน ปัญหาสำคัญที่สุดคือน้ำสำหรับการเกษตรที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ฝนก็ตกน้อย แหล่งเก็บน้ำก็เก็บน้ำไม่ได้ ที่เราทำไว้เพิ่มก็ไม่มีน้ำ ก็จะทำอย่างไร อยู่ที่วิธีการว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร ผมก็ยืนยันว่าจะดูแลให้เต็มที่ อย่าปิดถนนเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าน้ำมันไม่มี มันไม่มีน้ำต้นทุน ปิดถนนไปก็ไม่มีน้ำต้นทุนอยู่ดี แต่จะต้องหาวิธีอย่างอื่น ถ้าขัดขวางการปฏิบัติงานก็มีปัญหาหมด คนอื่นก็เดือดร้อนด้วย“
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีประเทศจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี และจะระบายน้ำในเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมากนั้นว่า วันนี้ตนจะได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยตรงตัวต่อตัวในเย็นวันนี้ ซึ่งจะมีการหารือในหลายมิติด้วยกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิดระหว่างประเทศเรากับเขา ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ เรามีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด อย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ถือว่าเราให้ความร่วมมือกันในฐานะเป็นมิตรประเทศมายาวนาน
ส่วนที่มีข่าวจะมีการระบายน้ำที่เขื่อนบริเวณแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมากนั้น นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีการประสานงานกัน ทราบว่าพื้นที่น้ำท่วมของจีนนั้นจะไม่กระทบมาที่ลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นคนละลุ่มน้ำกัน ดังนั้น คิดว่าไม่มีปัญหาในขณะนี้ ความจริงแล้วเราต้องการน้ำในแม่น้ำโขงมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะตอนนี้มันมีปัญหาน้ำของเราไม่มี ก็คงต้องรอน้ำฝนอีกสักระยะหนึ่ง ระหว่างนี้ก็มีการช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค ช่วยเหลือในเรื่องของการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลซึ่งดำเนินการขุดมาหลายพันบ่อแล้ว ก็คงต้องใช้เวลามากพอสมควร
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรมันจะมีน้ำมากขึ้น การจูงน้ำจะทำอย่างไร เพราะน้ำบางทีไปอยู่ในที่ต่ำ แต่พื้นที่ทำเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งตามธรรมชาติน้ำก็จะใหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น การหาแหล่งน้ำในที่สูง การหาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรมันมีความจำเป็นที่เรียกว่าขนมครก ถ้าทุกบ้านมีการขุดบ่อน้ำสักจำนวนหนึ่งก็พอจะประทังไปได้บ้าง แต่จะถึงขนาดทำเกษตรขนาดใหญ่มันต้องใช้น้ำในระบบชลประทาน วันนี้ได้แบ่งมอบความรับผิดชอบไปแล้ว กระทรวงไหนรับผิดชอบในเขตชลประทานหรือนอกเขตชลประทานบ้างให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการจัดหาแหล่งน้ำให้กับประชาชน เราต้องแก้ปัญหาทั้งในเชิงทั้งมหภาคทั้งลุ่มน้ำทั้งหมด ทั้งในส่วนของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดด้วย นี่คือปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่มีมายาวนาน มันคงจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกด้วย