xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส ชู ผลสำเร็จโครงการบิ๊ก ดาต้า ด้านน้ำ ช่วยประเทศวางแผนตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส ชู โมเดล บิ๊กดาต้า น้ำ ประสบความสำเร็จด้านบูรณาการข้อมูลน้ำทุกภาคส่วน มั่นใจนำไปใช้งานได้จริง สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์แผนการใช้งานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งมอบข้อมูลให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นำไปต่อยอด

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ พ.ศ. 2555 - 2564 ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2558 ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลครบถ้วนแล้ว พร้อมส่งข้อมูลให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นำไปใช้วิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำลงลึกในระดับตำบลได้ทันที ทำให้รัฐบาลสามารถรู้ความต้องการใช้น้ำและสามารถวางแผนงบประมาณและโครงการส่งเสริมการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า สามารถรับรู้ได้ว่าพื้นที่ไหนแล้งบ้าง ตลอดจนสามารถคาดการณ์ในอนาคตถึงแผนการบริหารจัดการนำ้ได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

ดังนั้น จึงนับว่าโครงการนี้เป็นโครงการตัวอย่างในการทำบิ๊ก ดาต้า ด้านทรัพยากรน้ำอย่างแท้จริง ด้วยการบูรณาการข้อมูลน้ำจากทุกภาคส่วน ทั้ง หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน อย่างแท้จริง ทั้งจากความร่วมมือในการให้ข้อมูลร่วมกัน และจากการสำรวจด้วยการลงพื้นที่จริงในส่วนที่ข้อมูลมีไม่มากพอ ซึ่งนับจากนี้ข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องมีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบข้อมูลใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ เช่น ข้อมูลการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ การสร้างฝาย หรือ เขื่อน เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์น้ำได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ

โดยมีดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ 8 ข้อ คือ 1.ต้นทุนทรัพยากรน้ำทั้งน้ำผิวดินน้ำบาดาล 2.การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ครัวเรือนสถานที่ราชการ 3.วัดความมั่นคงของน้ำ เพื่อการพัฒนาในการเกษตรอุตสาหกรรมบริการและพลังงาน 4.ความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ 5.การจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม 6.การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเสีย 7. การจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และ 8. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

“โจทย์คือ เมื่อเรามีข้อมูลด้านน้ำของทั้ง 25 ลุ่มแม่น้ำด้วยการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนเข้ามาด้วยกันแล้ว จะทำอย่างไรให้ข้อมูลอัปเดทอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลไม่นิ่ง และการคาดการณ์ไม่คลาดเคลื่อน และไม่ต้องมีการตั้งโครงการใหม่ หรือ ตั้งงบประมาณใหม่ ขึ้นอยู่กับสำนักงานทรัพยากรน้ำว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ้างทีปรึกษาคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณ 46 ล้านบาท, จัดซื้อแท็บเล็ตจำนวน 20,000 เครื่อง ประมาณ 130 ล้านบาท เมื่อจบโครงการได้นำแท็บเล็ตให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป, การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการจ้างงานเจ้าหน้าที่ คุณมาดี 4 เดือน จำนวน 20,000 คน ประมาณ 400 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น