ดีอีเอส นำร่องประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดผ่านระบบประชุมทางไกล มอบแนวทางการใช้งบประมาณ 2563 และการปรับรายละเอียดงบประมาณ 2564 รองรับมติ ครม. มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และภัยแล้ง
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 กระทรวงฯ ได้นำร่องประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference) กับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หารือเรื่องการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. ที่ผ่านมา และเป็นไปตามมาตรการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
การประชุมครั้งนี้ ได้มอบหมายแนวทางให้กับผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) , สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ไปทบทวนการใช้งบประมาณ และจัดทำโครงการต่างๆ โดยมุ่งสร้างให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการจ้างงาน จ้างผู้ผลิตและผู้ประกอบการรายย่อย
ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการตามหลักการของมติ ครม. ที่ผ่านมา ในเรื่องรายจ่ายประจำ ซึ่งจะปรับลดลง 10% และนำงบส่วนนั้นไปใช้จัดจ้างผู้ประกอบการรายย่อย สร้างการจ้างงาน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง อีกทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ มีนโยบายชัดเจนให้งดการเดินทางในสถานการณ์ช่วงนี้ หากหน่วยงานใดมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องเสนอโครงการในการบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และภัยแล้ง สามารถเสนอของบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
สำหรับการปรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มุ่งเน้นให้แต่ละหน่วยงาน ปรับปรุงคำเสนอของบประมาณและโครงการ 1.ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและยาวนาน 2.ไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่จัดสรรไว้ สำหรับรายจ่ายผูกพันตามสัญญา ตามมติ ครม. ไปเป็นรายการอื่น 3.รักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุนให้อยู่ในระดับที่ ครม. เห็นชอบในภาพรวม และ 4.ไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ ที่มีภาระผูกพันงบประมาณในปีต่อๆ ไป
“การประชุมผ่านระบบทางไกลในวันนี้ ถือเป็นการนำร่อง และจากนี้กระทรวงฯ จะใช้วิธีการประชุมรูปแบบนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ทำให้การปฏิบัติงานของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”