ไม่ถึงยุบ!! เปิดมติ ครม.สั่งทบทวนแผนงานและการใช้จ่ายงบประมาณ "คุรุสภา - สกสค." สององค์การมหาชน สังกัดศธ. หลังผลประเมิน ก.พ.ร.ปี 61 มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรประจำปีเกินกรอบวงเงินร้อยละ 30 ของแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีที่ ครม.กำหนด เผยผลประเมิน "คุรุสภา" ร้อยละ 41.07 ส่วน สกสค. ประเมินได้ร้อยละ 56.34 ด้านภาพรวมผลการประเมินองค์การมหาชน-ผู้บริหาร 55 แห่ง พบ 46 แห่ง มีคุณภาพ ส่วน "ผอ. 3 แห่งระดับคาบเส้น - 2 แห่งต้องปรับปรุง"
วันนี้ ( 3 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลัง เมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้รายงานผลการประเมินองค์กรมหาชนและผู้อำนวยการองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
นอกจากรับทราบแล้ว ครม.ยังมอบหมายให้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ 28 พ.ค.2561 เรื่องขอทบทวนมติครม.เกี่ยวกับการบริหารองค์การมหาชน และขอจัดกลุ่มองค์การมหาชน
"เนื่องจากมีองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 2 แห่ง ที่มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เกินกรอบวงเงินร้อยละ 30 ของแผนการใช้จ่าย เงินประจำปีที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และมิได้เสนอ กพม. พิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 พ.ค.2561 ได้แก่ คุรุสภา (ผลประเมิน ร้อยละ 41.07) และ สกสค. (ร้อยละ 56.34)"
มติครม.ดังกล่าว ให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้มีกลไกในการทบทวนความเหมาะสมของสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนแต่ละแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงภารกิจ รายได้ และเงินทุนสะสมของแต่ละองค์การมหาชน
รวมทั้งยึดหลักการที่มิให้มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกินกว่าความจำเป็นและไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และให้นำเสนอคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนพิจารณาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การมหาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณา เช่น การปรับกรอบวงเงินรวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นไม่เกินร้อยละ 40 ของแผนการใช้จ่ายเงินประจำปี การยกเว้นการกำหนดให้องค์การมหาชนที่มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรต่อแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีเกินกว่าที่กำหนดไว้ต้องส่งแผนการปรับปรุงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นเวลา 3 ปี เสนอคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน พิจารณา การทบทวนหลักเกณฑ์และปรับปรุงการจัดกลุ่มองค์การทั้งหมดโดยรวมใหม่ตามสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และนโยบายปัจจุบัน
รวมถึงการกำหนดนโยบายหรือหลักเกณฑ์ในการให้ผู้บริหารลำดับที่ 1 และ 2 ขององค์การมหาชนเข้าดำรงตำแหน่งและหมดวาระการดำรงตำแหน่งพร้อมกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารองค์การต่อไป และการให้หน่วยงานจัดทำแผนอัตรากำลังและแผนการใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับภารกิจและบทบาทของหน่วยงาน เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ก่อนหน้านี้ ครม. เพิ่งมีมติแต่งตั้ง นายดิสกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. โดยปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน.) ส่วนเลขาธิการสำนักงานคุรุสภา อยู่ระหว่างรอ คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเรื่องการสรรหาตัวบุคคล
สำหรับภาพรวมผลการประเมินองค์การมหาชนและ ผอ.องค์การมหาชน จำนวน 55 แห่ง พบว่า 46 แห่งเป็น องค์กรคุณภาพ ระดับ 1 ผลดำเนินการสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 80 ขึ้นไป มี 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
องค์กรคุณภาพ ระดับ 2 น้อยกว่าร้อยละ 80 มี 22 แห่ง เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นต้น คุณภาพระดับ 3 บางตัวชี้วัดน้อยกว่าร้อยะ 80 จำนวน 22 แห่ง เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นต้น
ขณะที่อีก 8 แห่ง ผ่านแค่มาตรฐาน โดยไม่มีองค์ประกอบใดตํ่ากว่าเป้าหมายจากการประเมิน
สำหรับการประเมิน "ผอ.องค์การมหาชน" ผู้บริหาร 45 แห่ง มีผลการดำเนินการที่สูงกว่าเป้าหมาย เช่น สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (องค์การมหาชน) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น อยู่ในระดับผ่าน 3 แห่ง คือ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
"ส่วนผู้บริหารอีก 2 แห่ง คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง".