ข่าวปนคน คนปนข่าว
**โซเชียลร้อนฉ่า กระหน่ำด่ากองทัพ-บิ๊กแดง โยงปล่อยทหารอียิปต์ติดโควิดเที่ยวระยอง ทั้งที่ไม่เกี่ยว แต่งานนี้เป็นที่ศรัทธาและความเชื่อมั่นล้วนๆ
เป็นเรื่องที่สร้างความหวาดผวาและโกลาหลไปทั่ว จากกรณี “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 2 ราย คือ หญิงอายุ 9 ขวบ เป็นครอบครัวคณะทูตจากแอฟริกา และทหารอียิปต์ ที่เดินทางเข้ามาในไทย
ยิ่งกรณีหนึ่งในคณะทหารจากอียิปต์ที่เดินทางมาไทยเข้าพักที่โรงแรมใน จ.ระยอง แล้วตรวจพบภายหลังว่า ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งระหว่างนั้นมีข้อมูลว่า ทหารอียิปต์กลุ่มนี้ได้ออกจากโรงแรมไปเดินเที่ยวห้างในเมืองด้วย
ความวิตกกังวลส่งผลให้ “สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ” ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้สั่งการให้ทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ลงพื้นที่ตรวจสอบบุคคลที่มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มทหารอียิปต์ดังกล่าว และมีข่าวตามมาว่าสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัด ตัดสินใจปิดเรียน หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนทันที เพื่อกลับมาป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดอีกรอบ ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่อนคลายล็อกดาวน์ได้ไม่นาน
ขณะที่โลกโซเชียลร้อนระอุเป็นไฟ ชาวเน็ตต่างแสดงความเห็นอย่างโกรธแค้น ดุเดือด พุ่งเป้าไปที่กองทัพบก และ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผบ.ทบ.จนแฮชแท็ก # ด่าทอติดเทรนด์แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
ดรามากันตลอดทั้งวัน แถมยังเรียกร้องให้ “พล.อ.อภิรัชต์” แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งสังคมเคยเจ็บช้ำใจกรณีสนามมวยลุมพินี ซึ่งกองทัพบกปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาด แบบ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” มาแล้ว
ร้อนถึง “พ.อ.วินธัย สุวารี” โฆษกกองทัพบก ต้องออกมาชี้แจงแถลงว่า กองทัพบก และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารก ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น กับการเดินทางมาไทยของคณะทหารอียิปต์ พร้อมลูกเรือที่ติดโควิด-19
ความจริงมีว่า ทหารอียืปต์จัดอยู่ในหมู่ VIP ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน 11 กลุ่มชาวต่างชาติ ที่สามารถเข้าประเทศไทยได้ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) โดยจัดอยู่ในกลุ่มผู้ควบคุมยานพาหนะ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรตามภารกิจ และมีมาตรการรองรับในการกำกับดูแล
โฆษกกองทัพได้ขอให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล เสพข่าวโดยเฉพาะการติดเทรนด์ # ในทวิตเตอร์ และ โซเชียลมีเดีย กล่าวหา และเชื่อมโยง ให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากองทัพบก หรือผู้บัญชาการทหารบก มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นไม่จริง!!
