ทิพยประกันภัยย้ำรับทำกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยให้ครูในโครงการ ชพค. หวังช่วยให้พี่น้องครูที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูงได้รับการแบ่งเบาภาระในการหาหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข ประกอบกับกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันและทายาทก็ไม่ต้องแบกภาระหนี้ดังกล่าว ซึ่งบริษัทจะรับหน้าที่จ่ายภาระหนี้ที่คงเหลือทั้งหมดแทน ที่ผ่านมาก็จ่ายชำระหนี้แทนไปกว่า 16,409 ล้านบาท
นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการจัดเสวนาปัญหาหนี้ครูและพาดพิงถึงโครงการ ชพค. ในส่วนของบริษัททิพยประกันภัยที่เข้ารับทำกรมธรรม์ประกันภัยในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก ครู (ชพค.) ถึงความไม่โปร่งใส นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงว่าโครงการนี้ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และธนาคารออมสิน เมื่อปี 2552 ให้เสนอการประกันสินเชื่อให้แก่ข้าราชการครู ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ข้าราชการครูได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบที่ถูกต้อง และคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ในการนำไปชำระคืนหนี้นอกระบบ และเป็นเงื่อนไขที่ดีและได้ประโยชน์สูงสุดทุกฝ่าย
ทั้งนี้ หลักการเดิมของโครงการพัฒนาชีวิตครูให้มีการรวมหนี้ในและนอกระบบทั้งหมดของผู้กู้มาไว้ที่ธนาคารออมสิน โดยข้าราชการครูจะรวมกลุ่มย่อย 5-10 คนเพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันในกลุ่มจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือแทน ทำให้ข้าราชการครูหาคนค้ำประกันได้ยากเพราะไม่มีผู้ค้ำประกันคนใดอยากรับภาระ จึงมีการเรียกร้องให้มีการทำประกันสินเชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาโครงการ ชพค.ได้เพิ่มทางเลือกเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูงแต่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข โดยผู้กู้สามารถเลือกที่จะทำประกันหรือไม่ทำประกันก็ได้ ตามความสมัครใจ บริษัทจึงได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยแบบความคุ้มครองทุนประกันเต็มวงเงินกู้ แบบทุนประกันคงที่ เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกัน โดยบริษัทจะเป็นผู้ชำระคืนเงินกู้ที่เหลือแก่ธนาคารออมสินเต็มจำนวน เมื่อเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ซึ่งหากไม่ทำประกันก็มีทางเลือกคือหาคุณครูมาค้ำประกันแทนได้
ทั้งนี้ โดยทั่วไปสถาบันการเงินส่วนมากก็กำหนดเงื่อนไขการทำประกันให้เป็นทางเลือกของผู้กู้เงิน และจำนวนยอดรวมข้อมูลผู้กู้ ชพค.ทั้งหมดมีผู้กู้บางส่วนที่เลือกไม่ทำประกันแต่มีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น เพราะเขาเห็นว่าการทำประกันในโครงการนี้มีประโยชน์ต่อทายาทและผู้ค้ำประกัน
นายสมพรกล่าวต่อว่า บริษัทฯ ได้ผ่อนคลายข้อกำหนดให้สมาชิกเยอะมากโดยเงื่อนไขรับประกันให้แก่ข้าราชการครูทุกรายที่แจ้งความประสงค์ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 65 ปี เบี้ยประกันอัตราเดียวสำหรับทุกเพศ ทุกช่วงอายุที่ 620 บาท/ปี/ต่อทุนประกัน 100,000 บาท ซึ่งคำนวณจากจำนวนเงินกู้ โดยได้ให้ส่วนลด และต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 15% แถมกรมธรรม์ยังให้ความคุ้มครองภัยจากอุบัติเหตุ และสุขภาพ รวมทั้งการเจ็บป่วย ภาวะโรคร้ายแรง คือ ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะโคม่า (Coma) ภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (Respiratory Failure) ภาวะสมองตาย และระบบประสาทล้มเหลว (Brain Death and Neurologic Failure) ด้วย หากพิจารณาเปรียบเทียบแล้วถือว่าผู้กู้ได้รับประโยชน์คุ้มมาก
ส่วนประเด็นการจัดเก็บเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปีนั้น ดร.สมพรกล่าวว่า บริษัทได้รับการพิจารณา และอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว โดยผู้เอาประกันภัยได้รับส่วนลดสำหรับการทำประกันระยะยาวตั้งแต่แรก เบี้ยที่บริษัทฯ คิดเป็นราคาเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ในขณะที่หากผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยแบบรายปีเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มตามอายุที่เพิ่มขึ้นและไม่ได้รับส่วนลดระยะยาว หากผู้กู้ชำระหนี้ครบก่อนกำหนด 9 ปีสามารถขอคืนเบี้ยส่วนที่ชำระไว้เกินได้ หรือหากชำระหนี้ยังไม่หมดสามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้เช่นกัน แต่ผู้กู้ต้องมีอายุไม่เกิน 74 ปี สำหรับการต่ออายุประกันภัยในครั้งนี้เป็นการต่อสัญญาประกันภัย 1 ปี เบี้ยประกันภัยที่เสนอเป็นเบี้ยประกันภัยในอัตราเดิมแต่จะไม่มีส่วนลดเบี้ยระยะยาว การปรับเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มสำหรับผู้เอาประกันภัยที่มีอายุเกิน 65 ปี ปรับเพิ่มจากความเสี่ยงด้านอายุและอัตรามรณะที่เพิ่มขึ้นจากการรับประกันภัยเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา
กรณีที่มีผู้ร้องเรียนการทำประกันต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้มีการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงและรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่มีลักษณะของการกระทำความผิด
"ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกต คือ ผู้กู้ในโครงการนี้ไม่ได้รับกรมธรรม์ ” ในประเด็นนี้ ดร.สมพรชี้แจงว่า การประกันภัยในโครงการนี้เป็นการประกันภัยแบบกลุ่ม บมจ.ทิพยประกันภัยได้ออกกรมธรรม์ฉบับเต็มให้แก่ธนาคารออมสิน ในฐานะเจ้าหนี้ จำนวน 1 ฉบับ และสำนักงาน สกสค.ในฐานะผู้ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. อีก 1 ฉบับ โดยหลังจากที่ผู้กู้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัทจะนำส่งใบรับรองการประกันภัย พร้อมเอกสารสรุปสาระสำคัญของความคุ้มครองให้ผู้กู้ตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้"
นายสมพรกล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน บมจ.ทิพยประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารออมสิน และทายาทของผู้เสียชีวิตครบทุกราย โดยไม่เคยขอสำเนาใบรับรอง หรือกรมธรรม์จากทายาทผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีฐานข้อมูลรายชื่อผู้กู้ที่ทำประกันไว้ครบทุกรายอยู่แล้ว คิดเป็นเงินค่าสินไหมรวมทั้งสิ้น 16,409 ล้านบาท
“บริษัทฯ ขอยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ และสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ากรมธรรม์ในโครงการนี้เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการครู สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้สะดวกขึ้น รวมทั้งภาระไม่ต้องตกอยู่กับผู้ค้ำประกัน หรือทายาท หากกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตก่อนชำระหนี้คืนทั้งหมด รวมทั้งทายาท ยังได้รับประโยชน์หากมีเงินส่วนเกินจากการชำระหนี้ บริษัทก็จะจ่ายเงินส่วนเกินคืนให้ทายาทด้วย” นายสมพรกล่าว