xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษฎีกา” การันตีรัฐร่าง พ.ร.ก.ถูกต้องตาม รธน. กม.วินัยการเงินการคลังทุกขั้นตอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ กฤษฎีกา ออกโรงการันตีรัฐบาลร่าง พ.ร.ก.ถูกต้องตาม ม.77 ของ รธน.และ ม.53 ของ กม.วินัยการเงินการคลังทุกขั้นตอน

วันนี้ (28 พ.ค.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ชี้แจงกรณีข้อกฎหมายที่สมาชิกมีข้อสงสัยในการใช้คำว่า “อนุมัติ” แทนที่คำว่า “เห็นชอบ” ไว้ในร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่า ความจริงไม่มีความแตกต่าง เพียงแต่ถ้าเป็นยามปกติมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาเพื่อให้ ส.ส.พิจารณาเห็นชอบ แต่มีบางกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนจำเป็นต้องมีกฎหมายขึ้นมาในช่วงที่สภาไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม หรือถึงแม้อยู่ในระหว่างสมัยประชุม แต่มีความจำเป็นรีบด่วนต้องออกกฎหมายเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสภาไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศ เช่น กรณีภาษีอากรที่เป็นเรื่องลับและเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเทียบ และตามหลักการแบ่งแยกอำนาจของหลักสากล ว่า ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจตราพระราชกำหนดใช้บังคับเหมือนพระราชบัญญัติได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายพระราชกำหนดจะมีผลยืดยาว เพราะที่สุดก็ต้องนำมาสู่การพิจารณาอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติในสภา ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจโดยแท้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “อนุมัติ”

ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีการดำเนินการรับฟังเห็นประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรียนว่า เมื่อตัว พ.ร.ก.เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ คือ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และเราได้ทำภายใต้ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสมัฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 19 ที่ระบุว่า กฎหมายที่จำเป็นต้องตราขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะความมั่นคงเศรษฐกิจภัย หรือพิบัติ เมื่อรัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ถือว่าดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโดยชอบ อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.ก.ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดโดยประยุกต์การรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับมาตรา 19 โดยมีการประชุมรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงถือว่าดำเนินการครบถ้วนตามที่ ม.77 กำหนด

ส่วนที่ถามว่าทำไมต้องใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศราชกิจานุเบกษา และจะนับวันอย่างไรนั้น นายปกรณ์ ชี้แจงว่า การกำหนดการใช้วันบังคับของกฎหมายปกติเริ่มแต่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศใช้ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวในการรับรู้รับทราบกฎหมาย และปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง บางฉบับมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปแล้วแต่กรณี แต่กรณีนี้เป็นสถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบรุนแรงมาก มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและประชาชน การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องเร่งด่วน และไม่กระทบสิทธิของประชาชน แต่เป็นการช่วยเหลือ จึงกำหนดให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ส่วนที่ว่า พ.ร.ก.นี้สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลัง หรือไม่ ขอชี้แจงว่า การตรากฎหมายนี้ต้องเป็นไปตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่ารัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน โดยรวมถือเป็นการรองรับหลักกฎหมาย อีกทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดว่าการตรากฎหมายที่เป็นการเฉพาะและเรื่องจำเป็น หากดำเนินการเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน สามารถให้กู้เงินได้โดยรัฐบาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าระหว่างนั้นอยู่นอกสมัยประชุมสภา และเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงอาศัยอํานาจตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และยังระบุไว้ในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.ก.ด้วยว่าเป็นการกู้ตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมถึงวัตถุประสงค์ของการกู้ ระยะเวลาการกู้ แผนงานโครงการ วงเงินที่อนุญาตให้กู้ และหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดำเนินการใช้จ่ายเงินกู้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น