ขณะที่ เพจ Army Spoke Team ของกองทัพบก ยังโพสต์ข้อความระบุว่า กองทัพบกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเดินทางของทหารอียิปต์ การกล่าวหาโดยปราศจากข้อเท็จจริง เชื่อมโยงในลักษณะชี้นำ หวังให้เกิดความเข้าใจผิด ขอผู้ใช้โซเชียลมีเดียยุติการส่งข้อความต่อ หรือติด # ในข้อความดังกล่าว เพราะไม่ใช่เรื่องจริง และอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีเจตนาบิดเบือนให้ร้ายต่อกองทัพบก
แม้โฆษก และเพจกองทัพจะออกโรงมาว่า “กองทัพ และ ผบ.ทบ.” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ทำไมเรื่องนี้กลับยังคงร้อนแรงในโซเชียลมีเดีย? นั่นเพราะดูจากผู้ติดเชื้อ ซึ่งไม่ใช่คนธรรมดา ประกอบกับ “สิทธิพิเศษ” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนนี้ว่า ให้พึงระวังการดูแลกลุ่มคน VIP ที่มีสิทธิพิเศษ จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่รัฐบาล หรือ ฝ่ายความมั่นคงพยายามบอกคนไทย “การ์ดอย่าตก” แต่หน่วยงานรัฐกลับเป็นเสียเอง คุมไม่ได้ เอาไม่อยู่ การ์ดตกเอง จนสิ่งที่กลัวว่าโควิด-19 รอบใหม่จะปะทุขึ้นมันเริ่มเป็นจริง
น่าเห็นใจและเหนื่อยใจแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน บุคลากรทางการแพทย์ ที่เฝ้าระวังป้องกันและดูแลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาด้วยดีตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
ขณะที่วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน-ธุรกิจ อย่างทุกข์ยากแสนสาหัส การป้องกันและคลี่คลายสถานการณ์ของโรคระบาดทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า เกือบดีอยู่แล้วเชียว เมื่อทราบข่าวทำนองนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปห้ามไม่ให้โซเชียล หรือสังคมโกรธแค้นหน้าสั่นนั้นคงมิได้
งานนี้จึงเป็นเรื่องศรัทธาและความเชื่อมั่นล้วนๆ.
** การเมืองไทยน่าเป็นห่วง เมื่อประชาชนหมดศรัทธากับพรรคการเมือง ต้องอยู่ท่ามกลางเขาควาย หันซ้ายก็เจอ พวกแย่งชิงอำนาจ จะถอนทุนคืน ทรยศ หักหลัง หันขวาก็เจอนักอุดมการณ์หางโผล่
มีประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ของ “ซูเปอร์โพล” เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเรื่องความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อพรรคการเมืองในขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 88.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ระบุว่า ความเชื่อมั่นลดลง ถึงไม่เชื่อมั่น กระทั่ง “หมดศรัทธา” เพราะเต็มไปด้วยคนมีประวัติด่างพร้อย แย่งตำแหน่ง แย่งอำนาจ มุ่งแต่จะถอนทุนคืน ทรยศ หักหลัง ไม่ปกป้องรักษาคนดี ไม่ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนของชาติ ไม่มีวินัย ไม่จริงใจ ไม่ได้รักประชาชน มีเพียงร้อยละ 11.1 เท่านั้น บอกว่ามีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เพราะทำงานแก้ปัญหา มีอุดมการณ์ เข้าถึงประชาชน...
แน่นอนว่า เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมือง ประชาชนย่อมนึกถึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่เป็นหลัก และภาพจำที่เห็นล่าสุด ก็คือ การชิงอำนาจภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค จาก “อุตตม สาวนายน” มาเป็น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เพื่อนำไปสู่การปรับ ครม. และผู้ที่ครองอำนาจ มีตำแหน่งสำคัญในพรรค มีจำนวน ส.ส.ในกลุ่ม ในมุ้งให้การสนับสนุน ก็จะนำไปต่อรองเอาตำแหน่งรัฐมนตรี ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่แล้ว ก็หวังจะอัปเกรด ไปคุมกระทรวงที่มีผลประโยชน์มากขึ้น
“พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน มาหลายยุคสมัย ก็หนีไม่พ้นปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันภายในพรรคเช่นกัน เกิดความขัดแย้งภายใน จนมี ส.ส.ในระดับแกนนำต้องลาออกจากพรรคไปหลายคน และภาพจำในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักก็คือ ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน มีการกักตุน หาประโยชน์ บนความทุกข์ของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัส ... ซึ่ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค ในฐานะ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็แก้ปัญหาไม่ตก
ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของ “ตระกูลชินวัตร” ที่มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็นหัวหน้าพรรค แม้ในยุคนี้จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน มัวแต่แย่งชิงอำนาจภายในพรรคเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อย้อนมองไปถึงช่วงที่เป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็มีแต่ภาพของการทุจริต คอร์รัปชัน ที่ออกมาในรูปแบบของ “ทุจริตเชิงนโยบาย” กอบโกย เอื้อประโยชน์เครือญาติ พวกพ้อง
ส่วน “พรรคก้าวไกล” หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” ซึ่งถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่ จากการอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ต้อง “แพ้ภัยตัวเอง” จนถูกยุบพรรค ต้องให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มาเป็น “นอมินี” ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน แต่แนวทางดำเนินการทางการเมือง ก็เป็นที่รับรู้กันว่ายังคงอยู่ใต้ปีกของ 3 แกนนำเดิม
เมื่อย้อนไปดูถึงผลสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ (5 ก.ค.) ที่ถามว่า … ถ้าเลือกตั้งกันในวันนี้ จะเลือก ส.ส.จากพรรคใด ผลปรากฏว่า ร้อยละ 16.7 บอกจะเลือกพรรคก้าวไกล รองลงมาคือ ร้อยละ 15.7 บอกเลือกพรรคเพื่อไทย ขณะที่ ร้อยละ 8.7 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ และ ร้อยละ 8.3 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 6.0 ... ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 41.2 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุด บอกต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ทำ “การเมืองใหม่”
จะเห็นได้ว่าภาพของการแย่งชิงอำนาจกันในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้คะแนนนิยมตกฮวบลงไป คือ ได้เพียงร้อยละ 8.3 ซึ่งแพ้ทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล
แต่ถัดมาเพียงสัปดาหห์เดียว (12 ก.ค.) เมื่อ “คณะก้าวหน้า” มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสเรื่องเงินบริจาค ในโครงการ “เมย์เดย์ เมย์เดย” และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาโหนกระแสเรื่อง “ลิงเก็บมะพร้าว” แบบตามก้นฝรั่ง ในลักษณะ “ชังชาติ” มีการนำภาพเก่าของต่างประเทศ มาโพสต์เพื่อให้เห็นว่ามีการทารุณกรรมลิง ความนิยมในพรรคก้าวไกล ก็ลดฮวบเช่นกัน โดยผลการสำรวจพบว่า ถ้าเลือกตั้งวันนี้ คนที่จะเลือกพรรคก้าวไกล เหลือเพียงร้อยละ 6.9 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มีตัวเลขอยู่ที่ ร้อยละ 16.7 หรือตีความได้ว่า ก่อนมีข่าว ร้อยละ 83.3 จะไม่เลือก เมื่อปรากฏข่าวดังกล่าวแล้ว คนที่ตั้งใจจะไม่เลือกพรรคก้าวไกล มีถึง ร้อยละ 93.1
“นพดล กรรณิกา” ผอ.ซูเปอร์โพล ได้วิเคราะห์ผลโพลออกมาว่า ผลจากการแย่งชิงอำนาจกันในพรรค และ ผลกระทบเงินบริจาคเมย์เดย์ เมย์เดย์ กำลังผลักประชาชนไป “อยู่ท่ามกลางเขาควาย” ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก กับพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองที่สร้างภาพประชาธิปไตย หันไปทางขวาก็เจอกับนักเลือกตั้งจ้องถอนทุนคืน แก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี ทรยศ หักหลัง ที่กำลังเป็นอยู่ในฝั่งรัฐบาล เมื่อหันมาทางซ้าย ก็เจอนักอุดมการณ์ ลีลาคารมชวนให้เคลิ้ม แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าอีกกลุ่มหนึ่งสักเท่าไหร่ จับต้องอุดมการณ์ไม่ได้ สร้างแต่ความหวังที่หางโผล่ให้ เห็นความไม่ชอบมาพากลชัดขึ้นเรื่อยๆ
สรุปในห้วงเวลานี้ประชาชนคงต้องใช้บริการ “ประชาธิปไตยทัมใจ” ไปพลางๆ ก่อน !!