เมืองไทย 360 องศา
หากพิจารณาจากรายชื่อบุคคลที่ได้ดิบได้ดีพาสขึ้นมารวดเดียวหลายขั้น มาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากย้ายสังกัดออกมา เท่าที่เห็นก็น่าจะมีเพียงสองราย คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะคนอื่นที่มาจากสาย กปปส. ด้วยกันที่ย้ายออกมาจากต้นสังกัดเดิม คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เหลือก็เป็น นายสกุลธี ภัททิยกุล ก็ไปเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะที่บางรายก็ไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ บางคนก็ยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์
แต่หากจะให้โฟกัสกันแบบเข้าเรื่องในนาทีนี้ก็ต้องเพ่งมองไปที่ สองรัฐมนตรีดังกล่าว ที่บอกว่า “พาสชั้น” ขั้นมาพรวดเดียวเป็นรัฐมนตรีว่าการ เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นว่าจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการมาก่อนเลย หรือตำแหน่งเทียบเท่ามาก่อนเลย ดังนั้น หากบอกว่าพรวดพราดขึ้นมานั่งเก้าอี้ในกระทรวงเกรดเอ หรือบีบวก ย่อมถือว่าน่าสนใจยิ่ง
แน่นอนว่า หากไปถามเจ้าตัวที่ผ่านมา “มีผลงาน” มากน้อยแค่ไหน ก็ย่อมได้รับคำตอบสวนกลับมาทันทีทำนองว่า “มีเยอะแยะ”มากมายนับไม่ถ้วน แต่ปัญหาก็คือ มันจะตรงกับความรู้สึกของชาวบ้านที่มองจากข้างนอกเข้าไปหรือไม่
ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันอีกมุมหนึ่งก็อาจจะอ้างได้ว่าเป็นกระทรวงที่ไม่หวือหวา อาจไม่สามารถเป็นข่าวโดดเด่นได้ทุกวันเหมือนกับบางกระทรวง แต่ถึงอย่างไรก็อาจไม่ใช่เหตุผล เพราะหากมีฝีมือจริงไม่ว่าจะไปนั่งที่ไหนก็ย่อมสร้างความจดจำได้อย่างดี แต่ปัญหาก็คือ สำหรับรัฐมนตรีสองรายดังกล่าวหากจะให้โฟกัสกันแบบ “เค้นหาคำตอบ” จากชาวบ้านให้ลองบอกมาสักเรื่องที่เป็นผลงานโดดเด่นกับการที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีของกระทรวงระดับเกรดเอ หรือบีบวก นี้ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถือว่าต้องบริหารงบประมาณเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ และเต็มไปด้วยปัญหาซึ่งทุกครั้งที่มีการพูดถึงก็จะเป็นเรื่อง “หนี้สินครู” และการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนการสอน เป็นต้น
แต่ที่ผ่านมา หากพูดกันด้วยความเป็นจริงผ่านมานานนับปีเศษที่เขาเข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญนี้ หากบอกว่า “ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน” ก็อาจเป็นการกล่าวหาที่รุนแรง แต่คำถามก็คือ จริงหรือไม่ เพราะหากให้จดจำผลงานของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ หากให้จำได้ก็เคยมีเรื่องเสนอให้มีการปัดฝุ่นโครงการ “จัดซื้อแท็บเล็ต” จนมีเสียงทักท้วงคัดค้านกันขรมจนต้องถอยกรูด
ถัดมาอีกเรื่อง ก็มีเรื่อง “การเรียนออนไลน์” ที่ถูกวิจารณ์ว่าสร้างปัญหาให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งครูผู้สอน ที่สำคัญก็คือ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำความไม่พร้อม” ระหว่างโรงเรียนและเด็กในเมืองกับในชนบท ไปจนถึงชายขอบ แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักก็คือ ไม่ใช่ว่าการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ดี ไม่เหมาะ แต่ประเด็นก็คือเป็นปัญหาในเรื่องของการ “ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ” ทั้งกับสังคมและผู้ปกครอง รวมทั้งนักเรียน จนเกิดเรื่องราวดรามาที่เด็กพาผู้ปกครองไปซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ในห้าง ทั้งที่เป็นเพียงการเรียนการสอน “แบบเสริม” ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดเท่านั้น เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย นักเรียนก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียน
นี่คือ อีกตัวอย่างของการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่หลายคนบ่นด้วยความผิดหวังว่าน่าจะ “แอ็กทีฟ” มีการทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ และแน่นอนว่า การเป็นรัฐมนตรีที่ ไม่มีเรื่องอื้อฉาวให้เห็นจะเป็นเรื่องดีเสมอไปหากไม่มีควบคู่กับผลงานที่โดดเด่นจับต้องได้ ไม่ใช่ประเภท “ความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ” แบบนี้ก็คงจะไม่ใช่เหมือนกัน
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้แสดงท่าทีไม่พอใจกับผลสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” ที่เป็นประเด็นส่วนหนึ่งว่า ชาวบ้าน “ผิดหวัง” หรือไม่ประทับใจผลงานของรัฐมนตรีที่มาจากอดีต กปปส. โดยเขากล่าวตอบโต้กล่าวหาในแบบที่เข้าใจว่า เป็นการทำโพลแบบมีเบื้องหลัง อ้างว่า เป็นการทำแบบเฉพาะเจาะจงจนผิดสังเกต พร้อมทั้งสรุปว่าเป็น “การเมืองเก่า” ไปเสียอีก
ขณะที่เมื่อเทียบกับอีกคนหนึ่ง ก็คือ นายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ที่แม้ว่าอาจจะไมมีผลงานโดดเด่นหวือหวา แต่อย่างน้อยที่ผ่านมาก็ยังถือว่า มีการเอาจริงเอาจังกับพวกปล่อย “เฟกนิวส์” มีการขึงขัง กับพวกปล่อยข่าวทำร้ายสถาบันเบื้องสูง แต่ระยะหลังก็เห็นเงียบไป หลังจากประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเอาสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มร้อย เพราะทางกรุงเทพมหานครมีท่าทีไม่เอาด้วยกับโครงการของทีโอที เนื่องจากมีโครงการที่ดำเนินการไปแล้วจากมติคณะรัฐมนตรีเหมือนกัน แต่เอาเป็นว่าเพื่อความเป็นธรรม สำหรับรายหลังก็พอกล้อมแกล้มไปได้บ้าง
ดังนั้น หากพิจารณาจากผลงานแบบเค้นคอหาคำตอบจากผลงานของบรรดารัฐมนตรีที่มาจาก กปปส. ซึ่งก็น่าจะหมายรวมถึงรัฐมนตรีรายอื่นแทบทั้งหมดนั่นแหละที่ไร้ผลงาน ไม่มีอะไรน่าจดจำ และสมควรที่ต้องโละทิ้ง ไม่ใช่แค่สับเปลี่ยนโยกไปโยกมา แบบสมบัติผลัดกันชม และที่สำคัญ ไม่ใช่เพราะการเมืองเก่าอยู่เบื้องหลังหรืออะไร แต่พูดกันแบบไม่ต้องกลัวโกรธกันก็ต้องบอกว่ามัน “ไม่ได้เรื่อง” จริงๆ คำว่าน่าผิดหวังอาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ !!