เมืองไทย 360 องศา
ผ่านพ้นไปแล้วแบบสะดวกโยธิน เรียบร้อยโรงเรียน “ลุงป้อม” สำหรับ “พิธีกรรม” ส่ง “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ อย่างเป็นทางการ ในการประชุมพรรค เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ที่บอกว่าเป็น “พิธีกรรม” เพราะทุกอย่างถูกจัดวางเอาไว้ล่วงหน้าสำหรับทุกตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารพรรค ที่แม้ว่าเป็นการเลือกตั้งกันในเบื้องต้นก่อนเพียงแค่ 4 ตำแหน่งก่อน แต่ที่ต้องโฟกัสก็คือ ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งก็อย่างที่รู้กันมานานนับสัปดาห์แล้ว ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้เสียงโหวตอย่างท่วมท้นแบบไม่มีคู่แข่ง กับตำแหน่งเลขาธิการพรรค ที่เป็น นายอนุชา นาคาศัย ขณะที่ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่เหลือ ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ให้ลดจำนวนเหลือ 29 คน แต่มีการคัดเลือกเอาไว้จำนวน 27 ก่อน
เรียกว่าทุกอย่างเป็นไปตามโผ นั่นคือ ไม่มีการเสนอชื่อแข่งขัน ไม่มีการอภิปราย ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ของคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคตามที่เคยมีกำหนดเอาไว้ในข้อบังคับพรรคเดิม แต่คราวนี้มีการอ้างว่า ได้มีการยกเลิกข้อบังคับนั้นแล้ว ทำให้ “ลุงป้อม” ไม่ต้องพูดอะไร ไม่ต้องมาปรากฏตัวในที่ประชุม เพียงแต่ว่าหลังได้รับเลือกแล้วก็ส่งคลิปมาขอบคุณ พร้อมยืนยันว่า จะนำพาพรรคพลังประชารัฐไปสู่ความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชน รวมทั้งให้ทุกคนมีความสามัคคี
เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อะไรประมาณนั้น
เอาเป็นว่าทุกอย่างราบรื่น เบ็ดเสร็จทุกอย่าง สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการก้าวเข้ามาคุมพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่า อนาคตข้างหน้าจะเป็นไปตามที่พูดเอาไว้ได้หรือไม่ เพราะนี่ถือว่าสำหรับเขาแล้วเป็นครั้งแรกที่เป็น “นักการเมืองเต็มตัว” แม้ว่าเมื่อพิจารณาตามเส้นทางแล้วอาจจะไม่เหมือนกับหัวหน้าพรรคอีกหลายพรรคในระบบการเมืองทั่วไป แต่จะเป็นไปในรูปแบบของพรรคการเมืองในสายของ “สีเขียว” หรือสายกองทัพ แม้ว่าจะเป็นนายทหารนอกราชการไปนานแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐในยุคใหม่ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในครั้งนี้ หลังจาก “เขี่ย” นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคคนก่อน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคออก ซึ่งอยู่ในทีมของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ถูกมองว่าเป็น “แทคโนแครต” ออกไปแบบยกแผง ชนิดที่เรียกว่า “ไม่ให้เหลือใคร” ไว้สักคน ซึ่งอดีตผู้บริหารพรรค หรือ “ผู้ก่อตั้งพรรค” ชุดเก่าก็ยอมรับสภาพแต่โดยดี
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ว่า ทั้งเส้นทางของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเส้นทางของบรรดาแกนนำพรรคชุดใหม่ รวมไปถึงเส้นทางของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ผู้บริหารพรรคชุดใหม่จะเติบโตแข็งแกร่งตามที่คาดหวังของพวกเขาหรือไม่ รวมไปถึงจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ตามที่หวังเอาไว้ในใจก่อน “ก่อการ” หรือไม่
**แน่นอนว่า นับจากวันนี้ วันที่ “บิ๊กป้อม” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ ก็ถือว่าเป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว ยังเป็นการ “เปิดหน้า” ออกมาอย่างชัดเจน แม้ว่าที่ผ่านมา จะรับรู้กันถึงบทบาทในฐานะ “พี่ใหญ่” และ “ผู้จัดการรัฐบาล” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่ผ่านมาที่รับรู้กันว่า เขาเป็นผู้เดินเกมต่อรอง รวมไปถึง “คอนเนกชัน” กลุ่มทุนต่างๆ มาตลอด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้ “บารมีของพี่ใหญ่” อยู่ในแบบ “คับบ้านคับเมือง” จริงๆ
เรียกว่าทุกองค์ประกอบของอำนาจในวันนี้ ถูกมองว่า มาจากการบริหารจัดการของ “พี่ใหญ่” คนนี้มาตลอด และที่ผ่านมา ก็ยังเข้าใจกันว่า เขานี่แหละคือ “เจ้าของพรรค” เป็นมือบริหารจัดการให้ “บิ๊กตู่” และเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนไป และมีความ “เสี่ยง” มากขึ้นกว่าเดิม จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมให้เบ็ดเสร็จอย่างที่เห็น เพื่อก้าวไปสู่เส้นทางการเมืองข้างหน้า ทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาว ในความหมายที่ต้องเร่ง “กระชับอำนาจ” เอาไว้ก่อน
