ภาค ปชช.รวมตัว ยื่นคำร้องผู้ตรวจฯ สางทุจริต สกสค. ทำปลดพนักงาน 961 คน ชี้คำสั่งเลิกจ้างไม่ชอบ เตรียมแจ้งความเอาผิดเหตุยังไม่จ่ายค่าแรงเดือน มิ.ย. แฉให้ พนง.เป็นแพะเหตุต้องการย้ายโรงพิมพ์เอาที่ดินลาดพร้าวสร้างคอมเพล็กซ์
วันนี้ (10 ก.ค.) นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ ผู้แทนเครือข่ายปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน นายนิวัติไชย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภา นายอารีย์ สืบวงค์ ประธานที่ปรึกษาสหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภา อดีตพนักงานโรงพิมพ์คุรุสภา เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการองค์การค้าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือ สกสค. และคณะกรรมการบริหารโรงพิมพ์คุรุสภาว่ามีการบริหารงานที่ไม่โปรงใส สร้างความเสียหาย จนส่งผลให้มีการปลดพนักงาน สกสค.961 คน รวมทั้งตรวจสอบคำว่าคำสั่งเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยนายวิวัฒน์ชัยกล่าวว่า ก่อนที่บอร์ด สกสค.จะมีมติเลิกจ้างพนักงานเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้ลงนามคำสั่ง สกสค.ให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากสถานการณ์โควิดรวม 4 ฉบับ โดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานเลย จึงเห็นว่าคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวไม่ชอบกฎหมาย และนายดิศกุล เป็นเพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สกสค. ไม่น่าจะมีอำนาจลงนามเลิกจ้างพนักงานได้ ขณะเดียวกัน เหตุผลในการเลิกจ้างที่อ้างว่าขาดทุนต่อเนื่องนั้น จากข้อมูลพบว่า การขาดทุนเกิดจากอดีตผู้บริหารของกระทรวงศึกษาตั้งแต่ รมต. ปลัดกระทรวง บอร์ด สกสค.มีการไปกู้เงินเพื่อมาลงทุนในบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวชั่น กรุ๊ป จำกัด รวมทั้งไปจ้างพิมพ์หนังสือที่โรงพิมพ์ใน จ.นครราชสีมา มูลค่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีการเรียกคืนค่าเสียหาย กลับมาลงที่พนักงาน
“เท่าที่ได้ข้อมูลองค์การค้าคุรุสภามีรายได้ปีละ 2 พันล้านบาทจะขาดทุนได้อย่างไร แต่วันนี้กลับมาไล่พนักงานออก ผมมองว่ามีเจตนาซ่อนเร้น พื้นที่คุรุสภามี 52 ไร่ มูลค่าไร่ละ 100 ล้านบาท ทราบว่าเขาต้องการเอาโรงพิมพ์ลาดพร้าวย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเพราะจะใช้ที่ดินเพื่อสร้างคอมเพล็กซ์ ซึ่งถ้ามีการย้ายออกจริงรับรองว่าไม่เกิน 6 เดือนอาคารที่ลาดพร้าวจะถูกทุบทิ้งแล้วดำเนินการสร้างคอมเพล็กซ์ทันที” กล่าวและว่าจึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบการบริหารของผู้บริหาร สกสค. เส้นทางการเงินของผู้บริหาร บัญชีรายรับ-จ่ายของโรงพิมพ์ ย้อนหลัง 10 ปี เพื่อให้ทราบว่า การขาดทุนดังกล่าวเกิดจากเหตุใด และคำสั่งเลิกจ้างพนักงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ด้านนายอารีย์กล่าวว่า ตามคำสั่งเลิกจ้างให้มีผลในวันที่ 1 ส.ค. แต่ขณะนี้เงินเดือนพนักงานของเดือน มิ.ย. ยังไม่มีใครได้รับทางสหภาพมีการทวงถามก็อ้างว่าให้ไปรับเงินจากสำนักงานประกันสังคม แต่ทางประกันสังคมก็แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายให้ได้ จากนั้นผู้บริหารก็เรียกพนักงานไปคุยระบุว่าจะให้เงินเยียวยาเลิกจ้าง 1 แสนบาท โดยไม่มีการพูดถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ ซึ่งเราไม่ยอมรับและถ้าภายในสัปดาห์นี้ไม่มีการจ่ายเงินเดือนของเดือน มิ.ย. ทางพนักงานก็จะมีการฟ้องอาญาผู้บริหาร
ทั้งนี้ ทางพนักงานต้องการให้มีการทบทวนมติ และยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง เพราะคำสั่งดังกล่าวออกมาขัดต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ข้อบังคับองค์การค้า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน แล้วมาหารือร่วมกันว่าหนี้สกสค.เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าบอกว่ามาจากปัญหามีคนมากก็ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่เอาหนี้เป็นตัวตั้ง แล้วล้มกระดานเลิกจ้างคนทั้งหมด และค่อยจ้างคนเข้ามาใหม่100 คน ซึ่งองค์การค้าฯ มีงานพิมพ์ อยู่ประมาณ 3-4 พันล้านบาท การทำเช่นนี้แสดงถึงเจตนาว่าต้องการนำงานไปจ้างคนนอกพิมพ์ นอกจากนี้ กระแสข่าวออกมาว่าจะดำเนินการย้ายโรงพิมพ์ลาดพร้าวไปอยู่ที่ใหม่เพื่อขายที่ดิน ซึ่งถ้าผู้บริหารคิดว่าสิ่งที่ทำถูกนั้น ทางสหภาพก็คงไม่คาดหวัง และคงต้องเดินหน้าดำเนินคดีอาญากัน
“เราไม่ข้ามไปถึงเรื่องเงินเยียวยา เพราะเราต้องการให้ทบทวนมติและยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง ผู้บริหารบอกว่าการเลิกจ้างต้องจ่ายเงินเยียวยา 2 พันล้าน เอาเงินนี้มาฟื้นฟูซื้อเครื่องจักรใหม่ สร้างระบบเทคโนโลยีใหม่ ก็ยังใช้เงินไม่ถึง 2 พันล้าน ก่อนหน้านี้ รมว.ศึกษาฯ บอกว่าเดือน มิ.ย.เป็นหนี้ 5,700 ล้านแต่วันนี้ห่างแค่เดือนเดียวกลับบอกว่าเป็นหนี้ 6,700 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าขึ้นมาอย่างไร องค์การค้าถูกประณามในสื่อว่าเอาเงินชาติมาทำลายเป็นหนี้เป็นสิน เสียดายงบประมาณรัฐ ขอยืนยันว่า องค์กรค้าฯ ไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ กระทรวงศึกษาฯ สกสค. แม้แต่บาทเดียว สกสค. เอาเงินกองทุนฌาปนกิจครูมาให้กู้คิดดอกเบี้ย การทำธุรกิจส่วนใหญ่คนกำกับดูแลต้องเป็นผู้รับผิดชอบทุกด้านทั้งคน เทคโนโลยี ต้องบริหารอย่างมืออาชีพ แต่วันนี้ดูแล้วหมดที่พึ่ง จึงต้องหวังพึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ละเมิดข้อกฎหมายและกระทำความผิดทั้งเรื่องการทุจริตและการเอื้อประโยชน์โครงการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะคนเหล่านี้เป็นกากเกลื้อนของสังคมที่ควรต้องดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด”