ส.ว.ประภาศรี จี้รบ.เร่งหามาตรการช่วยคนตกงาน หลังพิษโควิดทำตัวเลขว่างงานพุ่งเกือบ 10 ล้านราย หวั่นเงินกู้ 4 แสนล.แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แนะเร่งหางานรองรับนักศึกษาจบใหม่ พร้อมเสนอทุกจังหวัดบูรณาการแผนหน่วยงานรัฐ เอกชน ผ่อนคลายวิกฤต
นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภากรรมาธิการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง วุฒิสภา กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจและเห็นใจพนักงาน 961 คนที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ออกคำสั่งเลิกจ้างกะทันหัน โดยจะมีผลเดือนสิงหาคมนี้ แม้จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด19 ไม่มีใครอยากตกงานหรือถูกเลิกจ้าง เพราะแต่ละคนมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัว ภาพคนตกงานเป็นลมล้มทั้งยืน ร้องห่มร้องไห้สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่ง
นางประภาศรีกล่าวว่าปัญหา คนตกงานและว่างงานเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องมีโครงการและมาตรการรองรับที่ตรงเป้าและทันการณ์กับการบรรเทาความเดือดร้อน ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ธนาคารโลกประจำประเทศไทยได้รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ว่า วิกฤตโควิดจะมีคนไทยตกงานหรือสูญเสียรายได้ประมาณ 8.3 ล้านคน โดยกลุ่มเสี่ยงจะอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าความเสี่ยงจากโควิด อาจทำให้คนตกงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานภาค การท่องเที่ยว 2.5 ล้านคนแรงงานภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้าน 1.5 ล้านคนและแรงงานค่าบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว 4.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
" บัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ เมื่อรวมกับที่จบมาก่อนหน้านี้แต่ยังหางานทำไม่ได้ กลายเป็นคนว่างงาน ยอดสะสมคนว่างงานจะอยู่ทีประมาณ 1 ล้านคน คนเหล่านี้ต้องกินต้องใช้ ต้องใช้จ่ายต่างๆ ครอบครัวพ่อแม่ก็เดือดร้อน เพราะว่างงานเหมือนกัน ที่เป็นเกษตรกรก็ประสบภัยแล้ง ผลผลิตการเกษตร พืชไร่ขายไม่ได้ การส่งออกถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงมากๆ"
นางประภาศรีกล่าวว่า ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาทซึ่งสภาพัฒน์เป็นผู้เสนอหลังจากได้คัดกรองโครงการต่างๆที่บรรดาหน่วยงานเสนอมาซึ่งเกินวงเงินไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ต้องเป็นห่วง คือโครงการที่ได้รับอนุมัติจะสามารถรองรับการมีงานทำและมีรายได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ แก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วทันการณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ตนมีความเห็นว่า หน่วยงานรัฐ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดควรเป็นเจ้าภาพ ประสานงานให้หน่วยงานรัฐ ในจังหวัด และ ถ้าธุรกิจ ที่รวมตัวกันเป็นหอการค้า อุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ประชุม ร่วมกันวิเคราะห์และวางแผน เพื่อหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ผู้ประกอบการ และประชาชนมีรายได้ ติดขัดที่ระเบียบหรือข้อ ปฏิบัติใดก็ให้รีบแก้ไข เชื่อว่าจะทำให้ความเดือดร้อนของคนในจังหวัดนั้นได้ผ่อนคลายลงได้บ้างไม่มากก็น้อย