xs
xsm
sm
md
lg

สกสค.แจงเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ เหตุเป็นหนี้ 6.7 พัน ล.-ปรับลดองค์กร สหภาพฯ ซัดไม่เป็นธรรม แฉสั่งหยุดงาน ไม่จ่ายเงินเดือน ค่อยปลดออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสค. แจงเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ เหตุต้องปรับลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมเนื้องาน พ่วงขาดทุนสะสมกว่า 6.7 พันล้านบาท ชี้ รมว.ศธ.เป็นคนตัดสินใจ ยันแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมาย พร้อมจ่ายเงินชดเชย ด้วยเงินยืม สกสค. 1.5 พัน ล. ต่ำสุดได้ 5 แสน บางคนได้ 3-4 ล้านบาท ด้านสหภาพฯ ซัดเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แฉสั่งหยุดงานยาว พร้อมงดจ่ายเงินเดือน ให้ไปรับเงินว่างงานประกันสังคม เล็งหารือ 2 ก.ค. ฟ้องร้องเอาผิด

จากกรณี นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.องค์การค้าของ สกสค. ลงนามเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าของ สกสค.จำนวน 961 ราย โดยไม่แจ้งล่วงหน้านั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป

วันนี้ (30 มิ.ย.) นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ โฆษก สกสค. กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า คำสั่งเลิกจ้างจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 ถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน สาเหตุการเลิกจ้าง เนื่องจากองค์การค้าฯ ไม่สามารถผูกขาดพิมพ์ตำราเรียนเพียงรายเดียวตามกฎหมายที่ออกมาในปี 2546 จึงไม่สามารถจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน เหมือนในอดีต เพราะภาระงานไม่ได้มีมากเท่า จึงต้องปรับลดขนาดองค์กรลงให้เหมาะสมกับเนื้องาน ประกอบกับการขาดทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเป็นหนี้สะสมกว่า 6,700 ล้านบาท เฉพาะจ่ายเงินเดือนพนักงานก็ราว 40 ล้านบาทต่อเดือน หากไม่ปรับลดพนักงานอาจติดหนี้สะสมถึงหมื่นล้านบาทในเร็วๆ นี้

นายธนพร กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่มีการปิดองค์การค้าฯ แต่ต้องปรับขนาดองค์การให้เล็กลง ให้เหมาะสมกับเนื้องาน หากไม่ทำก็อาจล้มทั้งหมด ก็ต้องเลือกรักษาองค์กร ซึ่งคนที่กล้าตัดสินใจ คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นายดิศกุล ที่พร้อมยอมรับแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นตามมา สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินชดเชยต่ำสุด 5 แสนบาท สูงสุด 3-4 ล้านบาทตามอายุงาน โดย สกสค.จะให้ยืมมาจ่ายชดเชยราว 1,500 ล้านบาท หลังจากนี้ จะรวบรวมหนี้จากองค์การค้าฯ ทั้งหมด ทั้งที่เป็นหนี้จากภาคเอกชนและเป็นหนี้ สกสค. ก่อนจะนำทรัพย์สินขององค์การค้าฯ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร มาบริหารจัดการหนี้ คาดว่า เมื่อนำมารวมชำระหนี้แล้ว องค์การค้าฯ อาจเหลือหนี้ 1,000 ล้านบาท

ด้าน นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าวว่า พนักงานองค์การค้าของ สกสค. จำนวน 961 ราย ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เนื่องจากวันที่ 22 พ.ค. ผอ.องค์การค้าฯ มีคำสั่งขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่หยุดงานถึงวันที่ 30 มิ.ย. จากเหตุผลการระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ถือเป็นวันลา ให้รับค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือน แต่วันที่ 19 มิ.ย. กลับมีหนังสือคำสั่งอีกฉบับให้งดจ่ายเงินค่าจ้างใน มิ.ย.นี้ โดยให้ไปรับเงินว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แทน ในอัตราร้อยละ 62 ตามสิทธิประโยชน์ทดแทนว่างงาน จากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากโรคระบาดของโรคติดต่ออันตราย นอกจากนี้ วันที่ 25 มิ.ย. ยังมีประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป โดยไม่ถือเป็นวันลา และให้ใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และถึงมามีคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563

“ผมมองว่า องค์การค้าฯ มีหนี้สินสะสมจริง แต่ไม่ถึงจะล้มละลายหรืออยู่ไม่ได้ ขอตั้งคำถามว่า การกระทำเช่นนี้ถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดหรือไม่ การเลิกจ้างเช่นนี้มีธรรมาภิบาลและเป็นธรรมกับพนักงานหรือไม่ จำเป็นที่ต้องเลิกจ้างงานในขณะที่องค์การค้ามีหนี้สินเยอะ แต่งานและภารกิจต่างๆ ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์หนังสือ จะดำเนินการอย่างไรต่อ หรือจะไปเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนในการจัดพิมพ์ และเมื่อประกาศว่าเลิกจ้างพนักงานโดยจะจ่ายตามกฎหมาย องค์การค้าจะนำเงินจากไหนมาจ่าย จะนำเงิน สกสค.มาจ่ายหรือไม่ หากทำเช่นนั้น จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นายนิวัติชัยกล่าว

นายนิวัติชัย กล่าวว่า เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนให้พนักงานอย่างมาก และมองว่า ยิ่งแก้ไขปัญหายิ่งผิด เดิมที่รัฐบาลกำหนดว่าจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาฟื้นฟูองค์การค้าฯ แต่การกระทำเช่นนี้เรียกว่าฟื้นฟูองค์กรหรือไม่ แม้จะไม่ยุบองค์การค้าฯก็ตาม แต่ภารกิจที่องค์การค้ารับผิดชอบ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อเลิกจ้างพนักงานเช่นนี้ ผู้ปกครอง นักเรียน จะได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะต่อไปจะซื้อหนังสือเรียนราคาเท่าไร เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ และ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่มีธรรมาภิบาล ต่อไปทางสหภาพฯ จะไปดูว่ามติที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรมกับลูกจ้างหรือไม่ และขัดต่อกฎหมายใด ขณะนี้กำลังปรึกษาผู้รู้ด้านกฎหมาย และนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมวิสามัญสหภาพแรงงานฯ วันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการครั้งต่อไป เพื่อเอาผิด หรือฟ้องร้องกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและประเทศชาติ

“ผลกระทบที่ได้รับคือ หนังสือที่จะพิมพ์ในปีถัดไปจะดำเนินการอย่างไร นักเรียน ผู้ปกครองก็กังวลว่าเมื่อองค์การค้าฯ เลิกจ้างพนักงานไป การจัดพิมพ์ คุณภาพหนังสือ และราคาขายจะได้ราคาที่เป็นธรรมและเป็นกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองหรือไม่ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ที่บางคนมีภาระต้องหาเลิกครอบครัวเมื่อถูกเลิกจ้างในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ พนักงานจะทำอย่างไร” นายนิวัติชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น