รอยเตอร์ - แอร์ฟรานซ์มีเป้าหมายนำเสนอแผนหนึ่งต่อสหภาพแรงงาน ในการปรับลดพนักงาน 6,500 อัตราในช่วง 2 ปีข้างหน้า จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิดในวันอังคาร (30 มิ.ย.) ในขณะที่สายการบินแห่งนี้พยายามดิ้นรนรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
สายการบินเรือธงของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอร์ฟรานซ์-แคแอลเอ็มกรุ๊ป กำลังปรับลดขนาดองค์กร และยกเลิกเส้นทางการบินภายในประเทศที่ขาดทุน ในขณะที่โรคระบาดใหญ่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศอย่างหนักหน่วง
อย่างไรก็ตาม ในการปรับลดพนักงานสูงสุด 6,500 อัตรา ในนั้นรวมถึงนักบิน, พนักงานภาคพื้นและพนักงานต้อนรับบนเที่ยวบิน คิดเป็นไม่ถึง 15% ของพนักงานทั้งหมด นอกเหนือจากนี้แล้วจะมีการปรับลดพนักงานอีก 1,000 อัตราของสายการบิน HOP! ของแอร์ฟรานซ์ หนึ่งในแหล่งข่าวระบุ
สอดคล้องกับรายงานของสถานีโทรทัศน์ BFM TV และสำนักข่าวเอเอฟพี ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่ามีแนวโน้มที่จะมีการปรับลดพนักงานราวๆ 7,500 อัตรา
แอร์ฟรานซ์ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวเกี่ยวกับแผนปรับลดพนักงานของพวกเขา แต่คาดหมายกันว่าทางสายการบินแห่งนี้จะมีการพูดคุยหารือกับทางสหภาพแรงงานในวันศุกร์(3ก.ค.)
แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในการปรับลดพนักงานนั้น ราว 3,500 อัตราจะมาจากการลดจำนวนพนักงานโดยการไม่จ้างทดแทนพนักงานที่ออกไป ผ่านการลาออกโดยสมัครใจหรือเกษียณ
ภายใต้การบริหารงานของซีอีโอ เบน สมิธ ซึ่งย้ายมาจากแอร์แคนาดาในปี 2018 ทางสายการบินแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม กำลังหาทางปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานฝรั่งเศส และก้าวข้ามเหตุกระทบกระทั่งด้านการบริหารระหว่างฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่างถือหุ้นเกือบๆ 14%
ด้วยมีภาระหนี้ถึง 10,400 ล้านยูโร ผ่านการกู้ยืมจากรัฐบาลเพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ในนั้นรวมถึงเงินสนับสนุนจากฝั่งเนเธอร์แนด์ 3,400 ล้านยูโรที่อนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เวลานี้ทางแอร์ฟรานซ์และเคแอลเอ็ม ต้องยกระดับปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและคงความเป็นอิสระ
บรรดาคู่แข่งทั้งหลายต่างเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการแถลงปรับลดพนักงานไปก่อนหน้านี้ โดยบริติช แอร์เวย์ส มีแผนหั่นพนักงาน 12,000 อัตรา และอีซีย์เจ็ต แถลงจะปรับลดพนักงาน 4,500 อัตรา หรือคิดเป็นราว 30% ขณะที่ลุฟต์ฮันซา กรุ๊ป ก็กำลังจะปรับลดพนักงานประจำถึง 22,000 อัตรา หรือคิดเป็นราว 16%