บัญชีรายชื่อ ปชป. หนุนตั้ง กมธ.ศึกษา CPTPP หา 5 คำตอบ ทั้งความคุ้มค่าภาคเกษตร ความเสี่ยงสิทธิบัตรยา ผลประโยชน์ ทางเลือกทำทวิภาคี ความเข้าใจ ปชช. บี้รัฐแจงรายได้ 13,300 ล. เข้ากระเป๋าใคร แนะปรับวิธีคิดทำไมนายทุนรวย-เกษตรกรจนลง
วันนี้ (10 มิ.ย.) ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการเข้าร่วมในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP Comprehensive and Progressive agreement for Trans Pacific Partnership เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติโดยตรง และภาคสาธารณสุข คือ สุขภาพ โอกาสและราคาในการเข้าถึงยาดีๆ ของประชาชน อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงไม่ควรตัดสินใจเรื่องที่จะโดยลำพัง แต่ต้องรับฟังเสียงจากภาคประชาสังคมอย่างรอบด้าน เพื่อให้การกำหนดนโยบายเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงกับประเทศชาติ พร้อมกับเสนอ 5 ประเด็นที่ให้กรรมาธิการฯชุดนี้ร่วมกันหาคำตอบ คือ 1. ประเด็นในเรื่องการเกษตรสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP มีอะไรบ้าง คุ้มค่ากับสิ่งที่อาจต้องเสียไปหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ บนผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ การยอมรับอนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในแทบทุกกรณีกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจริงตามที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่ มีอะไรมาหักล้างข้อมูลนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์ไทยจะไม่กลายเป็นสินค้าของกลุ่มทุน ส่วนเกษตรกรถูกกีดกันเป็นเพียงผู้ซื้อถาวร ทำไมเกษตรกรไม่มีสิทธิเพาะพันธุ์พืช แต่ถูกจำกัดให้ทำได้เฉพาะการปลูกในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น ขณะที่เกษตรอุตสาหกรรมอาจเป็นอุปสรรคต่อการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองหรือเกษตรพอพอเพียง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรให้เหตุผลว่าผลผลิตสูง เมื่อเอามาปลูกใหม่ผลผลิตจะลด ร้อยละ 40 เราควรมีทางเลือกอื่นให้เกษตรกรหรือไม่ รวมถึงต้องตอบให้ได้ว่า การจำกัดสิทธิเกษตรกรในเรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์ พัฒนาพันธุ์ และขายเมล็ดพันธุ์จากการผลิตของตัวเอง จะเป็นการทำลายโอกาสในการสร้างรายได้ของเกษตรกรหรือไม่ และจะมีผลกระทบต่อเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นอย่างไร
ดร.พิมพ์รพี กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 เรื่องสิทธิบัตรยา มีความกังวลเรื่องการเชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน ซึ่งกฎหมายไทยสองเรื่องนี้แยกออกจากกัน คือ การขึ้นทะเบียนยาต้องขออนุญาต อย.ส่วนการจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากเชื่อมโยงเข้าด้วยกันจะเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา กระทบต่อการเข้าถึงยาก และส่งผลต่อราคายาให้สูงขึ้นหรือไม่ เหล่านี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เพราะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง 3. ประเด็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ต้องหาคำตอบให้ชัดเจนว่า รายได้ที่คิดว่าจะช่วยให้จีดีพีขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 13,300 ล้านบาทนั้น เงินเข้ากระเป๋าใคร กระจายไปอย่างเป็นธรรมหรือ หรือกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มนายทุน ส่วนเกษตรกรกลายเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มจากต้นทุนเมล็ดพันธุ์ที่แพงขึ้น ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในประเด็นการคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนให้ต่างชาติ เป็นอย่างไร มีแนวทางแก้ไขเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนไทยหรือไม่ อย่างไร 4. ประเด็นการค้าเสรี CPTPP มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม มีเพียง 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ขณะที่สหรัฐฯถอนตัวออกไปแล้ว และเหลือแค่ แคนาดา กับ เม็กซิโก ที่ถือเป็นตลาดใหม่ หากเราไปเจรจา ทวิภาคี FTA กับ แคนาดา เม็กซิโก จะดีกว่าหรือไม่ และประเด็นที่ 5 ความเข้าใจของประชาชน เนื่องจากเรื่องนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน มีความไม่ไว้วางใจกันระหว่างรัฐ ประชาสังคม และ ประชาชน ทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน ควรให้เวลาศึกษาอย่างละเอียด ทำข้อมูลให้ตรงกัน ก่อนทำความเห็น เพื่อตัดสินใจ ไม่ควรเร่งรัดหรือจำกัดระยะเวลา การตัดสินใจต้องทำบนผลประโยชน์ชาติและประชาชน ไม่ใช่นายทุนใหญ่
“ดิฉันอยากชวนให้ทุกท่านลองย้อนกลับไปดูอดีต เกษตรกรเคยมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตัวเอง เก็บเกี่ยวเสร็จส่วนหนึ่งเก็บไว้ปลูกต่อ พออยู่ พอกิน แต่หลังจากมีการเข้าไปอ้างเรื่องการพัฒนา สิ่งที่เคยเป็นของเกษตรกลับค่อยๆ แปรสภาพไปเป็นของกลุ่มทุนเกษตรที่รวยขึ้นทุกวัน ขณะที่เกษตรกรมีแต่จนลง ถึงเวลาที่เราต้องปรับวิธีคิดในการบริหารจัดการใหม่หรือยัง เป็นอีกเรื่องที่อยากทิ้งท้ายฝากให้ทุกคนคิด” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์สรุปปิดท้าย