xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ชงตั้ง กมธ.ศึกษาเข้าร่วม CPTPP หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย ฝ่ายค้านอัดขี่ช้างจับตั๊กแตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมสภา ส.ส.รุมเสนอตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบเข้าร่วม CPTPP ห่วงไทยได้ไม่คุ้มเสีย ต้องรอบคอบ ระวี หวั่นติดหล่มจนเสียหาย ฝ่ายค้าน อัด รบ.วาดฝันเป็นห่วงโซ่อุปทานโลก แลกกับผลประโยชน์น้อยนิด เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติด่วนจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ย้ำความจำเป็นของการเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ เนื่องจากกระทบหลายกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ มีสมาชิกเสนอญัตติทั้งสิ้นจำนวน 7 คน อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นต้น โดยทั้งหมดต่างเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อทำการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย ความพร้อมต่างๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ในเชิงลึกทุกมิติ โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและคนไทย

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า จากกรณีรัฐบาลเตรียมเข้าร่วม CPTPP จนเกิดกระแสคัดค้าน เพราะเกรงว่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่และจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง เปิดทางให้กิจการต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการในท้องถิ่นได้ จึงเสนอญัตติด่วนเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของแผ่นดิน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 49 และ 50

นายศุภชัย กล่าวว่า มีรายงานวิจัยบอกว่า การเข้าร่วม CPTPP จะได้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท แต่หากจะไม่เข้าร่วม GDP จะลดลงร้อยละ 0.25 รวมทั้งเสียโอกาสการขยายการค้าการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่กระบวนการผลิตในภูมิภาค แต่หากเข้าร่วมก็จะเพิ่มตลาดการส่งออกในบรรดาหมู่สมาชิกด้วยกัน ดึงดูดให้ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับกลุ่มประเทศ CPTPP หากไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสให้กับประเทศมาเลเซีย และ เวียดนาม แต่หากเข้าร่วม จะต้องปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐาน CPTPP และผูกพันกับสัญญา 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV1991 มีผลทำให้ผูกขาดพันธุ์พืช และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลชีพ รวมถึงมีผลกระทบเชิงลบอีกมากมาย ทั้งสิทธิบัตรยา เครื่องมือแพทย์ จึงควรมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ

นพ.ระวี กล่าวว่า ในขณะนี้ CPTPP มีสมาชิกทั้งสิน 11 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และ เวียดนาม ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบัน 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ชิลี บูรไน และ เปรู ซึ่งจะมีการประชุม CPTTP ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. 2563 นี้ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งในการส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมเจรจา

นพ.ระวี กล่าวว่า ตนขอนำประเด็นที่ภาครัฐและภาคประชาชนตีความแตกต่างกันจำนวน 8 ประเด็น ประกอบด้วย 1. สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ภาครัฐตีความว่าให้สิทธิแก่ประเทศสมาชิกบังคับ CL และไม่ห้ามใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุขและการเข้าถึงยา แต่ภาคประชาชนมองว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียค่าโง่ที่จะถูกฟ้องโดยรัฐภาคีหรือนักลงทุนต่างชาติหากรัฐบาลใช้มาตรา CL ยา

2. สิทธิบัตรและยาสามัญ ภาครัฐตีความว่า ถ้าไทยเข้า CPTPP แล้วไม่ต้องขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ไม่ผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา และไม่กระทบต่อการนำเข้าส่งออกยาสามัญ แต่ภาคประชาชน มีความเห็นว่า เกิดการผูกขาดข้อมูลความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดการกีดกันและชะลอการแข่งขันของยาชื่อสามัญ หากผ่านข้อตกลงนี้จะทำให้ประเทศไทยต้องใช้ยาสามัญแพงขึ้น

3. การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ภาครัฐตีความว่า เกษตรกรสามารถนำพืชใหม่ไปใช้ได้ ทั้งผลผลิตและผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องขออนญาตหากซื้ออย่างถูกต้องกฎหมายและพัฒนาต่อยอดพันธุ์ใหม่ได้ รวมไปถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนักปรุงพันธุ์พืชรายย่อย แต่ภาคประชาชน เห็นแย้งว่า สิทธิในการเก็บพันธุ์พืชใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐเจรจาขอผ่อนผัน ซึ่งอาจจะได้บางกรณี และเกิดการขยายการผูกขาดไปถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ด้วย

4. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทั้งนี้ ภาครัฐมองว่า ถ้าเข้าร่วม CPTPP จะสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการเปิดตลาดเพื่อปกป้องผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ และสามารถขอเวลาปรับตัวในการเปิดตลาด ซึ่งบางประเทศขอถึง 25 ปี แต่ภาคประชาชนให้ความเห็นว่าห้ามให้มีแต้มต่อในการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการไทยเหนือกว่าสมาชิก CPTPP และห้ามบังคับใช้สินค้าไทย และห้ามกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยี

5. การดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ GMOs ภาครัฐให้ความเห็นว่าประเทศไม่ต้องปรับแก้กฎหมายในประเทศเกี่ยวกับสินค้า GMOs และไม่ต้องเปิดตลาดสินค้า GMOs และการนำเข้าสินค้า GMOs เข้ามาในไทย ต้องถือตามกฎหมายไทย แต่ข้อมูลจากประชาชน ระบุว่า การนำเข้าสินค้า GMOs จะต้องถือตามกฎหมายของประเทศที่ส่งออกสินค้าะการนำเข้าสินค้า GMOs มายังประเทศไทย หากประเทศไทยไม่รับสินค้านั้น จะต้องประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร

6. การคุ้มครองการลงทุน ใน CPTPP จะต้องเกิดการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ก่อนประกอบกิจการ หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนที่ไม่ได้รับการอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐได้ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หากเป็นเช่นนี้อาจเกิดค่าโง่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เช่น ในช่วงโควิดที่ไทยต้องล็อกดาวน์เศรษฐกิจในไทยและเกิดผลกระทบต่อนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถฟ้องประเทศไทยได้

7. กรณีการควบคุมการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอาง หากไทยเข้าร่วม CPTPP การควบคุมการอนุญาตเครื่องสำอางจะเป็นระบบแจ้งโดยสมัครใจหรือบังคับ โดยองค์การอาหารและยาจะไม่มีอำนาจไปบังคับได้ แม้จะมีข้อดี คือ สามารถจดทะเบียนได้เร็ว แต่อาจจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค

8. เรื่องอื่นๆ เช่น ข้อกังวลเรื่องเครื่องมือแพทย์มือสอง รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 กำหนดให้รัฐบาลไทยมีสิทธิตั้งกรอบการเจรจาและส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับต่างประเทศไทย หากรัฐบาลเห็นว่าควรดำเนินการลงนามจึงค่อยส่งมาให้สภา ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในอดีต ที่กำหนดให้รัฐบาลจะต้องนำกรอบการเจรจามาส่งให้สภาให้ความเห็นชอบก่อน

“ด้วยเหตุนี้ หากสภาไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาก่อนจะเกิดผลเสีย เพราะประชาชน และ ส.ส.จะไม่มีส่วนร่วม เมื่อศึกษาเรื่องนี้จะเสนอความเห็นให้กับรัฐบาลดำเนินการต่อไป ที่สำคัญ จะสามารถร่วมกันหาทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการเข้าร่วม CPTPP แม้ภาครัฐมองว่าหากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ล่าช้าจะทำให้ประเทศตกรถ แต่ผมคิดว่าตกรถยังดีกว่าติดหล่มหรือไม่ จนเกิดผลเสียมากมาย ถึงวันนั้นใครจะรับผิดชอบ โลกไม่ได้เพียงต้องการการแข่งขันโดยเสรีเท่านั้น แต่ต้องการการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมด้วย” นพ.ระวี กล่าว

ด้าน น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จากสมาชิก 11 ประเทศ ที่จะร่วมกันใน CPTPP มี 9 ประเทศที่เราทำความตกลง FTA ด้วยแล้ว และจาก 7 ประเทศ เป็นสมาชิกข้อตกลงอาเซปร่วมกับไทยอยู่แล้ว ส่วนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ญี่ปุ่น ก็มีการตกลง FTA ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ประเทศละ 3 ฉบับอยู่แล้ว รวมถึงชิลีและเปรู ดังนั้นเหลือแค่ 2 ประเทศ ที่เรายังไม่มี FTA ด้วย คือ เม็กซิโก และ แคนาดา ดังนั้น ผลการศึกษาของหน่วยงานรัฐที่บอกว่าถ้าเข้าร่วม CPTPP แล้ว GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น 0.1 2% นั้น ไม่สามารถใช้อธิบายประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมในครั้งนี้ได้ อย่างแท้จริง เพราะเป็นการนำเอา 9 ประเทศ ที่ไทยมี FTA ด้วยอยู่แล้วมาคำนวณรวม หากจะดูให้ถูกต้องต้องดูว่าจะให้สิทธิพิเศษอะไรกับไทยที่เกินไปกว่า FTA ที่มีกับ 9 ประเทศแล้ว โดยต้องศึกษาส่วนต่างที่ไทยเคยได้ทั้งสินค้าบริการการลงทุนเพราะ ต้องชั่งน้ำหนักเทียบว่าสิ่งที่ไทยจะสูญเสียไปคุ้มกับสิ่งที่จะได้มาหรือไม่

ส่วนการอ้างว่าจะทำให้ไทยได้ตลาดเพิ่ม ในความจริงแม้ไม่มีข้อตกลงนี้ เราก็สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ได้อยู่แล้ว ส่วนที่ว่าได้สิทธิพิเศษ หรือภาษีสินค้าที่ลดลง ซึ่งถือว่าเป็นของดีในการเข้าร่วม แต่ผลการศึกษาได้เขียนไว้ชัดหรือไม่ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไทยจะได้เพิ่มนอกเหนือจาก FTA ทุกฉบับกับ 9 ประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ และที่สำคัญ หากไทยต้องเปิดตลาด หรือลดภาษีให้กับประเทศสมาชิกจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้จากการภาษีนำเข้าด้วย รวมถึงต้องเปิดการแข่งขันระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าที่นำเข้าด้วย ส่วนที่ว่าไทยจะสามารถเปิดตลาดใหม่กับเม็กซิโกและแคนาดานั้น พบว่าไทยมีมูลค่าการค้ากับสองประเทศนี้น้อยมาก และเรายังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าอีกด้วย หลายรายการ มีภาษีนำเข้าเป็น 0% อยู่แล้ว

ดังนั้น จึงไม่เห็นการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสิ่งที่ไทยต้องสูญเสียไปจากการเข้าร่วมดังกล่าว จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มหรือไม่จะไป แลกกับสิ่งที่อ่อนไหวต่อไทย เช่น ผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารที่เราต้องเข้าร่วมอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ หรือ ยูป๊อป 1991 ที่หลายภาคส่วนแสดงความกังวลอยู่ ผลที่ตามมาคือ การผูกขาดการขยายพันธุ์พืชในระยะยาว การครอบงำเสรีภาพทางวัฒนธรรมการเพาะปลูกการเกษตรของไทย ทั้งระบบ หากในอนาคต บ้านเมืองเกิดวิกฤตทางด้านอาหาร มีใครกล้ารับประกันหรือไม่ว่าการเข้า ยูป๊อป 1991 จะไม่กระทบต่อความมั่นคงอาหารของไทย และยังอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทยที่มีส่วนประกอบของพืชจดทะเบียนของไทย ที่อาจจะเจอประเด็นการตรวจสอบย้อนกลับ โดยรัฐบาลก็ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างว่าจะกระทบหรือไม่

“ข้ออ้างว่า ถ้าเข้าร่วมแล้วไทยจะได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ในทางทฤษฎีฟังดูดี แต่หากศึกษารายการรายการอาหาร ระเบียบกฎเกณฑ์ กรมศุลกากร การเยียวยาการค้า แหล่งวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตของไทย จะเห็นว่า ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกเลย นี่คือ การขี่ช้างจับตั๊กแตนของรัฐบาล และไม่ได้การันตีว่า เราจะสามารถเจาะตลาดเม็กซิโกและแคนาดาได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเม็กซิโกพึ่งทำข้อตกลงทางการค้าแถบอเมริกาเหนือฉบับใหม่กับอเมริกา และจะมีผลใช้บังคับในเดือนกรกฎาคม 63 นี้ โดยให้สิทธิพิเศษกลุ่มสมาชิกอเมริกาเหนือมากกว่า CPTPP มาก รัฐบาลมั่นใจหรือไม่ว่าเราจะฝ่าด่านข้อตกลงนี้ไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน” น.ส.จิราพร กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น