RIP อ.โต้ง! “จรัล” ชูผู้อุทิศตนช่วยเหลือเอ็นจีโอ กลุ่มชาวบ้าน องค์การประชาธิปไตย ดร.เอนก ชี้ให้เห็นความเป็น “นักคิดนอกกรอบ” เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย “สุรพงษ์” สะท้อน แม้เกิดจากตระกูลทหาร-ตำรวจใหญ่ แต่เลือกเป็น “คนธรรมดา”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Jaran Ditapichai ของ นายจรัล ดิษฐาภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความร่วมแสดงความอาลัยการเสียชีวิตของ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ อ.โต้ง เนื้อหาระบุว่า
“อาลัยโต้ง ไกรศักดิ์ พ้นทุกข์ คุยกันครั้งสุดท้าย ผมเล่าวิธีเอาความคิดจิตใจสู้กับศัตรูและโรคภัยไข้เจ็บ ก่อนไปเป็น ส.ส. ส.ว. และเป็นเหลือง ไกรศักดิ์ช่วยเหลือเอ็นจีโอ กลุ่มชาวบ้าน องค์การประชาธิปไตย ค่อนข้างมากกว่า 20 ปี ผมเคยแซวเขาว่า เป็น last communist
RIP โต้ง”
ขณะที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดี ม.รังสิต ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา โพสต์ข้อความแสดงความไว้อาลัยการเสียงชีวิตของ ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เช่นกันหัวข้อ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กับทฤษฎีว่าด้วยเศรษฐกิจการเมืองไทย”
โดยระบุว่า “หลายวงการจำ ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ไปคนละทาง ไม่เหมือนกัน ดร.ไกรศักดิ์ หรือ ที่ผมเรียกว่า “พี่โต้ง” นั้น มีหลายผลงาน หลายคุณูปการ แต่ขอบันทึกไว้ให้รู้กันว่า ในวัยหนุ่มใหญ่ เคยเป็นนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ
ในช่วงประมาณปี 2531-34 ในกระแสที่ถกเถียงกันว่าประเทศยังด้อยพัฒนาอยู่หรือไม่ มีโอกาสและศักยภาพที่จะไปเป็นทุนนิยมที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่จบการศึกษาจากมหาวิยาลัยลอนดอน (School of Oriental and Afrian Studies) ได้เขียนบทความชี้ว่า ทุนนิยมไทยนั้นไม่ด้อยพัฒนา คือ ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการครอบงำของทุนโลก “จักรพรรดินิยม สมัยใหม่” และทุนขุนนาง-ทุนราชการ เหตุที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะมีทุนแห่งชาติ ที่กำเนิด เติบโต เข้มแข็งขึ้นมาไม่หยุดยั้ง ได้สำเร็จ
ในช่วงนั้นเอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เขียนดุษฎีนิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล อเมริกา ก็ชี้ว่าเมืองไทยเรานั้นไม่ใช่ “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” อีกแล้ว เหตุเพราะทุนนิยมในไทยโดยรวมทุกประเภท รวมทั้งทุนชาตินั้น ได้พัฒนาจนมาเป็น “ด้านหลัก” ของเศรษฐกิจไทยแล้ว
ในช่วงเวลาเดียวกัน ผมเองก็เขียนดุษฎีนิพนธ์ ที่สหรัฐฯ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ว่า การเมืองไทย ณ บัดนั้นก็ไม่ใช่ “อมาตยธิปไตย” อย่างที่ เฟรด ริกกส์ ให้สูตรเอาไว้แล้ว เพราะเวลานั้นได้เกิดนักธุรกิจใหญ่ขึ้นมา เติบโตจนเป็นพลัง “นอกระบบราชการ” ได้แล้ว
บทความและดุษฎีนิพนธ์ ที่เขียนขึ้นมาทั้งสามชิ้นนี้ ดูเหมือนกับร่วมกันคิดร่วมกันเขียน แต่ที่จริง ต่างคน ต่างคิด ต่างเขียน ล้วนชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการเมืองไทยครั้งใหญ่ เมืองไทยได้เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยครั้งสำคัญทีเดียว
แม้งานสามชิ้นนี้จะออกมาสู่บรรณพิภพในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ของไกรศักดิ์ออกมาก่อนเพื่อน ผมจึงจดจำท่านในฐานะนักคิด “นอกกรอบ” ที่เก่งกาจได้แม่นยำ ในวันที่ท่านจากเราไปอย่างสงบแล้ว จึงขอร่วมระลึกและชื่นชมท่าน นึกถึงคุณูปการใหญ่หลวงที่ท่านมีต่อวงการรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวงการพัฒนา ที่ว่าด้วยเมืองไทย ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ขณะเดียวกัน ก็ขอส่งความรำลึกถึง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ “พี่เสก” ของผม ท่านอายุ 70 แล้ว ขอพรพระจงดลให้พี่ท่านสุขภาพแข็งแรง ผลิตงานดีๆ ในทุกๆ ด้าน ให้เราได้อ่าน ได้เรียนรู้กันต่อไป
ผมเอง เด็กที่สุด ในสามคน ก็อายุ 66 ปี เข้าไปแล้ว พยายามรักษาสุขภาพบ้างแล้ว
พี่โต้ง และพี่เสกนั้น ท่านใช้ทฤษฎี แนว Marxian ที่มีนวัตกรรมสูง ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของท่าน ส่วนผม แม้จะรู้แนวทางแบบ Marxist หรือ Marxian อยู่บ้าง แต่ก็ใช้ แนวรัฐศาสตร์แบบที่ไม่ใช่ Marxist หรือ Marxian ใช้แนวแบบ Fred Riggs นั่นแหละเป็นสำคัญ
