สถานการณ์ COVID-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นชะตากรรมร่วมกันทั้งโลก ผู้คนต่างเฝ้าพะวงและใจจดจ่ออยู่กับเจ้าไวรัสชนิดนี้กันทุกวี่วัน
ในขณะที่บ้านเราก็ยังน่าห่วงอยู่มาก แม้จะมีมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทยอยออกมาเพื่อหาทางป้องกัน และช่วยเหลือผู้คนในชาติ แต่ดูเหมือนสถานการณ์ก็ยังหนักหน่วง
แต่ถ้ามองในแง่ดี เราก็จะเห็นความพยายามปรับตัวกันในทุกภาคส่วน
และหนึ่งในการปรับตัวครั้งใหญ่แบบกะทันหัน ก็คือ เรื่องการศึกษา เพราะเป็นเรื่องที่เด็กและเยาวชนจากทั่วโลกได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้สถาบันการศึกษาในทุกระดับต้องปิดเรียนกะทันหัน และต้องปรับตัวหันมาใช้รูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์
กลายเป็นว่าจากสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาในทุกระดับชั้นเรียนแทบจะทันที โดยการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้กับการเรียนการสอน ทำให้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับชั้นของการศึกษา รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และนั่นหมายความว่าภาครัฐเองก็ควรจะใช้ช่วงเวลานี้ในการสะท้อนปัญหาและอุปสรรคก่อนจะนำไปสู่แนวทางที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาในบ้านเรา
เพราะก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน แต่ก็ประสบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องระบบ คน ความพร้อม เงิน และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่เมื่อประเทศต้องประสบกับปัญหา COVID-19 ในครั้งนี้ ดูเหมือนมันได้กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว “ทันที” กันถ้วนหน้า
ก่อนหน้านี้ UNESCOได้คาดการณ์ว่ามีนักเรียน นักศึกษากว่า 363 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19และประมาณการณ์ว่ามีสถาบันการศึกษาทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้ปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ขณะที่สถาบันการศึกษาในหลายประเทศ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อเปิดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
จีนเป็นประเทศแรกที่ประสบปัญหานี้ และเป็นประเทศแรกที่ประกาศหยุดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา หันไปเปิดการเรียนการสอนทางออนไลน์ทั้งระบบโดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกแนวปฏิบัติและระบุว่าสถาบันการศึกษาควรใช้ประโยชน์จากหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ทุกประเภท รวมถึงแพลตฟอร์มทรัพยากรห้องปฏิบัติการ เพื่อจัดการศึกษาออนไลน์ และใช้วิธีดำเนินมาตรการเพื่อตรวจสอบว่าการเรียนออนไลน์จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน
มาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาของทางการจีน ที่แก้ปัญหาได้ฉับไว ทันท่วงที และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมกับสถานการณ์
และจากประสบการณ์ตรงที่ลูกชายของดิฉันทั้ง 2 คน เรียนอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้เขาทั้งสองคนต้องเรียนผ่านออนไลน์เช่นกันทำให้ได้เห็นรูปแบบการเรียนการสอนของเขาผ่านออนไลน์ ซึ่งก็มีปัญหาและอุปสรรคอยู่ไม่น้อย แต่ดูเหมือนว่าเขามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามสถานการณ์ และพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ มีการประกาศใช้การเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ มีทั้ง เสมือนจริง (Virtual Education) หรือการออกแบบการเรียนการสอนให้อยู่บนระบบ Cloud และใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่อผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทางไกล
ทั้งยังมีแอพพลิชันเกี่ยวกับการศึกษา และมีเทคโนโลยี AR, VR และ AI ในการตอบโจทย์ด้านการศึกษาให้กับผู้เรียนได้ เพราะเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนบทบาทครูผู้สอน จากที่เคยเป็นผู้ชี้นำ ไปสู่การเป็นผู้สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน
การนำเทคโนโลยีด้านการศึกษา(Educational Technology)มาใช้ในการเรียนการสอน ช่วยให้การนำเสนอเนื้อหาการเรียนการสอนมีความน่าสนใจ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียน และครูได้มากขึ้นทั้งยังทำให้เราได้รู้จักแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมากมายที่ถูกนำมาใช้กับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
บ้านเราก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน หลายมหาวิทยาลัยได้มีการประกาศการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ โดยให้อาจารย์ผู้สอนจัดคลาสเรียนออนไลน์ และสามารถเลือกประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการสอนที่เหมาะสม อาทิ Facebook Broadcast, Microsoft Team, Google Classroom ,Moodle , Zoom, Blackboard Collaboration, Line, Webinar หรือ Google Meet ขึ้นอยู่กับลักษณะการเรียนการสอนแต่ละรายวิชา
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องการเรียนออนไลน์นั้นมีข้อจำกัดเรื่องความพร้อมส่วนบุคคลมากมาย โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่อยู่ต่างจังหวัด มีคุณครูที่ยังไม่มีความคุ้นชินกับโปรแกรมต่าง ๆ นักเรียนก็ไม่มีอุปกรณ์ รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ดีนัก
ดังนั้นหากสถาบันการศึกษาต้องปิดนานออกไปอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนอย่างจริงจังว่าจะสนับสนุนอย่างไรถือโอกาสภาครัฐได้ประเมินความพร้อมอย่างรอบด้านด้วย
วิกฤตในครั้งนี้ทำให้สถาบันการศึกษา ทั้งผู้เรียนผู้สอนได้ปรับตัวให้ชินกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งหลายวิชาเริ่มเห็นทิศทางความเป็นไปได้ในการเรียนออนไลน์
และนี่นับเป็นโอกาสการต่อยอดในอนาคต
สอดคล้องกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้ทั้งสิ้น 7 เรื่อง และเรื่องดิจิทัลก็เป็น 1 ใน 7 นั่นคือ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ( Digitalization for Educational and Learning Reform) โดยมีเป้าหมายรวม เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ในการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา สร้างคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ก้าวกระโดดทันกับพัฒนาการในโลก ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดยมีตัวชี้วัดเรื่อง แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลักษณะ Social Enterprise และคนทุกช่วงวัยนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เกิดเครือข่ายทั่วประเทศและนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปสู่สากล
การเรียนออนไลน์ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่มันมาเร็วกว่าที่คาด
ฉะนั้น ก็ถือโอกาสให้วิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาซะเลย
เพราะถ้าเราใช้วิกฤตเป็นโอกาส มองปัญหาให้เป็นการเรียนรู้ และมองเด็กวันนี้เป็นอนาคต เราก็จะมองเห็นวิธีการ และการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายได้