ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท ส.ส.ส่วนใหญ่สงวนคำแปรญัตติ อภิปรายตั้งข้อสังเกตการตัดโอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ในมาตรา 4 คาดว่าจะลงมติได้ภายในช่วงเย็นนี้
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จากส่วนราชการต่างๆ ไว้ในงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท เป็นรายมาตรา หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่ง ส.ส.ฝายค้านส่วนใหญ่อภิปรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตัดลดงบประมาณเพื่อโอนกลับเข้างบกลาง มีหลายโครงการที่ไม่ควรปรับลด ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ชี้ว่าอาจมีประเด็นที่ขัดต่อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดด้านกฎหมายว่าไม่สามารถปรับลดหรือเพิ่มการโอนงบประมาณได้ แต่ก็สมาชิกส่วนใหญ่ยังคงสงวนคำแปรญัตติ อภิปรายตั้งข้อสังเกตการตัดโอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ในมาตรา 4 โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ชี้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 140 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 24 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 35 และมาตรา 7 เนื่องจากโอนงบประมาณไปรวมอยู่ที่งบกลางซึ่งไม่ใช่หน่วยรับงบประมาณ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการปรับลดงบประมาณ โครงการเฉลิมพระเกียรติเทิดทูนสถาบันรวม 5 รายการ วงเงิน 75 ล้านบาท, การปรับลดโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ 64 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการช่วยชาวชนบทให้มีงานทำ และไม่ควรปรับลดงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับถูกปรับลดถึง 1,300 ล้านบาท
ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล กรรมาธิการจากพรรคภูมิใจไทย อภิปรายถึงเงื่อนไขโครงการที่ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในวันที่ 7 เม.ย. หรือลงนามไม่ทันวันที่ 3 พ.ค.ทั้งที่งบประมาณนี้ล่าช้า เพิ่งได้ใช้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้หลายโครงการที่สำคัญถูกโอนงบประมาณคืน และขอให้ใช้งบประมาณที่โอนเข้างบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
ส.ส.ส่วนใหญ่ยังคงอภิปรายแสดงความกังวลการตัดโอนงบประมาณในส่วนสำคัญจากส่วนราชการต่างๆ กระทบต่อแผนงานที่จำเป็นต่อประชาชน และคาดว่าจะสามารถลงมติได้ภายในช่วงเย็นนี้