น่าสังเกต ข้อสรุปเราทั้งสามคนนั้นไปด้วยกันได้ แทบจะตรงกัน คือในช่วงปลาย พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เราอยู่ในประเทศที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราก้าวออกมาจากความล้าหลังและยากจนได้มากทีเดียว และอีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (บิดา อ.ไกรศักดิ์) ก็เป็นนายกรัฐมนตรี และโลกก็เริ่มมองว่าไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Indusrializing Economy)
ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นคำนำหนังสือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ : ชีวิต มุมมอง ความคิด มีเนื้อหาดังนี้
“ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่าและความหมาย แต่คุณค่าและความหมายมีแตกต่างกัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่การตีความ ถึงที่สุดแล้ว คุณค่าและความหมายนั้นขึ้นอยู่กับการ “เลือก” ที่จะใช้ชีวิตอย่างไร เพื่ออะไร
72 ปีที่ผ่านมา ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ แน่นอนในคุณค่าที่เลือก และชัดเจนในความมุ่งหมายของชีวิต
คนไม่ธรรมดา
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มาจากตระกูลใหญ่และทรงอิทธิพลมากที่สุดตระกูลหนึ่งของประเทศไทย ทั้งจากสายพ่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และสายแม่ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ
เติบโตอย่างลูกชายนายทหารใหญ่จากระบบ “ทหาร” ภายในค่ายทหาร ขณะเดียวกัน ก็เติบโตจากระบบ “ตำรวจ” ในฐานะหลานรักของนายตำรวจใหญ่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เจ้าของวลีสำคัญ ภายใต้แสงอาทิตย์ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้
ได้รับการศึกษาอย่างดีจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงมีชื่อในประเทศและต่างประเทศ ทั้งอาร์เยนตินา สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส
สื่อสารได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมัน
มีความรู้และความสนใจหลากหลายทำให้กลายเป็น นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการเมือง นักสันติภาพ นักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน นักดนตรี ช่างภาพ จิตรกร
เป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการในประเทศ ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยตั้งทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก และกำกับทิศทางการต่างประเทศในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา
จากพื้นฐานที่พร้อมสมบูรณ์ สามารถเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างเต็มที่ แต่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เลือกที่จะเป็น
คนธรรมดา
ที่คบหากับ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักอนุรักษ์ นักสิทธิมนุษยชน ศิลปิน ชาวบ้าน ชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ
ปฏิเสธระบบ “ทหาร” และ “ตำรวจ” ซึ่งใช้อำนาจเป็นใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ “เผด็จการ” จากการรัฐประหารที่รวมศูนย์อำนาจ
ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ประชาชนคนเล็กคนน้อยตามระบบประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมไม่ใช่เพียงกลุ่มผลประโยชน์ ตามแนวคิดสังคมนิยม
ไม่เพิกเฉยและร่วมทุกข์ร้อนไปกับชีวิตของประชาชนผู้เดือดร้อนในสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษ ในหลายกรณีที่ครอบครัวในอดีตมีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งการเสียชีวิต การสูญหายแก่ประชาชน
ทั้งหมด ไม่ใช่การเป็น “ขบถ” แต่เป็น “สำนึก” และ “ความรับผิดชอบ” ที่มีในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์
ชีวิต มุมมองและความคิดของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จากการเรียบเรียงของกุลธิดา สามะพุทธิ ไม่เพียงแต่ให้เราเห็นความเป็นคนหรือมนุษย์ในคนหนึ่งคน แต่ยังเห็นการเป็นไปของสังคมทั้งไทยและโลกอย่างชัดเจน ตลอดช่วง 72 ปีที่ผ่านมาด้วย
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ยังไม่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชายขอบ คนเล็กคนน้อย 72 ปีของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บอกเราถึงสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมนุษยธรรมที่จะ “เลือก” ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและความหมาย”
แน่นอน, เชื่อว่า แง่มุมชีวิต และผลงานที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย ของ อ.โต้ง ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่นี่คือ ตัวอย่างบางตอนเท่านั้น ที่แค่เพียงตัวอย่าง ก็มากพอสำหรับชีวิตของคนคนหนึ่งที่ประดับไว้ในโลกาแล้ว
RIP อ.โต้ง!