“ประวิตร” ห่วงใยพี่น้องแรงงาน สั่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ กำชับโรงงานป้องกันโควิด-19 เชิงรุก มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มสวัสดิการ เพิ่มรายได้ หลักประกันมั่นคง ให้ความเสมอภาค รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
วันนี้ (19 มี.ค.) พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ที่ประชุมรับทราบมติ ครม.เมื่อ 20 ต.ค. 2562 อนุมัติแต่งตั้ง คนช. โดยนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอนายกฯ เป็นประธาน คนช. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ประเทศไทยมีประชากร 66.6 ล้านคน มีผู้มีงานทำ 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54.3 มากกว่าครึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิการทางสังคม ทั้งทางสุขภาพ และหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเท่าที่ควร ไม่ทัดเทียมแรงงานในระบบ ทั้งนี้ คกก.ได้พิจารณาเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ (Action plan) ประจำปี 2563
ภายใต้แผนปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งประกอบด้วย3ยุทธศาสตร์ได้แก่ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึง, ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อการทำงาน และยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ โดยมีกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบ จำนวน10 หน่วยงาน จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อประสานและขับเคลื่อนนโยบาย จำนวน 4 คณะ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ต่อไป
พล.อ.ประวิตรได้ให้นโยบายโรงงานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และคณะอนุกรรมการที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับแรงงานนอกระบบ ให้มีคุณภาพฝีมือแรงงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง มีโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน อย่างทั่วถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
พล.อ.ประวิตรได้กำชับโรงงานให้กำหนดมาตรการต่อการเฝ้าระวังและป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะติดต่อไปยังแรงงานนอกระบบ และมีการแพร่กระจายได้โดยง่าย โดยเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการป้องกันเชิงรุก อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้