ไม่ใช่ด้วยเหตุผลตามที่อ้างว่า “ไม่อยากเป็น” หรือ “เป็นแค่ขัดตาทัพ” แต่อย่างใด
ตรงกันข้าม หากพิจารณาใน “เกมแห่งอำนาจ” แล้วถือว่า งานนี้วางแผนมาอย่างดี และตั้งใจอยู่ “ยาว” ไปเลย
หากพิจารณาจากบรรยากาศทางการเมืองนับจากนี้ไปหลังจากสถานการณ์เรื่องโรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงไป ทุกอย่างก็จะประดังเข้ามาทั้งการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยคาดว่าเป้าหมายต่อไปที่กำลังจะมาถึง ก็คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” หลังจากก่อนหน้านี้ ประเด็นเคลื่อนไหวอื่นๆ ยัง “แป้ก” แม้กระทั่งพยายามปลุกผี “คณะราษฎร” 24 มิถุนายน ก็ยังปลุกไม่ขึ้น
ขณะเดียวกัน ที่เลี่ยงไม่ได้แม้จะยื้อกันแค่ไหนก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่น่าจะต้องมีขึ้นในราวปลายปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มปูพรมเคลื่อนไหวหนักมือขึ้นเรื่อยๆ และคราวนี้มีการเดาทางไว้ล่วงหน้าว่า “พี่ใหญ่” ต้องการนั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อคุมเกมเลือกตั้งท้องถิ่น นำร่องไปก่อน
เพราะต้องไม่ลืมว่าตามกฎหมายในปัจจุบันให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วน กกต.มีหน้าที่เพียงแค่ดูแลอำนวยความสะดวก หรือเพียงแค่แบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ด้วยเหตุผลแค่นี้ก็ย่อมมองทะลุแล้วว่า ตำแหน่ง มท.1 ทำไมถึงสำคัญกับการเลือกตั้งที่ว่านัก
นอกเหนือจากนี้ หากโฟกัสไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ในอำนาจทั้งในตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจนถึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มายาวนานกำลังก้าวเข้าสู่ปี 7 แล้ว และนี่ก็อาจเป็นดำรงตำแหน่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะวางมือไปในที่สุด
โดยอาจเป็นเพราะสถานการณ์จำเป็นบังคับ หรือเป็นยุทธศาสตร์ในการ “เปลี่ยนมือ” ผ่องถ่ายอำนาจ ก็อาจมีการยุบสภา ก่อนครบวาระ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้พอๆ กัน แต่หาก “บิ๊กตู่” วางมือ มันก็มีความเป็นไปได้ สำหรับ “พี่ใหญ่” ที่จะก้าวขึ้นมาแทนที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันหน้า เพราะหากสามารถรวบรวมเสียงจาก ส.ส.สนับสนุนได้มากพอ และวันนี้ก็เริ่มสเต็ปแรก ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลอยู่แล้ว
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ในบทเฉพาะกาล 5 ปี ยังมีเสียงของ ส.ว.อีก 250 คน ที่ “บิ๊กป้อม” มีส่วนสำคัญในการทำคลอดออกมาอยู่ด้วย และต่อให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบวาระ หรือยุบสภา ก่อนกำหนด แต่ตามกฎหมายนั้น ส.ว.ก็ยังอยู่ ในความหมายก็คือ ส.ว.ทั้ง 250 คนนี้ ยังมีโอกาสโหวตเลือกนายกฯได้อีกครั้ง คำถามก็คือ หากเป็นแบบนี้ถือว่าคนอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีโอกาส หรือ “ฝัน” จะเป็นนายกฯได้หรือไม่
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอนาคต และบรรยากาศตามความเป็นจริง และสถานการณ์
แต่นาทีนี้เมื่อก้าวมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ถือว่ามีสิทธิ์ฝัน ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่ ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจมองข้ามสังคมรอบข้าง และบรรดาทีมบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ในทาง “ยี้” ตั้งแต่บนลงล่างแบบนี้ แล้วหนทางมันก็น่าจะ “ยาก” แสนเข็ญเหลือเกิน !!