พว.ชวนปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้ แทนการท่องจำเนื้อหา
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ คนไทยยังยึดมั่นความคิดความเชื่อเดิม ๆ ว่า การเรียนคือการเรียนเนื้อหา จำเนื้อหา แข่งขันเนื้อหา สอบและวัดความรู้จากเนื้อหา แล้วก็ผูกคำว่าเนื้อหา คือหลักสูตร นี่เป็นความคิดเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหามาเน้นมาตรฐาน ตัวชี้วัด ความสามารถหรือสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหา ทำให้กระบวนการเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยน ถึงแม้จะมีการปรับหลักสูตรมาแล้วหลายครั้ง ทว่ากระบวนการเรียนรู้เรายังไม่เปลี่ยน ทำให้ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา
ดังนั้น จำเป็นต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่า หลักสูตรคือแผนการจัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้เอง การเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้นั้นจะมีทั้งเรื่องของมาตรฐาน สมรรถนะ กระบวนการ รวมถึงคุณภาพในมิติต่าง ๆ ด้วย ถ้าหากเราไม่สามารถก้าวข้ามความเข้าใจว่าการปรับหลักสูตร คือ การปรับเนื้อหา ไปได้ ประเทศไทยก็จะติดกับดักและเดินต่อไปไม่ได้
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันทบทวนและทำความเข้าใจร่วมกันว่า การปฏิรูปการศึกษาแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การเพิ่มคุณภาพผู้เรียนโดยเน้น วิธีการ เป็นการเรียนวิธีเรียนรู้ สอนวิธีเรียนรู้ ไม่ได้สอนเฉพาะเนื้อหาแบบแยกส่วน แต่สอนกระบวนการที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหา เป็นรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งสอดคล้องกับศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางไว้ให้เราเดินตามอย่างชัดเจน
“ผมดูยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 11 ด้าน ทุกอย่างอิงการศึกษา แต่ปรากฏว่าคุณภาพการศึกษาของเรายังไปไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะไปพัฒนาสังคมได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้จะทำให้เด็กเข้าถึงสังคมฐานความรู้ การสร้างองค์ความรู้ได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีต้นทุนสูงอยู่แล้วในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสามารถปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนไปสู่จุดนั้นได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำจริงจังแค่ไหน”ดร.ศักดิ์สินกล่าว